TNN online แบงก์ชาติ กางข้อมูล “ใครถือตราสารหนี้ภาคเอกชน?”

TNN ONLINE

Wealth

แบงก์ชาติ กางข้อมูล “ใครถือตราสารหนี้ภาคเอกชน?”

แบงก์ชาติ กางข้อมูล “ใครถือตราสารหนี้ภาคเอกชน?”

แบงก์ชาติ กางข้อมูลผู้ถือตราสารหนี้ภาคเอกชน 3.6 ล้านล้านบาท เผยประชาชนลงทุนโดยตรงและทางอ้อมกว่า 70% ขณะที่ต่างประเทศถือเพียง 9,000 ล้านบาท หรือ 0.2% เท่านั้น

ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่าน ซึ่งให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ออก  พ.ร.ก. การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) หรือเรียกสั้นๆว่า “กองทุน BSF”  เพื่อซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดแรก ก็มีเสียงวิพากวิจารณ์ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนนี้

การจัดตั้งกองทุน BSF ถือเป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์ของแบงก์ชาติที่ทำ “นอกกรอบ” นโยบายการเงิน แต่ “ไม่ใช่” ครั้งแรกของธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น เป็นต้น  จึงไม่แปลกที่จะมีความเห็นแตกต่าง  และมีประเด็นข้อกังวลที่หลากหลายมุมมอง ซึ่งขึ้นอยู่กับชุดข้อมูล และประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย  

แต่สิ่งที่ทุกฝ่าย “เห็นตรงกัน” คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ “ไม่ปกติ”  เกิดจากการระบาดของโรคCOVID-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้าง ทั้งต่อภาคเศรษฐกิจจริง และภาคการเงิน  จึงไม่มีใคร “ปฏิเสธ” ว่า นี่คือหน้าที่ของแบงก์ชาติที่จำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและระบบการเงิน  

โดยเฉพาะใน “ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน”  หรือ “หุ้นกู้” ซึ่งขณะนี้กลายเป็นแหล่งระดมเงินทุนและแหล่งลงทุนที่สำคัญ และมีขนาดใหญ่หรือมีมูลค่ากว่า  3.6 ล้านล้านบาท หรือ กว่า 20% ของ GDP 

แบงก์ชาติ กางข้อมูล “ใครถือตราสารหนี้ภาคเอกชน?”

ความ "ไม่ปกติ" ที่เกิดขึ้นในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่แบงก์ชาติเริ่มเห็นก็คือ “สัญญาณ” ความเสี่ยงจากการ “ผิดนัดชำระ” ตราสารหนี้ภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น เพราะรายได้ภาคธุรกิจที่ลดลงจากผลกระทบของ COVID-19 และราคาน้ำมันที่ปรับลงมาก อาจส่งผลให้ "บริษัทไทย" ที่ระดมทุนผ่านตราสารหนี้มีความเสี่ยงผิดนัดชำระสูงขึ้น  หรือไม่สามารถออกตราสารหนี้ใหม่ทดแทนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ (rollover risk) เนื่องจากนักลงทุนรับความเสี่ยงได้น้อยลง 

ความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้แบงก์ชาติเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามจนกลายเป็น “ความเสี่ยงเชิงระบบ”  ด้วยการออกทั้งมาตรการช่วยเหลือ “กองทุนรวม” ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน และการจัดตั้งกองทุน BSF  เพื่อ "ป้องกัน" ปัญหาเชิงระบบ

โดยความเสี่ยงที่ตราสารหนี้ภาคเอกชนจะครบกำหนดในปีนี้ จากข้อมูลที่แบงก์ชาติรวบรวม (จากกราฟฟิก)  พบว่า ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ครบกำหนดในปี 2563 ส่วนใหญ่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ในกลุ่ม A และ BBB 

ซึ่งกลุ่มหลัง (BBB) มีความเปราะบางต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เป็น non-investment grade หากธุรกิจที่ออกตราสารหนี้ดังกล่าวได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่หดตัว  

ทั้งนี้ หากความเสี่ยงจากการ “ผิดนัดชำระ” ตราสารหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องรายอื่นในระบบการเงินต่อไป ทั้ง “เจ้าหนี้” ที่อาจได้รับผลกระทบหากธุรกิจซึ่งผิดนัดชำระตราสารหนี้  ผิดนัดในมูลหนี้อื่น (cross default) ด้วย โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่เป็น “ธนาคารพาณิชย์” ตลอดจน “สหกรณ์ออมทรัพย์” บางรายที่ถือครองตราสารหนี้ภาคเอกชนเป็นสัดส่วนสูงของสินทรัพย์ทั้งหมด

แบงก์ชาติ กางข้อมูล “ใครถือตราสารหนี้ภาคเอกชน?”

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ไปดูกันว่าตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท   มีใครบ้างที่เป็น “เจ้าหนี้” หรือ “ถือครอง” ตราสารหนี้เหล่านี้ 

จากข้อมูลแบงก์ชาติ ล่าสุด ณ เดือนก.พ. 2563 พบว่า ผู้ที่ถือครองตราสารหนี้ภาคเอกชนมากที่สุดคือประชาชาชน โดยเป็นการลงทุนทางตรง 30.2% และลงทุนทางอ้อม 40.5% รองลงมาเป็นกลุ่มบริษัทประกันชีวิต 15.7%  สถาบันการเงิน/ธนาคารพาณิชย์ 7.6% บริษัทและนิติบุคคล 4%  ส่วนราชการ 1.8% และนักลงทุนต่างชาติ 0.2% หรือถือครองเป็นมูลค่าเพียง 9 พันล้านบาท  

จากภาพรวมการถือครองตราสารหนี้ภาคเอกชน จะเห็นว่า ประชาชนมีสัดส่วนการถือครองมากที่สุดคือกว่า 70% โดยเป็นการถือครองทั้งทางตรงและทางอ้อม 

แบงก์ชาติ กางข้อมูล “ใครถือตราสารหนี้ภาคเอกชน?”

มาดูในรายละเอียดสำหรับประชาชนที่ถือครองตราสารหนี้  “ทางตรง”  ซึ่งมีสัดส่วน 30.2%  พบว่า เป็นตราสารหนี้ที่ขายให้ “ประชาชนทั่วไป” ประมาณ 14.5%  และ “ขายแบบวงจำกัด” มีสัดส่วน 15.7%  

ทั้งนี้ “ตราสารหนี้เอกชน” ที่ขายให้ผู้ลงทุนทั่วไป หรือ ประชาชนทั่วไป จะต้องมีการจัดอันดับตราสารหนี้ และส่วนใหญ่จะกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 50,000-100,000 บาท  ส่วนการ “ขายแบบวงจำกัด” ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ไม่จำกัดวงเงินขั้นต่ำ และตราสารหนี้เอกชนที่เปิดขายไม่ต้องมีการจัดอันดับตราสารหนี้ก็ได้ เพราะถือว่า เป็นกลุ่มที่รับความเสี่ยงสูงได้ดีกว่ารายย่อย 
แบงก์ชาติ กางข้อมูล “ใครถือตราสารหนี้ภาคเอกชน?”

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ประชาชนที่ลงทุน “ทางอ้อม” หรือออมเงินผ่านตัวกลางต่าง ๆ ที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน มีสัดส่วนมากถึง 40.5% พบว่า เป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมถึง 17.3% รองลงมาเป็น สหรกรณ์ 9.2% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 9.1% กองทุนประกันสังคม 2.6% และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 2.3% 

จากข้อมูลที่แสดงมาทั้งหมด  แบงก์ชาติจึงเป็นห่วงว่า หากกลไกตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน “ไม่สามารถ” ทำงานได้ปกติ หรือผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน การระดมทุนหรือต่ออายุหนี้ (rollover) ของธุรกิจจะทำได้ยาก มีความเสี่ยงที่ปัญหาการขาดสภาพคล่องจะลุกลามในวงกว้าง เช่น ธุรกิจอาจต้องปิดกิจการ ทำให้ลูกจ้างสูญเสียรายได้และตกงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงระบบตามมา และยังส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ออมเงินผ่านตัวกลางต่าง ๆ ที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งเป็นการออมเพื่อใช้ในยามเกษียณอีกด้วย

จะเห็นว่า หากปล่อยให้ตลาดตราสารหนี้มีปัญหา “เชิงระบบ” ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงแรงและมีความเสียหายกว่าวิกฤตการเงินในปี40  แบงก์ชาติจึงต้องเร่งออกมาตรการป้องกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และดูแลเสถียรภาพ “ระบบการเงิน” ด้วยการตั้งกองทุน BSF 

แต่การให้ความช่วยเหลือต้องบอกว่า "จำกัดขอบเขต" ให้ความช่วยเหลือเฉพาะตราสารหนี้ที่ได้ัรับเรตติ้ง Investment Grade  ขึ้นไป หมายถึง “กลุ่มระดับลงทุน" เรทติ้งตั้งแต่ AAA จนถึง BBB-  เพราะถือเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มั่นคง ผลประกอบการดี อยู่ในกลุ่มที่น่าลงทุน ผลตอบแทนไม่สูงมาก
 
เพราะฉะนั้นตราสารหนี้ที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำกว่า BBB-  ก็ต้องรับความเสี่ยง รวมถึงผู้ลงทุนด้วย  เพราะ  “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน” เป็นประโยคที่นักลงทุนต้องตระหนักเสมอว่า การลงทุนนั้นมีความเสี่ยง และสิ่งที่จะมาชดเชยความเสี่ยงในการลงทุนก็คือ โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ พ.ร.ก. กองทุน BSF  อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะผ่านการพิจารณาและดำเนินการคตามขั้นตอนประกาศใช้ได้ในเร็วๆ นี้ ก็คอยต้องติดกันว่า รายละเอียดของกองทุน BSF ที่จะประกาศออกมาจะโปร่งใส และรอบคอบ สามารถตอบโจทย์ข้อกังวลต่างๆ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่ และจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนได้มากน้อยแค่ไหน 

ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน แบงก์ชาติ กางข้อมูล “ใครถือตราสารหนี้ภาคเอกชน?”


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ