TNN online จับตาถ้อยแถลงประธานเฟด ตรึงดอกเบี้ยหนุนดอลลาร์อ่อน

TNN ONLINE

Wealth

จับตาถ้อยแถลงประธานเฟด ตรึงดอกเบี้ยหนุนดอลลาร์อ่อน

จับตาถ้อยแถลงประธานเฟด ตรึงดอกเบี้ยหนุนดอลลาร์อ่อน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 29.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า จับตาถ้อยแถลงประธานเฟดส่งสัญญาณนโยการเงิน ระบุหากตรึงดอกเบี้ยหนุนดอลลาร์อ่อนกดบาทแข็ง

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ  29.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 29.98บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น สะท้อนผ่านข้อมูลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ดีเกินคาด


สำหรับสัปดาห์นี้ตลาดจะติดตามการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่สหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส และความคืบหน้าของการแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก ทั้งนี้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะมีดังนี้ในฝั่งสหรัฐฯ ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ทยอยฟื้นตัว กอปรกับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล จะช่วยให้ยอดใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Spending) ในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นราว 3% จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับยอดค้าปลีกที่ขยายตัวกว่า 5.3% ซึ่งการใช้จ่ายของครัวเรือนอาจปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อเนื่อง หากรัฐบาลสามารถผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ได้


โดยในส่วนสภาผู้แทนจะเริ่มพิจารณาลงคะแนนโหวตมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ในการแถลงต่อสภาคองเกรส เรามองว่า ประธานเฟด จะยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ซึ่งมุมมองดังกล่าวจะสอดคล้องกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่จะทยอยออกมาให้ความเห็นในสัปดาห์นี้


ฝั่งยุโรปสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น อาจช่วยให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในเยอรมนี สำรวจโดย IFO ในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 90.5จุด จาก 90.1จุด ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้  ภาพดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -13จุด จาก -14.8จุด ทั้งนี้ การแจกจ่ายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น จะช่วยให้รัฐบาลอังกฤษสามารถผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ได้ในระยะสั้น ส่วนในฝั่งยุโรป จะต้องจับตาการประชุมสุดยอดผู้นำ EU (EU Summit) ถึงแผนการฉีดวัคซีน การเปิดพรมแดนและการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ


ขณะที่ในฝั่งเอเชีย การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจเอเชียที่ได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์การระบาด COVID-19 ที่ดีขึ้น จะลดโอกาสที่ธนาคารกลางจะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยมองว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) จะเลือก “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ระดับ 0.25% เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียจะสะท้อนผ่าน การพลิกกลับมาขยายตัวราว 1%จากปีก่อนหน้า ของเศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสที่ 4 หนุนโดยการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown 


สำหรับประเทศไทยมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะช่วยหนุนให้ยอดการส่งออกสินค้าในเดือนมกราคมมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น 2%จากปีก่อนหน้า ขณะที่ความต้องการในประเทศยังคงซบเซาอยู่ทำให้ยอดการนำเข้าอาจหดตัวราว 8% ส่งผลให้โดยรวมดุลการค้าเดือนมกราคมอาจเกินดุลเล็กน้อยต่อ


ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทประเมินว่า ตลาดยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาทำให้ตลาดการเงินเคลื่อนไหวอย่างมีแนวโน้มที่ชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบตามเงินดอลลาร์ ซึ่งในช่วงนี้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มผันผวนในกรอบ (Sideways) โดยเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ หรือการแจกจ่ายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี  คาดว่าเงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่ามากกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจอื่นๆ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หนุนสินทรัพย์ที่ปรับตัวได้ดีตาม Reflation Trades  อาทิ สกุลเงิน EM เป็นต้น ขณะเดียวกันเงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ หากประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างส่งสัญญาณไม่รีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน อาทิ การอัดฉีดสภาพคล่องและการปรับดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ


ทั้งนี้แม้เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลง แต่มองว่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้นำเข้า ก็รอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือน เพราะจะเริ่มมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้ากลับเข้ามา นอกจากนี้ ต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติในระยะสั้น ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของเงินบาทได้บ้าง หากตลาดยังเดินหน้าปิดรับความเสี่ยง จนเกิดฟันด์โฟลว์ไหลออกสุทธิต่อเนื่อง มองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้ที่ระดับ 29.85-30.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ  


จับตาถ้อยแถลงประธานเฟด ตรึงดอกเบี้ยหนุนดอลลาร์อ่อน

ข่าวแนะนำ