TNN online จับตาเศรษฐกิจปี 2564 โลกฟื้น...ไทยฟื้น?

TNN ONLINE

Wealth

จับตาเศรษฐกิจปี 2564 โลกฟื้น...ไทยฟื้น?

จับตาเศรษฐกิจปี 2564  โลกฟื้น...ไทยฟื้น?

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ไทยจะฟื้นตัวตามหรือไม่?

ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทย หรือ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อการส่งออกของไทย  แต่การส่งออกจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน และมีปัจจัยเสี่ยงอะไรที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตามเศรษฐกิจโลก 


หากดูการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ  ตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการปรับมุมมองเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง โดยไอเอ็มเอฟคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 4.4%  และขยายตัว 5.2%  ในปีหน้า 


ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นำโดยสหรัฐ และจีน  โดยไอเอ็มเอฟ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้จะหดตัว 4.3 % และเติบโต 5.2% ในปีหน้า  เศรษฐกิจยูโรโซนปีนี้หดตัว 8.3% และปีหน้าขยายตัว 5.2%  ญี่ปุ่นปีนี้จีดีพีหดตัว 5.3% และปีหน้าขยายตัว 2.3% กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ปีนี้หดตัว 3.3% และปีหน้าขยายตัว 6.%  ส่วนจีนปีนี้ขยายตัว 1.9% และปีหน้า 8.2% 


ล่าสุดเมื่อวานนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี เพิ่งประกาศปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้หดตัว 4.2% และกลับเติบโต 4.2% ในปีหน้าเนื่องจากมีความคืบหน้าเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 ทำให้ความเชื่อมั่นมีเพิ่มขึ้น 


สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ  ที่คาดว่าจะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจยังมีสัญญาณบวก จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่และการกระจายวัคซีนจะช่วยเสริมการฟื้นตัวต่อเนื่อง


โดยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯทยอยปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งดัชนีภาคการผลิตที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 68 เดือน รวมถึงดัชนีภาคบริการที่เพิ่มสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 ปี ขณะเดียวกันยังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนโดยคาดว่าจะเริ่มฉีดแก่ประชาชนกลุ่มแรกประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคมและอาจกระจายวัคซีนให้กับประชาชนถึง 70% ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 


นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังส่งสัญญาณยอมให้ถ่ายโอนอำนาจแก่นายไบเดน และหากนายไบเดนสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้าจะช่วยให้การฟื้นตัวมีความต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจเผชิญปัจจัยกดดันการฟื้นตัวทั้งจำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 พฤศจิกายนเพิ่มต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สองสู่ระดับ 7.78 แสนราย สะท้อนความเปราะบางของตลาด แรงงาน  


สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงมีความรุนแรงมากขึ้นโดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งเกิน 2 แสนรายต่อวัน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงถึง 13 ล้านราย และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนตุลาคมมีสัญญาณชะลอตัวลงและยังคงห่างจากกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% ส่วน Dot plot ของเฟดบ่งชี้ว่าในช่วงปี 2564 นั้น อัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมาย คาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อยไปจนถึงสิ้นปี 2566


ขณะที่ เศรษฐกิจจีนยังทยอยปรับตัวดีขึ้น ภาครัฐส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง กำไรของบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สาขาอุตสาหกรรมที่มีผลกำไรขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องจักรกล การแปรรูปสินค้าเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และยานยนต์ ขณะที่การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำมันยังหดตัวตามอุปสงค์ที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด


เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นผลจากการดำเนินนโยบายเพื่อจัดการกับวิกฤตที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนระบุว่าจีนจะยังคงใช้นโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนต่อไปในปีหน้า ขณะเดียวกันจำเป็นต้องกำกับดูแลบางภาคส่วนที่เริ่มมีสัญญาณความเสี่ยง ซึ่งล่าสุดรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตร แต่ขนาดของปัญหาดังกล่าวยังคงเล็กมากคิดเป็นเพียง 0.46% ของมูลค่าพันธบัตรรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 


 จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ผ่านช่องทางการส่งออก โดย วิจัยกรุงศรี คาดการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปีหน้า  โดยมูลค่าส่งออกเดือนตุลาคมแม้หดตัว 6.7% YoY ติดลบมากขึ้นจากติดลบ 3.9% ในเดือนกันยายน แต่การส่งออกสินค้าสำคัญของไทยใน 10 อันดับแรกมีสัญญาณเชิงบวกจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19  นำโดยผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น


ด้านตลาดส่งออกพบว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เติบโตสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และมีการฟื้นตัวกลับมาขยายตัวได้ในบางตลาด อาทิ เอเชียใต้ และออสเตรเลีย  ขณะที่ตลาดจีนกลับมาติดลบแต่อาจเป็นผลจากช่วงสัปดาห์หยุดยาวของจีนที่นานกว่าปีก่อน (Golden week) และตลาด CLMV ที่ติดลบมากขึ้นจากผลกระทบของการกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19


วิจัยกรุงศรีประเมินภาคส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวและจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในยามที่ไทยกำลังเผชิญปัจจัยลบภายในประเทศ ซึ่งล่าสุดได้ปรับคาดการณ์มูลค่าการส่งออกในปี 2563 (บนฐานตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์) คาดว่าจะหดตัว -7.0% จากเดิมคาด -10.5% และมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ 4.0% ในปี 2564 เนื่องจาก 1. แรงส่งเชิงบวกจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าสำคัญใน 10 อันดับแรกและการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง 

 

2.ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และนโยบายการทำงานจากที่บ้าน 

 

3. แนวโน้มการฟื้นตัวตามวัฏจักรของภาคการผลิตทั่วโลก ซึ่งนำโดยการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศแกนหลักท่ามกลางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (WTO) คาดปริมาณการค้าโลกปี 2564 จะขยายตัวที่ 7.2% จาก -9.2% ในปี 2563 

 

 4. การขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน (ล่าสุดการทำข้อตกลง RCEP) และการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization) จะเพิ่มโอกาสให้แก่ภาคการผลิตและการส่งออกของไทยในระยะถัดไป

 

สำหรับภาคการท่องเที่ยว แม้เดือนตุลาคมเริ่มมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย แต่คาดว่ายังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าในปีหน้า หลังจากทางการไทยมีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้โครงการวีซ่านักท่องเที่ยวพิเศษ (STV) ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนตุลาคมขยับขึ้นจากที่เคยเป็นศูนย์ติดต่อกันนาน 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 1,201 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน 471 คน  อาเซียน 252  คน และยุโรป 116 คน  

 

ทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 6.7 ล้านคน  ลดลง 79.4% YoY

แม้จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามาไทยบ้าง แต่ยังนับว่ามีจำนวนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยราว 3.4 ล้านคนต่อเดือนในไตรมาส 4/2562 

 

วิจัยกรุงศรีจึงยังคงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน  และในปี 2564 ภาคท่องเที่ยวจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือเพียง 4 ล้านคน เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาด การเปิดประเทศด้วยการจับคู่เดินทางที่มีความล่าช้าอยู่ และมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่ยาวนานกว่าที่คาดท่ามกลางการระบาดรอบ 2 และรอบ 3 ของประเทศสำคัญทั่วโลก แม้มีข่าวดีเกี่ยวกับความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน แต่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่เกิดขึ้นจนถึงไตรมาส 4/2564 ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าคนทั่วโลกจะได้รับวัคซีนอย่างแพร่หลาย

 

อย่างไรก็ดี  แม้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตาม แต่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยรอบนี้ยังกระจุกอยู่ที่กลุ่มผู้ส่งออก ยังไม่กระจายในวงกว้าง และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจจะไม่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ 


สำหรับการประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยหลายแห่งล่าสุดได้ทยอยปรับจีดีพีไทยในปีนี้และปีหน้าในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากเห็นตัวเลขจดีพีไตรมาส3/2563 ดีเกินคาดหดตัวเพียง -6.4% จาก 12.1% ในไตรมาส2/2563  ประกอบการทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณค่อยๆฟื้นตัว 

 

ดังนั้นหากเศรษฐกิจโลกฟื้น เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ฟื้นหากไม่ปรับตัว  

 


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline


 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง