TNN online เปิดพฤติกรรมฝากเงิน 3 ช่วงวัย พบช่วงโควิด-19 คนฝากเงินมากขึ้น

TNN ONLINE

Wealth

เปิดพฤติกรรมฝากเงิน 3 ช่วงวัย พบช่วงโควิด-19 คนฝากเงินมากขึ้น

เปิดพฤติกรรมฝากเงิน 3 ช่วงวัย พบช่วงโควิด-19 คนฝากเงินมากขึ้น

สถาบันคุ้มครองเงินฝากเปิดพฤติกรรมฝากเงิน 3 ช่วงวัย กลุ่มวัยเริ่มทำงาน วัยทำงาน และวัยเกษียณ พบช่วงโควิด-19 คนฝากเงินมากขึ้น

วันนี้ (30ก.ย.63) นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ฝากเงิน 80.82 ล้านราย และมีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 14.67 ล้านล้านบาท โดยพบว่าผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีสูงสุดส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่ง 50% ของผู้ฝากภูมิภาคนี้มียอดเงินฝากรวมไม่เกิน 10,442 บาทต่อราย ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเงินฝากน้อยที่สุด โดยครึ่งหนึ่งของผู้ฝากในภูมิภาคนี้ มียอดเงินฝากไม่เกิน 1,628 บาทต่อราย 

ทั้งนี้ ในช่วงโควิด -19  เงินฝากเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา เพราะนักลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยงและหันมาถือครองเงินสด แม้โควิด-19 จะดีขึ้น แต่ยังคงพักเงินไว้ในบัญชีเงินฝาก พบว่ามีจำนวนผู้ฝากเงิน ภายใต้ความคุ้มครองของ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพิ่มขึ้นร้อยละ1.38 หรือราว 1.1 ล้านราย และมีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.12 หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2562

สคฝ.แบ่งผู้ฝากบุคคลธรรมดาเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มวัยเริ่มทำงาน อายุ 23 –35 ปี เริ่มมีรายได้ และเริ่มฝากเงิน พบว่าครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ มียอดเงินฝากไม่เกิน 3,300 บาทต่อราย จากยอดเงินฝากเฉลี่ย 65,000 บาทต่อราย ซึ่งส่วนใหญ่เปิดบัญชีมากกว่า 1 บัญชี กับสถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่ง

ส่วนวัยทำงาน อายุ 36 – 59 ปี มีรายได้สูงขึ้น และมีเป้าหมายออมเงินชัดเจน เริ่มลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นนอกจากการฝากเงิน โดยคนกลุ่มนี้มีจำนวนถึง 46% ของผู้ฝากทั้งหมด และมีเงินฝากรวมถึง 51% ของเงินฝากในระบบ แต่ครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้มียอดเงินฝากไม่เกิน 4,900 บาทต่อราย จากยอดเงินฝากเฉลี่ย 214,000 บาทต่อราย

สำหรับกลุ่มวัยเกษียณ อายุ 60 ปีขึ้นไป  พบว่ามีบัญชีเงินฝาก 14% ของผู้ฝากทั้งหมด มีเงินฝากรวมกันคิดเป็น 38% ของเงินฝากในระบบ โดยประมาณครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้มียอดเงินฝากไม่เกิน 7,400 บาทต่อราย จากยอดเงินฝากเฉลี่ย 537,000 บาทต่อราย 

จากข้อมูลข้างต้น พบว่า ผู้ฝากในช่วงเริ่มต้นทำงาน ไม่สามารถออมเงินสูงมาก เพราะในช่วง 3 ปีแรกของการทำงานยังมีหนี้สินจากการซื้อ สังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์ หรือจักรยานยนต์ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ หลังจากนั้นจึงเริ่มลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่อยู่อาศัย 

ส่วนผู้ฝากในวัยทำงาน มีเงินสะสมมากขึ้นตามรายได้ที่สูงขึ้น มีการลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษี และกระจายลงทุนในตลาดเงิน ตลาดหุ้น ตลาดทองคำ อัญมณี หรือที่ดิน ส่วนกลุ่มที่เกษียณ ซึ่งไม่มีหนี้สินและมีสินทรัพย์ที่สะสมมาใช้หลังเกษียณ แต่สามารถรับความเสี่ยงได้น้อยลง แต่รายได้ไม่มาก เพราะหยุดทำงานแล้ว

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง