TNN online ชำแหละ “บาทแข็ง” สวนทางภาวะเศรษฐกิจ

TNN ONLINE

Wealth

ชำแหละ “บาทแข็ง” สวนทางภาวะเศรษฐกิจ

ชำแหละ “บาทแข็ง” สวนทางภาวะเศรษฐกิจ

ค่าเงินบาทกลับมาเป็นประเด็นที่ “ตลาดการเงิน” ให้ความสนใจอีกครั้ง หลังจากช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าต่อเนื่อง สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว

ต้องบอกว่า “ในอดีต” การแข็งค่าของเงินบาทส่วนใหญ่เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด หรือ current account balance ซึ่งเป็นการวัดเงินเข้าเงินออกประเทศจาก ดุลการค้า (การส่งออกลบการนำเข้าสินค้า) ดุลบริการ (เช่น การท่องเที่ยว บริการทางการเงิน และอื่นๆ ) เงินโอน (เช่น เงินช่วยเหลือจาก/ที่ให้แก่ประเทศอื่น) และเงินที่จ่ายแก่เจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหลาย (เช่น ค่าดอกเบี้ย ค่าเช่า และกำไรส่งกลับประเทศ)

ถ้าเงินจากต่างประเทศเข้าประเทศ มากกว่าเงินไหลออก เช่น ถ้าส่งออกได้มากกว่านำเข้า และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเยอะ ก็จะเรียกว่า “เกินดุลบัญชีเดินสะพัด” ถ้าเงินเข้าน้อยกว่าเงินออก ก็เรียกว่า “ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด”  หากเปรียบก็เหมือนกับ “บริษัท” ที่มี “เงินสดหมุนเวียนในบริษัทจำนวนมาก” คือทำมาค้าขายได้มากกว่าเงินที่ต้องจ่ายออกไป 

ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลจะมีผลให้เงินบาทแข็งค่า เนื่องจากมีเม็ดเงินที่ไหลเข้าไทยในภาคเศรษฐกิจจริงมากกว่าไหลออก และในทางกลับกัน ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า  ทั้งนี้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมาจากการเกินดุลการค้า กับ ดุลบริการ เป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลให้เงินบาทแข็ง แต่เมื่อเราขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และเศรษฐกิจย่ำแย่ ทำไมเงินบาทยังแข็งค่า 

ชำแหละ “บาทแข็ง” สวนทางภาวะเศรษฐกิจ

เริ่มจากพาไปดูสาเหตุการแข็งค่าของเงินบาทไทยในอดีตก่อน...  ย้อนไปดูกันตั้งแต่ปี 2560 เป็นปีที่เงินบาท “แข็งค่า” อย่างรวดเร็ว และแข็งค่าต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน 

โดยในปีดังกล่าว “ไทย” มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 43,951 ล้านดอลลาร์ และแม้ว่า "ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย" ในปีนั้น จะมียอดเงินไหลออกสุทธิราว 12,497 ล้านดอลลาร์ แต่ด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างแข็งแกร่ง จึงทำให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นถึง 9.01% โดยแข็งค่าจากระดับ 35.82 บาทต่อดอลลาร์มาอยู่ที่ 32.59 บาทต่อดอลลาร์

คำว่า “ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย” หมายถึง เงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศ “หักลบกับ” เงินทุนของนักลงทุนไทยที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงหรือลงทุนผ่านหลักทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น และ ตราสารหนี้ ...การเกินดุลในส่วนนี้ จึงหมายถึง เงินจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากกว่า ที่คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ 

ส่วนปี 2561 ไทยมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดราว 28,456 ล้านดอลลาร์ แต่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย ไหลออกสุทธิถึง 14,948 ล้านดอลลาร์ ทำให้ในปีดังกล่าว เงินบาทแข็งค่าขึ้นเพียง 0.82% หรือ แข็งค่าจากระดับ 32.59 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 32.32 บาทต่อดอลลาร์

ในปี 2562 เป็นอีกปีที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก โดยแข็งค่าขึ้นราว 7.3% หรือ แข็งค่าจากระดับ 32.32 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 29.97 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งในปีดังกล่าว ไทย มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 37,911 ล้านดอลลาร์ ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย มีเงินไหลออกสุทธิ 12,925 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น

จะเห็นว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สาเหตุที่ "เงินบาทแข็งค่า” หลักๆ ล้วนมาจากการ "เกินดุล" บัญชีเดินสะพัดในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง 

ชำแหละ “บาทแข็ง” สวนทางภาวะเศรษฐกิจ

แต่ต้นปี 2563 เป็นปีที่ เงินบาท “อ่อนค่า” ลงค่อนข้างมาก จากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการอ่อนค่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก เฉพาะไตรมาสเดียวเงินบาทอ่อนค่าลงถึง 9.3% โดยอ่อนค่าลงจาก 29.97 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ 32.77 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 

หากดูลงไปลึกกว่านี้ จะพบว่า การอ่อนค่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดของโควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ชัดเจนและรุนแรงมากขึ้น โดยเป็นเดือนที่ ไทย เริ่มมาตรการ “ล็อกดาวน์” ส่งผลให้ค่าเงินบาทในเดือนดังกล่าว อ่อนลงอย่างรวดเร็วจากระดับ 31.51 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 32.77 บาทต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าลงถึง 4% ภายในเดือนเดียว

การอ่อนค่าของเงินบาทในเดือนมี.ค. เหตุผลหลักมาจาก “เงินทุนต่างประเทศ” ที่ไหลออกจากประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้เรา “ขาดดุล” บัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายในเดือนดังกล่าวสูงถึง 3,074 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลแค่เพียง 700 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เงินบาทในเดือนมี.ค. อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว

ชำแหละ “บาทแข็ง” สวนทางภาวะเศรษฐกิจ  

อย่างไรก็ตาม นับจากเดือนเม.ย. เป็นต้นมา เงินบาทเริ่มกลับมา “แข็งค่า” อีกครั้ง และเป็นการแข็งค่าแบบมีนัยสำคัญด้วย โดยหากนับเฉพาะต้นเดือนเม.ย.จนถึงปัจจุบัน พบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วราว 4% หรือ แข็งค่าจากระดับ 32.77 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 1 เม.ย.2563 มาอยู่ที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการแข็งค่าที่สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่หดตัว

ชำแหละ “บาทแข็ง” สวนทางภาวะเศรษฐกิจ

การแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้ มีข้อสังเกตว่า “ไม่ได้มาจาก” การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือนในอดีต เพราะถ้าดูตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนเม.ย. พบว่า พลิกกลับมา “ขาดดุล” ครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่ระดับ 700 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ไม่รวมทองคำ ขาดดุล 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากรายรับภาคท่องเที่ยวที่ลดลงมาก และการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ (ตามนิยามดุลการชำระเงิน) ที่หดตัวสูงที่ร้อยละ 15.9 สะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่มีต่อรายได้จากต่างประเทศของไทย

และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” กังวลอย่างมากกับเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า โดยไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ 

นอกจากนี้ “แบงก์ชาติ” ยังพุ่งเป้าไปยังกลุ่ม “ผู้ค้าทองคำ” ว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าอย่างมีนัยสำคัญด้วย 

โดย “เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า ราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนสร้างแรงกดดันต่อเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่ง แบงก์ชาติ จะตรวจสอบการทำธุรกรรมของกลุ่มผู้ค้าทองคำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการดำเนินมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบต่อค่าเงินบาทด้วย

ชำแหละ “บาทแข็ง” สวนทางภาวะเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามในฝั่งของผู้ค้าทองคำ ออกมายืนยันว่า พวกเขาไม่ใช่ตัวการที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า พร้อมกับระบุว่า สาเหตุที่แท้จริงของการกลับมาแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้ ล้วนเกิดจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์

โดย “จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี” นายกสมาคมค้าทองคำ ให้ความเห็นว่า เงินบาทที่แข็งค่าไม่น่าจะมาจากการส่งออกทองคำ แต่เป็นเพราะเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ใช้มาตรการ “คิวอี” แบบไม่อั้น ดังนั้นการที่ แบงก์ชาติ บอกว่า เงินบาทแข็งเพราะผู้ค้าทองคำ จึงไม่น่าใช่ เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกทองคำก็เริ่มชะลอตัวลงตามแรงขายของนักลงทุนทองคำในประเทศ 

หากวิเคราะห์ถึง “ต้นเหตุ” ที่แท้จริง ซึ่งทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วในรอบนี้  นอกจากเป็นผลของเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วแล้ว ยังเป็นผลจาก “เงินทุน” ของ “คนไทย” ที่ไปเคยลงทุนในต่างประเทศ  ได้นำเงินเหล่านี้ “กลับเข้ามา” ในประเทศด้วย

ชำแหละ “บาทแข็ง” สวนทางภาวะเศรษฐกิจ

จากข้อมูล “ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย” ของ “แบงก์ชาติ” ในเดือนเม.ย.2563 พบว่า “คนไทย” ที่เคยนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ได้ขนเงินเหล่านั้นกลับเข้ามาในประเทศ สูงถึง 9,027 ล้านดอลลาร์  และทำให้ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายในเดือนดังกล่าว “เกินดุล” ถึง 6,868 ล้านดอลลาร์ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไม่บ่อยนักที่จะเห็น “ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย” พลิกกลับมาเป็น “เกินดุล” ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจาก การปรับสถานะเงินฝากและเงินลงทุนในต่างประเทศของกองทุนรวม FIF และ นักลงทุนไทย 

ประกอบกับในช่วงดังกล่าว มีการส่งสภาพคล่องกลับของบริษัทในเครือจากต่างประเทศ และการชำระคืนสินเชื่อทางการค้าจากคู่ค้าต่างประเทศในจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง

โดยเงินลงทุนที่คนไทยนำกลับเข้ามา แบ่งเป็น เงินจากการลงทุนโดยตรง(TDI) 1,649 ล้านดอลลาร์ , เงินจากการลงทุนในหลักทรัพย์(portfolio investment) 1,345 ล้านดอลลาร์ และ การลงทุนอื่นๆ รวม 6,033 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้แบ่งเป็น สินเชื่อการค้า 1,718 ล้านดอลลาร์ และ เงินที่ฝากอยู่ในบัญชีสถาบันการเงินต่างประเทศ 3,575 ล้านดอลลาร์ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินด้วยว่า แนวโน้มเงินบาทระยะข้างหน้าถึงสิ้นปีนี้  มีโอกาสแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ พร้อมกับเชื่อว่า “แบงก์ชาติ” กำลังติดตามดูความผันผวนของค่าเงินบาทใน 2 ส่วน คือ 1.ธุรกรรมของผู้ค้าทองคำ โดยเฉพาะในช่วงที่ปริมาณการส่งออกยังสูง และ 2.การทยอยกลับเข้าซื้อพันธบัตรระยะสั้นต่ำกว่า 1 ปี ของผู้ลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “แบงก์ชาติ” ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงในฝั่งของ “ห้องค้าเงิน” หรือ “เทรดเดอร์” ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่ง เข้าหารือถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศ ไหลเข้ามาหวังใช้ไทยเป็น “แหล่งพักเงิน” หรือเข้ามา “เก็งกำไร” ค่าเงินบาท 


ชำแหละ “บาทแข็ง” สวนทางภาวะเศรษฐกิจ

โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นสัปดาห์แรกในรอบปีที่เห็น “ฟันด์โฟลว์” จากต่างประเทศ ไหลเข้ามาในประเทศไทยแบบชัดเจนทั้งในฝั่งของ “ตลาดหุ้น” และ “ตลาดบอนด์” 

ฝั่งของตลาดหุ้น พบว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์รวมกันกว่า 6,065 ล้านบาท และ ยังซื้อสุทธิในตลาดบอนด์ รวมกันกว่า 14,756 ล้านบาท 

เท่ากับว่า เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา เม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาในทั้ง 2 ตลาด มียอดสุทธิรวมกันถึง 20,821 ล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ ก็น่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่า

หลังจากนี้คงต้องติดตามดูว่า “แบงก์ชาติ” จะมีมาตรการ “รับมือ” กับเงินทุนเคลื่อนย้ายเหล่านี้อย่างไร เพราะถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่า และในขณะเดียวกัน เรายังเผชิญแรงกดดันจาก เงินทุนเคลื่อนย้ายของคนไทย ที่เคยไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ดึงเงินเหล่านั้นกลับเข้ามา เพื่อใช้เป็นสภาพคล่องดำเนินกิจการภายในประเทศ 

โจทย์การแก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย จึงดูไม่ง่าย เพราะหากปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในภาวการณ์เช่นนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะข้างหน้า คงมีคำถามเกิดขึ้นอีกมากมาย


ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน ชำแหละ “บาทแข็ง” สวนทางภาวะเศรษฐกิจ



เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง