TNN online จับตาปัจจัยเสี่ยงปี64 อัตราว่างงาน-หนี้ครัวเรือน ยังอยู่ในระดับสูง

TNN ONLINE

Wealth

จับตาปัจจัยเสี่ยงปี64 อัตราว่างงาน-หนี้ครัวเรือน ยังอยู่ในระดับสูง

จับตาปัจจัยเสี่ยงปี64 อัตราว่างงาน-หนี้ครัวเรือน ยังอยู่ในระดับสูง

สศช.เผยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง แม้ภาพรวมการจ้างปรับตัวดีขึ้น พร้อมต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงปี 64 อย่างใกล้ชิด

วันนี้ (23ก.พ.64) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาพรวมภาพรวมการจ้างงานตลอดทั้งปี 2563 แม้จะปรับตัวดีขึ้น โดยกำลังแรงงานรวมทั้งสิ้น 38.5 ล้านคน ขยายตัว 1.0% การจ้างงานขยายตัว 0.2% แต่ตลาดแรงงานยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นและชั่วโมงการทำงานลดลง โดยอัตราการว่างงายยังอยู่ในระดับสูงที่ 1.69% มีจำนวนผู้ว่างงานเฉลี่ย 6.51 แสนคน เพิ่มขึ้นจาก 0.98% เมื่อเทียบปี 2562 แบ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 4.13 แสนคน และผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 2.38 แสนคน เพิ่มขึ้น 126.2% และ 24.8% ตามลำดับ 


ขณะที่ชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยยังปรับลดลงและถือว่ายังต่ำกว่าภาวะปกติ โดยในส่วนของภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลง 5.7% ขณะที่การทำงานล่วงเวลา (มากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวนลดลง 17.1% ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ลดลงและอาจไม่พอต่อการดำรงชีพ สอดคล้องกับรายได้ครัวเรือนช่วงครึ่งปีหลัง 2563 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ประมาณ 23,615 บาท ลดลง 10.45% จากปี 2562 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 26,371 บาท  


ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือน พบว่าในช่วงไตรมาส 3/63 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัว  3.9% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 2/63 ที่อยู่ระดับ 3.8% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 86.6% ต่อจีดีพี โดยเป็นการเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังหดตัวและผลกระทบจากโควิด-19 


ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น ยอดคงค้าง NPLs สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 144,329 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.91% ของสินเชื่อรวม ลดลง 3.12% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมา และทำให้คุณภาพสินเชื่อโดยรวมปรับตัวดีขึ้น 


อย่างไรก็ตามยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และคาดว่าแนวโน้มการก่อหนี้ครัวเรือนในระยะถัดไป แม้ยังเป็นขาขึ้นแต่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง ขึ้นอยู่กับผลกระทบโควิด-19, รายได้และพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน


ทั้งนี้ในปี 2564 จับคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ กระจายวัคซีนให้กับประชาชน หากล่าช้าอาจส่งผลให้ภาคแรงงานได้รับผลกระทบที่รุนแรงและยาวนานมากขึ้น และทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง