TNN online ทิศทาง “อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย” หลัง COVID-19

TNN ONLINE

Wealth

ทิศทาง “อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย” หลัง COVID-19

ทิศทาง “อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย”  หลัง COVID-19

วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลกในปัจจุบัน ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในแง่มุมต่าง ๆ และต่อเนื่องมาสู่ปริมาณการผลิตรถยนต์ในไทยที่คาดว่าจะหดตัวรุนแรงในปีนี้ แน่นอนส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ปรับโฉมไปอย่างสิ้นเชิงในอนาคต

ทิศทาง “อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย”  หลัง COVID-19

หลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างของเชื้อไวรัสโควิด-19 อันส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักไปทั่วโลก อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยมีการคาดการณ์จาก IHS Markit ว่า “ยอดขาย” รถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก รวมกันทั่วโลกในปี 2563 นี้อาจหดตัวลงถึงร้อยละ 22 จากปีก่อน โดยสหรัฐฯ และยุโรป เป็นตลาดที่มีทิศทางหดตัวสูงกว่าภูมิภาคอื่น ผลักดันให้ “การผลิต” รถยนต์ประเภทเดียวกันนี้รวมกันทั่วโลกหดตัวลงกว่าร้อยละ 21.2 จากปีก่อนด้วย 

ทิศทาง “อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย”  หลัง COVID-19

ขณะที่ไทยเองโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ และส่งผลต่อเนื่องมายังการผลิตรถยนต์ที่คาดว่าจะหดตัวลงแรงในปีนี้เช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินไว้เบื้องต้นจากมุมมองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันว่ามีความเป็นไปได้ที่ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2563 นี้อาจหดตัวลงอย่างมากประมาณร้อยละ 21 ถึง 25 หรือผลิตรถยนต์ได้เพียง 1,520,000 ถึง 1,590,000 คัน จากที่ผลิตได้ 2,013,710 คันในปีก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขการผลิตดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีวัคซีนหรือข้อสรุปถึงการรักษาเฉพาะทางที่ถูกกับโรค ทำให้ตัวเลขประมาณการดังกล่าวอาจไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้ายและมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตหากเกิดการระบาดรุนแรงขึ้นมาอีกหลายระรอกก่อนจบปี 2563

ทิศทาง “อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย”  หลัง COVID-19

สอดคล้องกับทิศทางที่ TNN ช่อง 16  นำเสนอรายงานเกี่ยวกับ “อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยถดถอย” ไปก่อนหน้านี้  ซึ่งเป็นข้อมูลในมุมของผู้ประกอบการ หรือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่กำลังจะปรับประมาณการณ์ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปีนี้จากเดิม 2 ล้านคัน โดยหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายภายในเดือน มิถุนายน นี้  ส.อ.ท. คาดว่าจะผลิตรถยนต์ลดลงเหลือ 1.4 ล้านคัน  แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปถึงเดือนกันยายน  คาดว่ายอดผลิตรถยนต์ปีนี้จะลดลง 50% เหลือเพียง 1 ล้านคัน  ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ต่ำกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน

ดังนั้น หากไทยผลิตรถยนต์ได้ 1 ล้านคัน จะเป็นปริมาณการผลิตที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 ที่มีการผลิต 1.6 ล้านคัน และใกล้เคียงปี 2552  ที่ประเทศไทย มีปัญหาการเมือง ทำให้ผลิตทั้งขายในประเทศ และส่งออกไม่ถึง 1 ล้านคัน  

สำหรับทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หลังจากสถานการณ์การระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงเมื่อมีวัคซีนอย่างทั่วถึงซึ่งคาดว่าอย่างเร็วน่าจะเป็นช่วงต้นปี 2564 เป็นต้นไป แต่จากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในไทยและต่างประเทศที่ยังอยู่ในภาวะทยอยฟื้นฟู ดังนั้น กว่าที่ตลาดรถยนต์ทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งก็อาจเป็นช่วงกลางปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ไปแล้ว

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินว่าอุตสาหกรมรถยนต์ไทยจะมีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานรถยนต์และชิ้นส่วนที่เน้นกระจายความเสี่ยงมากขึ้นหลังการระบาดของโควิด  

เพราะตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไปทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการ “ชัตดาวน์”  การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในจีน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนไปทั่วโลก

ลักษณะการพึ่งพิงฐานการผลิตเดียวที่มากเกินไปจนเกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าว น่าจะเป็นสิ่งที่ “ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วน” อาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต ด้วยการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ในห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับในไทยเองแม้ว่าจะไม่ได้พึ่งพิงชิ้นส่วนจากจีนมากนัก เนื่องจากกว่าร้อยละ 80 ถึง 90 ของชิ้นส่วนที่ต้องใช้ประกอบรถยนต์ 1 คันนั้นสามารถผลิตได้เองในประเทศ แต่ถึงอย่างนั้น ชิ้นส่วนบางประเภทที่ต้องนำเข้าจากจีน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางรายการ เช่น เซ็นเซอร์ระดับสูง และ ECU เป็นต้น ที่ไม่สามารถส่งออกมาจากจีนได้ ก็ทำให้ต้องสลับไปหาชิ้นส่วนดังกล่าวจากประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่นแทน 

ทิศทาง “อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย”  หลัง COVID-19
โดยแนวทางที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนจะนำมาใช้นับจากนี้อาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่

1. การผ่อนคลายระบบการผลิตแบบ Just In Time ลง  ระบบการผลิตแบบ Just In Time คือ การมีสต็อกวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เตรียมไว้ผลิตน้อย ซึ่งแม้จะดีต่อการไม่ต้องแบกรับต้นทุนสต็อกสินค้า แต่หากเกิดปัจจัยเสี่ยงอันไม่คาดคิดอย่างกระทันหันดังเช่นกรณีการระบาดของโควิด-19 การไม่มีวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนเพียงพอสำหรับผลิตกลับจะเป็นผลเสียอย่างมากต่อทั้งห่วงโซ่อุปทาน และอาจมีผลต่อการสูญเสียลูกค้าหรือถูกลดคำสั่งซื้อในอนาคตลงได้ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ “ไทย” ยังมีความได้เปรียบกว่าประเทศฐานการผลิตอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เนื่องจากมีการพัฒนาคลัสเตอร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนมาอย่างยาวนานจนปัจจุบันขั้นตอนต่าง ๆ  ในกระบวนการผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่สามารถทำได้ในประเทศ  ทำให้การผ่อนคลายระบบการผลิตแบบ Just In Time อาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นมาก  แต่ต้องมีการติดตามสถานการณ์การผลิตในระยะที่กระชั้นขึ้นกว่าอดีต รวมถึงการวางแผนงานในลักษณะที่ยืดหยุ่นขึ้น และมีการหาแหล่งวัตถุดิบหรือผู้ชิ้นส่วนสำรองในอนาคตเผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย 

ทิศทาง “อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย”  หลัง COVID-19
2. การพิจารณาโยกย้ายฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์บางกลุ่ม โดยเฉพาะออกจากจีน ไปรวมศูนย์ยังฐานการผลิตระดับยุทธศาสตร์ของภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ของต้นทุนการผลิตต่ำโดยเปรียบเทียบพร้อมทั้งมีขนาดกำลังการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่มากพอรองรับ ซึ่งไทยเองก็คาดว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศ “ตัวเลือกหนึ่ง” ที่น่าสนใจของค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วน 

โดยกลยุทธ์ดังกล่าวนี้คาดว่าอาจจะทำให้เกิดทิศทางการจัดห่วงโซ่อุปทานการผลิตรูปแบบใหม่ที่ชัดเจนขึ้น ได้แก่ 

การใช้ platform ร่วม ในแต่ละรุ่นรถยนต์และชิ้นส่วนทั้งภายในค่ายเดียวกันเองกับระหว่างค่าย เนื่องจากมีส่วนช่วยให้การกระจายความเสี่ยงด้วยการย้ายฐานการผลิตไปรวมศูนย์ในแต่ละภูมิภาคมีประสิทธิภาพและสามารถผลิตให้เกิด Economies of Scale ได้ง่ายขึ้น จากการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันได้ในหลายๆผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนชิ้นส่วนจากแหล่งผลิตบางแห่งอย่างกระทันหันได้อีกทาง 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การใช้ platform ร่วมกันในกลุ่มชิ้นส่วนและรถยนต์แต่ละรุ่น รวมถึงการรวมกลุ่มธุรกิจใน Tier ระดับต่างๆเข้าด้วยกันนั้น อาจทำให้เกิดการ”ล้มหายตายจาก” ของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับ Tier 2, 3 และ4 ที่มีสายป่านทางการเงินสั้นและไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอกับคู่แข่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนจากต่างชาติที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและเงินทุนที่เข้ามาลงทุนในไทย 

อย่างไรก็ตาม ฝั่งธุรกิจผลิตชิ้นส่วนในไทยที่ยังพอจะสามารถ "รับมือ" ได้ อาจต้องเริ่มศึกษาโอกาสในการจับมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในประเทศขณะนี้หรือที่กำลังจะเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจ 

ทิศทาง “อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย”  หลัง COVID-19

นอกจากนี้ Social Distancing  จะมีส่วนเร่งให้กระบวนการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนไทยปรับมาใช้ระบบ Automation เพิ่มขึ้น  ซึ่งกระแสการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตอาจเข้มข้นขึ้นภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับแรงงาน  อาจทำให้โรงงานต่างๆย้ายฐานการผลิตกลับประเทศแม่มากขึ้นในหลายๆอุตสาหกรรม เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนแรงงานต่ำดังเช่นอดีต ซึ่งอาจเจอได้ในอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่อุปทานสั้นไม่ซับซ้อน 

ทว่าสำหรับกรณี อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนซึ่งมีชิ้นส่วนที่เกี่ยวพันในหลายระดับ การนำระบบอัตโนมัติมาใช้กลับช่วยส่งเสริมแนวนโยบายกระจายความเสี่ยงไปตั้งโรงงานยังประเทศอื่นที่เป็นฐานผลิตระดับยุทธศาสตร์สำคัญของแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเครื่องจักรอัตโนมัติต่าง ๆ ช่วยส่งเสริมการผลิตด้วย Platform เดียวกันให้ถึงจุดที่เกิด Economies of Scale ได้ง่ายยิ่งขึ้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกร ไทยมองว่า สำหรับตลาดอาเซียนและโอเชียเนีย (กลุ่มประเทศและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทวีปออสเตรเลีย)  ไทยมีโอกาสเป็นประเทศที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะเลือกมากที่สุดในการลงทุนเป็นที่ตั้งฐานการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการขาดแคลนชิ้นส่วนจากแหล่งผลิตบางแห่งอย่างกระทันหัน 

ซึ่งกลุ่มที่จะเข้ามาลงทุนหลักคาดว่าจะเป็นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ออกมาจากจีนและที่มีรถยนต์ในตลาดอาเซียนและโอเชียเนีย โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันไทยมีการให้การสนับสนุนจากรัฐบาลและตลาดมีการเติบโตที่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างเด่นชัด

ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันแม้จะทำให้เกิดการชะงักงันครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย แต่ในอีกทางหนึ่งอาจเป็นโอกาสให้กับไทยได้หากมีการเตรียมพร้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนอย่างเหมาะสมในอนาคต 

ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight 
ตอน ทิศทาง “อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย”  หลัง COVID-19

ติดตามสกู๊ปพิเศษ ตอน  COVID-19 ฉุดอุตสาหกรรมยานยนต์โลกถดถอย 10 ปี 

เกาะติดข่าวที่นี่ 

website: www.TNNThailand.com  

facebook : TNNThailand 

twitter : @TNNThailand 

Line : @TNNThailand 

Youtube Official : TNNThailand



ข่าวแนะนำ