TNN online เกาะติดประมูลบอนด์ 2 หมื่นล้านดันบาทแข็ง

TNN ONLINE

Wealth

เกาะติดประมูลบอนด์ 2 หมื่นล้านดันบาทแข็ง

เกาะติดประมูลบอนด์ 2 หมื่นล้านดันบาทแข็ง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 29.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า เกาะติดมาตรการกระุตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ-ประมูล บอนด์อายุ 10 ปีของไทยวงเงิน 2 หมื่นล้านดันบาทแข็ง

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  29.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทรงตัว จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 29.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยสัปดาห์นี้ ตลาดจะติดตามความคืบหน้าของการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่สหรัฐฯ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก ดังนี้


ในฝั่งสหรัฐฯ ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ทยอยฟื้นตัว และมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล อาทิ เงินช่วยเหลือ 600 ดอลลาร์สหรัฐ จะช่วยให้ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นราว 1% จากเดือนก่อนหน้า ดีขึ้นจากที่หดตัวเกือบ 1% ในเดือนธันวาคม ส่วนในฝั่งภาคการผลิต ตลาดมองว่า ยอดผลผลิตภาคอุตสาหกรมม (Industrial Production) จะขยายตัวต่อเนื่องราว 0.4% จากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกัน อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization Rate)ก็จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ หนุนโดยความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ตามภาวะการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ยังคงอยู่ในระดับเกินกว่า 50จุด สะท้อนถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการผลิต แม้ว่าอาจจะเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานไปบ้างจากการระบาดของ COVID-19 


ส่วนในฝั่งยุโรป  ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และการแจกจ่ายวัคซีนที่ยังล่าช้า อาจกดดันให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในเยอรมนี  สำรวจโดย ZEW ในเดือนกุมภาพันธ์ จะปรับตัวลดลงเหลือ 59จุด จาก 61.8จุด ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะลดลงเหลือ 54.4จุด และ 45จุด ตามลำดับ (ดัชนีมากกว่า 50 หมายถึงการขยายตัว)


ขณะที่ในฝั่งเอเชีย เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4 จะขยายตัว  9.5% จากไตรมาสก่อนหน้า (Q/Q, annualized) หนุนโดยภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนของภาคเอกชน และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ นอกจากนี้ เรามองว่า การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจเอเชียจะช่วยลดความจำเป็นที่ธนาคารกลางจะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยเรามองว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะเลือก “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7D Reverse Repo) ไว้ที่ระดับ 3.75% ทั้งนี้ BI อาจส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยเพิ่ม หากเศรษฐกิจซบเซาลงกว่าคาด 


สำหรับประเทศไทย เรามองว่า ในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจมีแนวโน้ม หดตัวราว 5.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนจากภาคเอกชนที่ยังคงซบเซาและฟื้นตัวช้าจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ขณะที่การส่งออกและการลงทุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ


ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่า ตลาดยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาทำให้ตลาดการเงินเคลื่อนไหวอย่างมีแนวโน้มที่ชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบตามเงินดอลลาร์ ซึ่งในช่วงนี้ เรามองว่า เงินดอลลาร์มีแนวโน้มผันผวนในกรอบต่อ (Sideways) โดยเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ หรือการแจกจ่ายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง 

หากเศรษฐกิจทั่วโลกก็ฟื้นตัวได้ดีและตลาดก็ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงอยู่ (Risk-On)


ทั้งนี้มองว่า เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก หรือ อ่อนค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้นำเข้า ก็รอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยเฉพาะในช่วงใกล้ 29.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ฝั่งผู้ส่งออก ก็รอจังหวะทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าเหนือระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาทิ ช่วง 30.10 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ  ทำให้เหลือเพียงปัจจัย ฟันด์โฟลว์ในฝั่งตลาดทุน ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของเงินบาทได้บ้าง


อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้จะมีการประมูลบอนด์ 10 ปี  วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ที่อาจมีความต้องการจากนักลงทุนต่างชาติพอสมควรและหนุนให้เงินบาทอาจมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหรือบวก-ลบ 15 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์ เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน  เช่น ตลาดปิดรับความเสี่ยง จนเกิดฟันด์โฟลว์ไหลออกสุทธิต่อเนื่อง พร้อมกับ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นตามความต้องการหลุมหลบภัย (Safe Haven) เป็นต้น  มองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้ที่ระดับ 29.80-30.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ


เกาะติดประมูลบอนด์ 2 หมื่นล้านดันบาทแข็ง

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง