TNN online เงินบาทแข็ง! บอนยีลด์สหรัฐฯ ย่อตัวสู่ระดับ1.37%

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทแข็ง! บอนยีลด์สหรัฐฯ ย่อตัวสู่ระดับ1.37%

เงินบาทแข็ง! บอนยีลด์สหรัฐฯ ย่อตัวสู่ระดับ1.37%

ตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงหลังเฟดตรึงดอกเบี้ยสกัดความร้อนแรงบอนยีลด์สหรัฐฯอายุ 10 ปีย่อตัวลงสู่ระดับ1.37% ขณะที่ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 30.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  30.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 30.04 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  โดยตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดยังคงย้ำว่า เฟดจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อและยังไม่เร่งรีบที่จะปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันตลาดการเงินก็มีความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น หนุนโดยโอกาสที่วัคซีนของ Johnson & Johnson อาจจะผ่านการอนุมัติฉุกเฉินจาก FDA ซึ่งจะช่วยทำให้การแจกจ่ายวัคซีนสามารถทำได้เร็วขึ้น เนื่องจากวัคซีนดังกล่าว จะใช้เพียง 1 โดส เมื่อเทียบกับวัคซีนในปัจจุบันที่ใช้ 2 โดส และมีระยะรอคอยไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์


ภาพดังกล่าวส่งผลให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 กลับมาปิดบวก 1.14% นำโดยหุ้นในกลุ่มพลังงาน การเงิน ที่ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ท่ามกลางกระแสการปรับเปลี่ยนกลุ่มหุ้นนำตลาด จาก Tech & Growth เป็น Cyclical & Value เช่นเดียวกันกับในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ก็กลับมาปรับตัวขึ้นได้ 0.5%  


ทั้งนี้ในฝั่งตลาดบอนด์ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เริ่มจะชะลอการปรับตัวขึ้นในระยะสั้น หลังจากที่ ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุ 1.42% ก่อนจะย่อตัวลงสู่ระดับ 1.37% (เพิ่มขึ้น 3bps จากวันก่อนหน้า) สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนบางส่วนก็เริ่มกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวบ้าง หลังยีลด์ปรับตัวขึ้นไม่น้อยกว่า 50 bps จากต้นปี  ที่น่าสนใจก็คือ การเคลื่อนไหวของยีลด์ 10 ปี ได้ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยราคาทองคำย่อตัวลงแตะระดับ 1,785 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงที่ยีลด์ปรับตัวขึ้น และรีบาวด์กลับขึ้นมาสู่ระดับ 1,803 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ หลังจากที่ยีลด์เริ่มย่อตัวลง 


ส่วนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดิบและแร่โละหลัก อาทิ เหล็กและทองแดงยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นกว่า 2% สู่ระดับ 66.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาทองแดงก็ปรับตัวขึ้นกว่า 3% แตะระดับ 4.32 ดอลลาร์ต่อปอนด์ สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2011


ด้านเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก สะท้อนผ่านดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ที่ย่อตัวลงและเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 90.17 จุด  โดยเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 0.2% แตะระดับ 1.217 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกันกับ เงินนิวซีแลนด์ดอลลาร์ ที่แข็งค่าขึ้นกว่า 1.5% แตะระดับ 0.744 ดอลลาร์ต่อ NZD หลังจากรัฐบาลได้มีมติให้ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ต้องใช้ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในการพิจารณานโยบายการเงิน ทำให้ตลาดมองว่ามติดังกล่าวตัดโอกาสที่ธนาคารกลางนิวซีแลนด์จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น


สำหรับวันนี้ตลาดจะติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์มุมมองของเฟดโดยรวมว่า มีมุมมองที่สอดคล้องหรือแตกต่างกับความเห็นของประธานเฟดอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้ผู้เล่นในตลาดสามารถประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟดได้


นอกจากนี้ในส่วนรายข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะเริ่มจากในฝั่งเอเชีย โดยการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจเอเชียที่ได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์การระบาด COVID-19 ที่ดีขึ้น จะลดโอกาสที่ธนาคารกลางจะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยมองว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50%  ส่วนในฝั่งยุโรป สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น อาจช่วยหนุนให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -13จุด จาก -14.8จุด 


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบเดิมต่อ เนื่องจากยังขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ ที่จะทำให้ค่าเงินเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน ทั้งนี้อาจเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังความผันผวนในตลาดการเงินเริ่มลดลง หลังจากที่ประธานเฟดเน้นย้ำถึงการไม่เร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยต้องจับตาฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่อาจเริ่มทยอยกลับเข้าสู่ตลาดทุนไทยในระยะสั้น แต่เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้นำเข้า ก็รอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในช่วง 29.90-29.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.05บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


เงินบาทแข็ง! บอนยีลด์สหรัฐฯ ย่อตัวสู่ระดับ1.37%

ข่าวแนะนำ