TNN online เบื้องลึก "กลุ่มซีพี" ทุ่มงบ 1.5 หมื่นล้าน ถือหุ้น "ซิโนแวค" ผลิตวัคซีนโควิด

TNN ONLINE

Wealth

เบื้องลึก "กลุ่มซีพี" ทุ่มงบ 1.5 หมื่นล้าน ถือหุ้น "ซิโนแวค" ผลิตวัคซีนโควิด

เบื้องลึก กลุ่มซีพี ทุ่มงบ 1.5 หมื่นล้าน ถือหุ้น ซิโนแวค ผลิตวัคซีนโควิด

กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ของกลุ่มซีพี ซิโน ไบโอฟาร์มาซูติคอล ทุ่มเงิน 1.5 หมื่นล้าน ลงทุน ซิโนแวค 15% หวังขยายการผลิตวัคซีนต้านโควิด 19 กว่า 600 ล้านโดสต่อปี เพิ่มโอกาสเข้าถึงวัคซีนของคนทั่วโลก

บนเส้นทางกว่า 20 ปี กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ของกลุ่มซีพี ซิโน ไบโอฟาร์มาซูติคอล ทุ่มเงิน 1.5 หมื่นล้าน ลงทุน ซิโนแวค 15% หวังขยายการผลิตวัคซีนต้านโควิด 19 กว่า 600 ล้านโดสต่อปี เพิ่มโอกาสเข้าถึงวัคซีนของคนทั่วโลก

ในช่วงกระแสโควิดระบาดในระลอกที่สอง ทำให้คนไทย กลับมาให้ความสนใจกับเรื่องของวัคซีน โดยกระแสที่มีการพูดถึงกันมาก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 หลังสำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า บริษัท ซิโน ไบโอฟาร์มาซูติคอล ธุรกิจเวชภัณฑ์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกง ของบริษัท ซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป ทุ่มเงิน 515 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.5 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้น 15% ของซิโนแวค ไลฟ์ไซแอน์ส บริษัทผลิตวัคซีนโควิด 19 ในประเทศจีน

ทำให้หลายคนสงสัยว่า กลุ่มซีพีมีธุรกิจเวชภัณฑ์ด้วยหรือ และ ทำไมถึงเลือกลงทุนในบริษัทซิโนแวคที่ผลิตวัคซีนโควิด โดยอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า กลุ่มซีพี เข้าสู่ธุรกิจเวชภัณฑ์ โดยบริษัท ซิโน ไบโอฟาร์มาซูติคอล ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2000 และครอบคลุมงานวิจัยด้านสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะศักยภาพที่โดดเด่นในด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์และยาเคมี สำหรับการรักษาโรคตับเนื้องอกโรคหัวใจและสมองโรคเกี่ยวกับกระดูกโรคระบบย่อยอาหารการติดเชื้อและโรคระบบทางเดินหายใจ

นอกจากนี้ กลุ่มซิโนฟาร์มานั้นเป็นลักษณะของบริษัทที่ลงทุนในบริษัทด้านวิจัยและพัฒนายาและเวชภัณฑ์อยู่แล้ว โดยมีบริษัทที่อยู่ในเครือมากกว่า 30 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทวิจัยและพัฒนา ผลิต และ จัดจำหน่ายยา มานานแล้ว

การระดมทุนเพิ่มในครั้งนี้ ซิโนแวค ระบุว่า จากเดิมสามารถผลิตวัคซีนได้ปีละ 300 ล้านโดส หากสร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนให้ได้ปีละ 600 ล้านโดส เพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนให้กับประชากรโลก โดยปัจจุบัน โคโรนาแวคเป็นวัคซีนทดลอง 1 ใน 3 ตัวของจีนที่ฉีดให้ประชาชนราว 1 ล้านคนตามโครงการเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐสั่งซื้อวัคซีนจากซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกำลังการผลิต ซึ่งหากดูจากยอดการผลิต 600 ล้านโดสต่อปี กระจายไปทั่วโลก กับยอดการสั่งซื้อ 2 ล้านโดสของประเทศไทย เทียบได้กับ  0.33% ของกำลังการผลิต คงไม่ใช่เหตุผลที่ซีพีไปลงทุนในครั้งนี

แต่รายงานจากซิโนแวคระบุว่า ปัจจัยหลัก เป็นการขยายการเข้าถึงวัคซีนของประชากรโลก ปัจจุบันซิโนแวคทำสัญญาจัดหาวัคซีนโคโรนาแวคให้กับหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ตุรกี บราซิล ชิลี และกำลังเจรจากับฟิลิปปินส์ ซึ่งหากพูดถึงกำลังการผลิต 600 ล้านโดสต่อปี จะเท่ากับครอบคลุมประชากรประมาณ 300 ล้านคน หรือเท่ากับประมาณ 3.94% ของประชากรโลกเท่านั้น

ดังนั้นจึงเป็นภารกิจของทุกประเทศในโลก ในการขยายการผลิต การสร้างโอกาสในการเข้าถึงยาและวัคซีน และถือเป็นเรื่องของสุขภาพและความมั่นในชีวิตอีกด้วย เพื่อตอบเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติอีกด้วยในด้านสุขภาพ (Health & Well Being)

โดยองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยจะจัดซื้อวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทเภสัชภัณฑ์ของจีน จำนวน 2 ล้านโดส

ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขของไทยคาดการณ์ว่า วัคซีนของบริษัท ซิโนแวค ชุดแรก 200,000 โดส จะขนส่งมาถึงไทยช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และชุดที่สอง 800,000 โดส จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนมีนาคม และอีก 1 ล้านโดส จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย

เมื่อเทียบกับการสั่งจองซื้อ วัคซีน จำนวน 61 ล้านโดสจากบริษัท Astra Zeneca คาดว่า ล้อตแรกจะนำเข้ามาได้เพื่อให้คนไทยได้ใช้ประมาณ กลางปี 2564 จำนวน 26 ล้านโดสไปแล้ว และวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ทางนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติเพิ่มเติมจัดหาซื้อวัคซีนอีก 35 ล้านโดส เพื่อคุ้มครองคนไทยได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด เท่ากับว่ารวมแล้วเราจะมีวัคซีนจากประเทศอังกฤษ 61 ล้านโดสให้ประชาชน และมีวัคซีนที่จองซื้อจาก ซิโนแวคจากประเทศจีนเพียงแค่ 2 ล้านโดสเท่านั้น

ซึ่งสาเหตุที่เลือกสองรายนี้เพราะวัคซีน สามารถเก็บได้ในตู้เย็นมาตรฐานที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างต่ำ 6 เดือนนี้เอง ที่จะทำให้ง่ายต่อการขนส่งและกระจายวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ การซื้อวัคซีน ประเทศไทยต้องไปต่อคิว เพราะทั่วโลกขาดแคลน ดังนั้น การจองซื้อล่วงหน้า ถือเป็นเรื่องของความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน

บนเส้นทางธุรกิจกลุ่มเวชภัณฑ์ของกลุ่มซีพีกว่า 20 ปี อาจไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างในประเทศไทย เพราะเมื่อพูดถึงกลุ่มซีพี อาจทำให้นึกนึกกลุ่มธุรกิจเกษตร หรือไม่ก็เซเว่น อีเลฟเว่น แต่ข้อเท็จจริงเครือซีพีถือว่าเป็นบริษัทไทยที่ก้าวสู่การเป็นบริษัทระดับโลกไปแล้ว โดยรายได้มากกว่าครึ่งก็มาจากตลาดในต่างประเทศ

ที่ผ่านซีพี กรุ๊ป มีการลงทุนใน 22 ประเทศทั่วโลก บริษัทในเครือทำธุรกิจครอบคลุมหลากหลายสาขา ครอบคลุม 8 กลุ่มธุรกิจ แต่ที่คนไทยคุ้นเคยได้แก่ 3 ธุรกิจเสาหลัก ได้แก่  ซีพี ฟู้ดส์ ดูแลธุรกิจด้านอาหารครอบคลุมธุรกิจเกษตร ธุรกิจฟาร์มเลี้ยง ไปจนถึงอาหารแปรรูปพร้อมบริโภค  ซีพีออลล์  ดูแลธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-11 และทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสองของไทย

แต่นอกจากนี้แล้ว กลุ่มซีพียังมีธุรกิจอื่นในต่างประเทศอีกมากมาย อาทิ กลุ่มเวชภัณฑ์ ที่ครอบคลุม กลุ่มธุรกิจของซิโนไบโอฟาร์มานั้น ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2000 หรือประมาณ 22 ปีมาแล้ว และที่ติดอันดับท็อป 50 บริษัทในธุรกิจยาของโลก ที่จัดอันดับโดยนิตยสาร Pharm Exe ของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2019  นอกจากนี้ยังได้รับการจัดอันดับโดยฟอร์ป Forbes ให้เป็น สุดยอด 100 บริษัท ในเอเซียอีกด้วย

ดังนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเข้าสู่ธุรกิจเวชภัณฑ์ของกลุ่มซีพี ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 22 ปี โดยทำการผลิต และทำการตลาดยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและสมองในประเทศจีน 

ทั้งนี้ บริษัทชิโนไบโอฟาร์มา ทำรายได้ในปี 2019 สูงถึง 4200 ล้านหยวน หรือ 112,000 ล้านบาท และ การลงทุนในบริษัทชิโนแวค ถือเป็นการลงทุนปกติของกลุ่มซิโน ไบโอฟาร์มาเอง ที่ดำเนินการเป็นประจำในอุตสาหกรรมยา ที่ต้องเน้นการลงทุนในบริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีทั่วโลก

และถือว่า การลงทุน 515 ล้านดอลลาร์ ในครั้งนี้ เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้สองเท่า โดยการลงทุนครั้งนี้ทำให้ซิโน ไบโอฟาร์มาซูติคอลมีหุ้นส่วนเพียง 15.03% ในซิโนแวคไลฟ์ไซน์ส และดีลนี้เกิดขึ้นหลังจากซิโนแวคขยายข้อตกลงจัดหาวัคซีนโคโรนาแวค และทดลองกับหลายประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลการทดลองทางคลินิกเฟส 2 เป็นไปด้วยดี ทำให้การลงทุนเป็นไปตามเวลาที่เหมาะสม

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง