TNN online ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พึ่งกฎหมายล้มละลายต่อลมหายใจ

TNN ONLINE

Wealth

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พึ่งกฎหมายล้มละลายต่อลมหายใจ

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พึ่งกฎหมายล้มละลายต่อลมหายใจ

ขยายประเด็น "ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พึ่งกฎหมายล้มละลายต่อลมหายใจ"

ในช่วงขยายประเด็น ของรายการ"เศรษฐกิจ Insight" วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2563    

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พึ่งกฎหมายล้มละลายต่อลมหายใจ

สหรัฐอเมริกา นับเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หนักที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เนื่องจากเป็นประเทศที่พบผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อมากที่สุด ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นสหรัฐฯ ต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ทำให้ภาคธุรกิจขาดสภาพคล่องและต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามกฎหมายของสหรัฐฯ อาจไม่ใช่จุดจบเสมอไป เนื่องจาก เป้าหมายของกฎหมายล้มละลายทุกประเภทของสหรัฐฯ คือ การให้โอกาสลูกหนี้ได้ตั้งต้นหรือเริ่มต้นชีวิตใหม่ ที่เรียกว่า "Fresh Start"

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2563 บริษัท "เฮิร์ทซ์" ธุรกิจเช่ารถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ที่เปิดดำเนินการนานกว่า 100 ปี ได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา Chapter 11 หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความล้มเหลวในการเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้วงเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ ตอนนี้ "เฮิร์ทซ์" กลายเป็นธุรกิจ “ยักษ์ใหญ่” รายล่าสุดของสหรัฐอเมริกาที่ต้องพึ่งพิงกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อต่อลมหายใจให้ธุรกิจ

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พึ่งกฎหมายล้มละลายต่อลมหายใจ

โดยการยื่นเรื่องขอฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลาย Chapter 11 ที่ว่านี้ คือ การขออำนาจศาลในการคุ้มครองการทวงหนี้จากเจ้าหนี้ ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นมักจะยื่นเรื่องขอใช้กฎหมายนี้มากที่สุด เพื่อที่จะพาบริษัทเข้าสู่ภาวะพักการชำระหนี้โดยอัตโนมัติ หรือ Automatic Stay ซึ่งเป็นภาวะที่ลูกหนี้ต้องหยุดการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น การปิดกิจการ หรือการโอนย้ายทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อน เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสต่อรอง และแก้ไขปัญหาทางการเงินได้ เนื่องจาก เป้าหมายของกฎหมายนี้คือ การเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถฟื้นตัวกลายเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการดำเนินการต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเช่ารถยนต์ไม่ใช่เหยื่อเพียงรายเดียวที่ต้องพึ่งพิงกฎหมายล้มละลายจากวิกฤตครั้งนี้ เนื่องจาก คลื่นยักษ์แห่งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้พัดถล่ม "อุตสาหกรรมค้าปลีก" ของสหรัฐฯ ให้ราบไปแล้วเป็นกลุ่มแรกๆ

โดยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่าน “เจ ครูว์ กรุ๊ป” (J.Crew Group) เชนค้าปลีกเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมค้าปลีกรายแรก ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ Chapter 11 หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ เจ ครูว์ ต้องปิดร้านค้าไปมากกว่า 500 สาขาเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้ยอดขายหายไปกว่า 9 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 2 หมื่น 9 พันล้านบาท 

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พึ่งกฎหมายล้มละลายต่อลมหายใจ

ในเอกสาร เจ ครูว์ ที่ยื่นต่อศาล ระบุว่า บริษัทได้บรรลุข้อตกลงกับบรรดาเจ้าหนี้แล้ว โดยจะเปลี่ยนหนี้สินมูลค่ากว่า 1 พัน 6 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้เป็นตราสารทุน ซึ่งหากกระบวนการเสร็จสิ้น เจ้าหนี้รายใหญ่ของ เจ ครูว์ ทั้งหลายจะกลายมาเป็นเจ้าของแทน

และ ไม่กี่วันหลังจาก เจ ครูว์ ยื่นเรื่องขอฟื้นฟูกิจการ “นีแมน มาร์คัส” (Neiman Marcus) เชนห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ที่มีเปิดกิจการมายาวนานกว่า 113 ปี ได้กลายเป็นยักษ์ในกลุ่มค้าปลีกสัญชาติสหรัฐฯ รายที่ 2 ที่ตัดสินใจยื่นขอฟื้นฟูกิจการเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ นีแมน มาร์คัส (Neiman Marcus) ต้องประสบปัญหาหนี้สินระยะยาวมูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่หันไปซื้อสินค้าจากช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พึ่งกฎหมายล้มละลายต่อลมหายใจ

ซึ่งล่าสุด นีแมน มาร์คัส ได้เปิดเผยว่า บริษัทได้บรรลุข้อตกลงในการจัดการหนี้สินกับบรรดาเจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว พร้อมได้รับเงินกู้ก้อนใหม่ในนามของผู้ฟื้นฟูกิจการเจ้าหนี้ มูลค่า 675 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท สำหรับประคองธุรกิจต่อไปในช่วงนี้

และเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจซี เพนนีย์ (JC Penney) ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ ที่เปิดมานานกว่า 118 ปี และมีสาขามากกว่า 850 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีกรายล่าสุดที่ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ Chapter 11 

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พึ่งกฎหมายล้มละลายต่อลมหายใจ


ซึ่งล่าสุด เจซี เพนนีย์ ได้เปิดเผยว่า บริษัทสามารถบรรลุข้อตกลงขอกู้เงิน เพื่อมาใช้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการได้มากว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 28,800 ล้านบาท) พร้อมทั้ง ประกาศปิดห้างสรรพสินค้า 240 สาขาอย่างถาวร ตามแผนการฟื้นฟูกิจการ

นอกจาก ธุรกิจค้าปลีกแล้ว ยังมีอีกหลายธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอีกหลายอุตสาหกรรมที่เสี่ยงจะล้มละลายจากวิกฤตครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ การบิน ท่องเที่ยว และน้ำมัน

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พึ่งกฎหมายล้มละลายต่อลมหายใจ

จำนวนบริษัทยื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้ Chapter 11 

จากข้อมูลล่าสุดของ สถาบันล้มละลายแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ เอบีไอ (ABI) ระบุว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีบริษัทในสหรัฐอเมริกายื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้ Chapter 11 เพิ่มขึ้นถึง 26 เปอร์เซนต์ อยู่ที่ 560 แห่ง เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปี 2562 ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการอยู่ที่ 444 แห่ง


อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า บริษัทรายใหญ่เหล่านี้ ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจาก พวกเขาสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาล และธนาคารพาณิชย์อย่างง่ายดาย เพราะมีเงินทุนที่แข็งแกร่งมาตลอด รวมทั้งสามารถระดมทุนเพิ่มจากตลาดตราสารหนี้ เพื่อหานำไปใช้จ่าย ระหว่างเผชิญวิกฤต อย่างเช่น “รอยัล แคริบเบียน” (Royal Caribbean) บริษัทเรือสำราญชื่อดัง ที่ได้ออกหุ้นกู้มูลค่า 3 พัน 3 ร้อยล้านดอลลาร์ โดยใช้เรือสำราญเป็นหลักประกัน หลังจากลูกค้าประมาณ 45 เปอร์เซนต์ ตัดสินใจยกเลิกการจองและขอเงินคืน

และนอกจากการยื่นขอฟื้นฟูกิจการตาม Chapter 11 แล้ว ภาคธุรกิจสหรัฐฯ ยังสามารถขอยื่นล้มละลาย โดยไม่ฟื้นฟูกิจการได้ ผ่านกฎหมายอีก 2 Chapter หลักๆ ได้แก่  Chapter 7 และ Chapter13


โดย Chapter 7 เป็นกระบวนการชำระกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือการล้มละลายสมบูรณ์ ซึ่งสาระสำคัญของ Chapter นี้ คือ ขายการทรัพย์สิน และนำมาเฉลี่ยให้เจ้าหนี้อย่างเท่าเทียมกัน เหมาะสำหรับบุคคลหรือธุรกิจที่ทรัพย์สินน้อย


ขณะที่ Chapter 13 เป็นกระบวนการประนอมหนี้ของลูกหนี้บุคคลธรรมดาผู้มีรายได้ประจำ หรืออีกอย่างหนึ่งว่า แผนฟื้นฟูของผู้มีรายได้ประจำ จะใช้สำหรับบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวโดยใช้หลักทรัพย์ค้าประกันเช่นบ้าน หรือที่ดิน 


ทำให้ Chapter 13 นี้ได้รับความนิยมมากว่า Chapter 7 เนื่องจากการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้รักษาทรัพย์สินที่มีค่าของตนไว้ รวมไปถึงการที่ลูกหนี้สามารถทำแผนในการชาระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ ทำให้ลูกหนี้มีโอกาสชำระหนี้ได้ครบและสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พึ่งกฎหมายล้มละลายต่อลมหายใจ

จำนวนผู้ยื่นล้มละลาย 

โดยตามข้อมูลจาก เอบีไอ (ABI) ระบุว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้ยื่นล้มละลายลดลงมากถึง 46 เปอร์เซนต์ อยู่ที่ 38,428 แห่ง จาก 71,303 แห่งในปีก่อนหน้า  ซึ่ง ABI ระบุว่า จำนวนผู้ยื่นล้มละลายที่ลดลงในปีนี้ เป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจของทางการสหรัฐฯ ที่ผ่านสภาคองเกรสไปเมื่อเดือนมีนาคม ได้แช่แข็งตัวเลขดังกล่าวเอาไว้ พร้อมทั้งมองว่า มาตรการดังกล่าว เป็นการชะลอระเบิดเวลาเท่านั้น

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พึ่งกฎหมายล้มละลายต่อลมหายใจ

จะสังเกตว่า กฎหมายล้มละลายทุกประเภทของสหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อให้ลูกหนี้ได้ตั้งต้น หรือเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยการปลดพันธะหรือลดหนี้ที่จ่ายไม่ไหวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ที่ใช้วิธีการที่ไม่ชอบในการทวงหนี้

และ ป้องกันไม่ให้ลูกหนี้นำทรัพย์สินไปถ่ายโอน หรือทำให้เสื่อมค่า อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการชำระหนี้ ตามกระบวนการทางกฎหมายที่ยุติธรรม รวดเร็ว และสามารถรักษาความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่อไปได้ 


รายละเอียดติดตามได้ในายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2563

https://www.youtube.com/watch?v=oVHRbe8Yiqs


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand


ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ