TNN online กทม.ยอมขาดทุน! ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บ. เหมาะสม

TNN ONLINE

Wealth

กทม.ยอมขาดทุน! ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บ. เหมาะสม

กทม.ยอมขาดทุน! ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บ. เหมาะสม

ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เผย จากการคำนวณอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว สูงสุดตลอดสาย 158 บาท ได้ปรับลดเหลือ 104 บาท บรรเทาผลกระทบประชาชน ส่งผลให้กทม.ขาดทุนปีละ 3,000-4,000 ล้าน

วันนี้ (2 ก.พ.64) นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ทยอยเปิดให้บริการเดินรถมาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 61 และเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 63 โดยในช่วงทดลองให้บริการขณะที่ยังไม่ได้เดินรถเต็มรูปแบบ ไม่ได้เรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการเป็นเวลาเกือบ 3 ปี  อันเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับกรุงเทพมหานครมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงจำเป็นต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 64 เป็นต้นไป โดยผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ยังคงเสียค่าโดยสารในอัตราเดิมและไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกันระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก (หมอชิต-อ่อนนุช และสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ) กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า อ่อนนุช-แบริ่ง ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)  โดยประชาชนจะจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวต่อรอบ

ทั้งนี้ จากการคำนวณอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะรวมเป็นเงิน 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 กรุงเทพมหานครจึงปรับลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายลงมาอยู่ที่ 104 บาท ซึ่งจะส่งผลให้กรุงเทพมหานครจะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท โดยเมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 64 – 72 จะมีผลขาดทุนรวมประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน จากการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยได้ศึกษาแนวทางการดำเนินการต่างๆ ซึ่งเห็นว่า แนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนมากเกินไปและจะทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพต่อไป

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง