TNN online จากตลาดหลักทรัพย์สู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ความเหมือน-ความต่าง โอกาส-อุปสรรคคืออะไร

TNN ONLINE

Wealth

จากตลาดหลักทรัพย์สู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ความเหมือน-ความต่าง โอกาส-อุปสรรคคืออะไร

จากตลาดหลักทรัพย์สู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ความเหมือน-ความต่าง โอกาส-อุปสรรคคืออะไร

จากตลาดหลักทรัพย์พัฒนาเป็นตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ความเหมือนความต่าง โอกาสและอุปสรรคคืออะไร โดย เอกราช ศรีศุภวิชากิจ Head of Risk Management & Research Specialist : Zipmex

      หากจะกล่าวถึงเรื่องของการลงทุน คนส่วนใหญ่หรือแม้กระทั่งนักลงทุนเองก็จะรู้จักและคุ้นเคยกับสินทรัพย์ลงทุนเพียงไม่กี่ประเภทเท่านั้น เช่น ตราสารทุนหรือหุ้น ตราสารหนี้ซึ่งมีทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน สาเหตุที่นักลงทุนรู้จักตราสาร 2 ชนิดนี้มากกว่าชนิดอื่น เพราะมันมีมาอย่างยาวนานรวมถึงมีการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวาง แต่ทุกคนคงทราบดีว่าเมื่อเวลาผ่านไป วิวัฒนาการก็มีมากขึ้น สินทรัพย์การลงทุนก็มีเพิ่มมากยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว มีทั้งซับซ้อนขึ้น หรือเปลี่ยนรูปแบบไปเลยก็มี ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในหุ้น เราจะได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่เจ้าของคนหนึ่งควรได้รับตามสิทธิที่ตนเองถือครองเอาไว้ โดยเราจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ใบหุ้น” ที่แสดงรายละเอียดของเราต่อสิทธิในหุ้นนั้น ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ใบหุ้นที่เป็นกระดาษเริ่มมีพัฒนาการเป็นใบหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ ตราสารสิทธิต่าง ๆ เช่น CFD , ELN , RELN ก็พัฒนาเป็นดิจิทัลมากขึ้น จนมาถึงปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าสินทรัพย์ดิจิทัล พูดถึง Cryptocurrency , Token การระดมทุนของบริษัทก็เริ่มเปลี่ยนไป จากการกู้ยืมธนาคาร การกู้ผ่านเอกชนหรือนักลงทุน การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่เรียกกันว่า IPO ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็น ICO , STO , IEO เป็นต้น ในวันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ปัจจุบัน จากหลักทรัพย์มาสู่สินทรัพย์ดิจิทัล ความเหมือนและความต่าง โอกาสและอุปสรรคคืออะไร ตามไปดูกันเลยครับ

จากตลาดหลักทรัพย์สู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ความเหมือน-ความต่าง โอกาส-อุปสรรคคืออะไร

New Normal ของรูปแบบการระดมทุน

       รูปแบบของการระดมทุนในสมัยก่อนมีความจำเป็นต้องผ่านตัวกลางมากมาย เช่น ที่ปรึกษาการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาทางบัญชี บริษัทหลักทรัพย์ Investment Bank และอื่น ๆ อีกเพียบ ซึ่งจะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฎิบัติตามเงื่อนไขกฏเกณฑ์ ก่อนที่จะสามารถทำการเสนอขายหุ้นหรือระดมทุนต่อนักลงทุนทั่วไป สาเหตุที่ต้องผ่านตัวกลางและตัวกรองมากมายขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในกิจการที่จะเข้ามาระดมทุน แต่ข้อเสียคือต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานพอสมควร ถ้าหากมีความต้องการเร่งด่วนในการระดมทุนเพื่อไปลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ สักหนึ่งอย่าง กว่าจะเตรียมตัวเสร็จเทคโนโลยีนั้นก็อาจมีคนอื่นตัดหน้าทำไปก่อนแล้ว อีกข้อเสียหนึ่งก็คือ ตัวกลางที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ จัดการ และมีส่วนร่วมในการระดมทุน ตัวกลางเหล่านี้ก็มีค่าใช้จ่ายในการทำงาน ทำให้บริษัทที่ต้องการระดมทุนมีต้นทุนพอสมควร ซึ่งในท้ายที่สุดก็เลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะถูกผลักภาระต้นทุนมายังนักลงทุนไม่มากก็น้อย

แต่เมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ เช่น Blockchain ทำให้รูปแบบการระดมทุนพัฒนาไปค่อนข้างมาก เราจะได้ยินคำว่า ICO , STO , IEO มาอย่างต่อเนื่องจากต่างประเทศซึ่งคือการระดมทุนรูปแบบใหม่ จากเดิมที่บริษัทจะออกเป็นหุ้นให้นักลงทุน นักลงทุนก็จะได้รับสิทธิต่าง ๆ เช่น ส่วนแบ่งจากกำไรในรูปเงินปันผล สิทธิในการกำหนดทิศทางบริษัทผ่านการโหวต และอื่น ๆ โดยเมื่อนักลงทุนได้หุ้นไปครอบครองแล้ว หากต้องการเปลี่ยนมือ หรือขายออก จะต้องนำมาขายที่ตลาดกลาง หรือตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง แต่การระดมทุนในยุคใหม่นี้ จะไม่ได้ออกมาในรูปแบบของหุ้น แต่จะออกมาในรูปแบบที่เรียกว่า Coin หรือ Token แล้วแต่กรณี โดยเมื่อนักลงทุนซื้อ Coin หรือ Token ไปก็จะได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ เช่น ส่วนแบ่งจากำไร สิทธิและเงื่อนไขในการใช้ “สินค้าหรือบริการ” จากบริษัทหรือโครงการนั้น ๆ ซึ่งหากต้องการซื้อขายเปลี่ยนมือ เราจะต้องทำการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือตลาดหลักทรัพย์ 2.0 นั่นเอง โดยมีความแตกต่างกันคร่าว ๆ ดังนี้

  • ต้นทุนการระดมทุนถูกกว่า เพราะไม่ต้องผ่านตัวกลางมากมาย แต่ยังสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain และ Smart Contract
  • ประหยัดเวลา ทำให้สามารถระดมทุนเพื่อไปลงทุนในโครงการที่มีโอกาสเติบโตได้อย่างทันท่วงที
  • เพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับ Startup เพราะกิจการที่จะระดมแบบ IPO ได้จะต้องมีการดำเนินกิจการมานาน มีผลประกอบการเป็นไปตามเกณฑ์ แต่การระดมทุนในยุคดิจิทัล จะเป็นกิจการเป็นใหม่หรือแม้กระทั่งมีแค่ไอเดียก็สามารถระดมทุนได้แล้ว
  • สามารถระดมทุนได้ทั่วโลก ทำให้บริษัทหรือโครงการนั้นมีโอกาสได้รับเงินทุนจำนวนพอเพียงเท่าที่ต้องการ จากนักลงทุนที่สนใจและมีความเชื่อที่ตรงกันจากทั่วโลก

จากตลาดหลักทรัพย์สู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ความเหมือน-ความต่าง โอกาส-อุปสรรคคืออะไร

New Normal ของรูปแบบการลงทุน

     ไม่เพียงแต่บริษัทเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงและการเข้ามาของโทคโนโลยีใหม่ ๆ เราในฐานะนักลงทุนก็ได้รับประโยชน์ในหลายประเด็นเช่นกัน แต่ก่อนจะลงในรายละเอียดในส่วนนั้น อยากจะขอกล่าวถึงประเด็นหนึ่งที่หลายคนยังกังวลและพูดถึงกันมาก คือ สินทรัพย์ดิจิทัล คือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เมื่อจับต้องไม่ได้คือไม่มีอยู่จริง เมื่อไม่มีอยู่จริงมูลค่าจึงควรเป็นศูนย์ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้นเลยครับ หากเราลองเปิดใจศึกษามันมากขึ้น เราจะเข้าใจว่ามันใกล้ตัวเรามาก ๆ เราเชื่อมั่นและครอบครองมันแทบทุกคนแต่เราไม่รู้ตัวเท่านั้นเองครับ ยกตัวอย่าง เช่น คะแนนบัตรเครดิต บัตรที่เราใช้จ่ายแทนเงินสดของบริษัทต่าง ๆ เช่น 7-11 , True บัตรรถไฟฟ้า Rabbit Line Pay และอื่น ๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ เราต้องนำเงินสดไปแลกมาเป็นเหรียญแล้วเก็บไว้ในรูปแบบดิจิทัล โดยสามารถใช้ซื้อสินค้า บริการรวมถึงได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่บริษัทนั้นกำหนดไว้ นั่นก็คือ Coin หรือToken รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งครับ ในมุมมองของการลงทุนผมมีความคิดเห็นส่วนตัวดังนี้ครับ สินทรัพย์ใดก็ตามที่เป็นสินทรัพย์ชนิดใหม่ จะมีโอกาสเติบโตหรือไม่อย่างไรในอนาคต ผมเลือกที่จะศึกษาเอาไว้ก่อน หากมีโอกาสในการลงทุนและเราพิจารณาถึงความเสี่ยงแล้วมองว่าคุ้มค่าที่จะ “Take Risk” ผมจะ “Take Opportunity”นิดหน่อยเสมอ เพราะพูดตรง ๆ ว่าเราไม่มีทางรู้อนาคตอย่างแท้จริงเลยว่า อะไรจะปัง อะไรจะแป้ก เมื่อมันปังเราก็เติมถ้ามันแป้กเราก็ถอย พาวนไปซะไกล กลับมาเข้าเรื่องเดิมกันดีกว่า และนี่คือข้อดีของการมีตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลหรือตลาดหลักทรัพย์ 2.0 ในมุมของนักลงทุนครับ

  • รองรับความต้องการซื้อขายเปลี่ยนมือตลอดเวลา เนื่องจากรูปแบบเดิมจะเปิดปิดเป็นเวลา ตามวันที่หน่วยงานกำหนด แต่ตลาดสินทรัพย์สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นสามารถซื้อขายได้ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน
  • Realtime Settlement เราสามารถซื้อ-ขาย โอนเงินเข้า-ออกได้ทันที มีการ Settlement Realtime ต่างจากการซื้อขายตราสารทางการเงินในสมัยก่อน ที่จะต้องรอการ Clearing เป็น T+1, T+2, T+3, T+4, T+5(ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์)
  • สิทธิในการลงทุนที่หลากหลาย จากเดิมที่ได้ส่วนแบ่งจากกำไรในรูปเงินปันผล , ดอกเบี้ย , ส่วนต่างราคา แต่สินทรัพย์ดิจิทัลยังมีในรูปของสิทธิจากสินค้าหรือบริการอีกด้วย
  • ซื้อขายเป็นหน่วยย่อยได้ นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะทราบดีว่าขั้นต่ำในการซื้อขายหุ้นโดยปกติคือ 100 หุ้น แต่ในความเป็นจริงเราสามารถซื้อขายเพียง “หนึ่ง” หุ้นก็ได้นะครับ แต่จะต้องซื้อขายในกระดาน Odd Lot เท่านั้นซึ่งก็ใช้เงินเพียงน้อยนิดก็เริ่มต้นลงทุนได้แล้ว แต่หากเราต้องการจองซื้อตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้ ปตท เราไม่สามารถขอจองเป็นหน่วยย่อย ๆ ได้ ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดด้านการลงทุน(จนกลายเป็นที่มาของกองทุนรวมในปัจจุบัน) แต่การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เราสามารถซื้อขายเป็นหน่วย ทศนิยมได้เลย ทำให้ใช้จำนวนเงินเริ่มต้นไม่มากก็ลงทุนได้
  • เพิ่มโอกาสการลงทุนจากบริษัทหรือโครงการดี ๆ จากทั่วโลก ไม่จำกัดแค่เพียงในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

จากตลาดหลักทรัพย์สู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ความเหมือน-ความต่าง โอกาส-อุปสรรคคืออะไร       

      ทั้งหมดคือเนื้อหาคร่าว ๆ ที่เราหยิบยกขึ้นมาเพื่อให้ทุกท่านมีความเข้าใจมากขึ้น ว่าความแตกต่างคืออะไร ข้อดีคืออะไร ส่วนข้อจำกัดนั้นก็มีเช่นกันครับ เพราะนักลงทุนจะต้องศึกษาทำความเข้าใจในธุรกิจของบริษัท ของโครงการ หรือแม้กระทั่งไอเดียต่าง ๆ ซึ่งมีมากมายเหลือเกินครับ บางโครงการก็ดีมีความเป็นไปได้ แต่บางโครงการก็เป็น Scam ตั้งใจมาโกยแล้วหายไป ฉะนั้นเราต้องพิจารณาทุกองค์ประกอบอย่างถี่ถ้วน รวมถึงทำความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนเป็นอย่างดีครับ โดยที่เราจะพยายามให้ความรู้นักลงทุนอย่างต่อเนื่องอย่างเต็มที่ครับ เพื่อให้ทุกคนสามารถสร้างโอกาสและปลอดภัยจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลครับ เข้ามาศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://zipmex.co.th/


ข่าวแนะนำ