TNN online "อุตตม"เร่งสรุป"แจกเงินเกษตรกร"ไม่เกิน เม.ย.63

TNN ONLINE

Wealth

"อุตตม"เร่งสรุป"แจกเงินเกษตรกร"ไม่เกิน เม.ย.63

อุตตมเร่งสรุปแจกเงินเกษตรกรไม่เกิน เม.ย.63

คลัง เร่งสรุปแนวทางแจกเงินเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือน ไม่เกินเม.ย.นี้ ขณะที่ ทีดีอาร์ไอค้านระบุแก้ปัญหาไม่ตรงจุด พร้อมเสนอให้ขยายความช่วยเหลือแรงงานที่ตกหล่นและกลุ่มอื่นๆ


วันนี้ ( 10 เม.ย.63)  นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า   ได้เรียกชุดคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าหารือ     เกี่ยวกับกรอบแนวทางในการเยียวยาเกษตรกร   ซึ่งจะพยายามหาข้อสรุปโดยเร็ว และให้ครอบคลุมเกษตรกร    ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น   มีข้อมูลเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร และธ.ก.ส. จำนวน 9 ล้านครัวเรือน    ขณะที่วงเงิน 30,000 บาท   ที่จะเข้าไปช่วยเหลือเกษตร ยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นจำนวนเท่าไหร่และจ่ายในลักษณะอย่างไร    ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะแจกเป็นเงินสดให้เป็นครัวเรือน    เหมือนอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนได้เดือนละ 5,000 บาท    แต่ยังต้องหาข้อสรุปสุดท้าย  ส่วนเงินงบประมาณได้เตรียมไว้แล้วจากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนแรก 6 แสนล้านบาท  มีการกำหนดไว้ชัดเจน    ในการเยียวยาผลกระทบโควิด    ทั้งด้านการสาธารณสุข อาชีพอิสระ และเกษตรกร  จะเร่งหารือให้ได้ข้อยุติเพื่อจ่ายเงินให้ได้ในเดือน เม.ย. 

"นอกจากอาชีพอิสระและอาชีพเกษตรกรแล้ว   กระทรวงการคลังก็จะพิจารณาให้ครอบคลุมอาชีพทั้งหมด  ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19    และยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ   ก็จะหาวิธีดูแลให้ได้ทั้งหมด  เพราะงบประมาณที่ตั้งไว้มีเพียงพอไม่ต้องห่วง" นายอุตตม กล่าว

ขณะที่ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินสดให้กับเกษตรกร   เพราะปัญหาของเกษตรกรไม่ชัดเจนว่าถูกกระทบจากโควิด-19   แต่ก่อนหน้านี้เคยเสนอให้ช่วยเกษตรกร  เพราะรัฐบาลประกาศว่าจะช่วยแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพียง 3 ล้านคน   จึงกังวลว่า  แรงงานต่างจังหวัดที่มีครอบครัวเป็นเกษตรกรอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือ  หรือตกหล่นจากมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการ   แต่ขณะนี้รัฐบาลขยายความช่วยเหลือเพิ่มเป็น 9 ล้านคน  ก็น่าจะครอบคลุมแรงงานกลุ่มนี้

สำหรับ  การใช้เงินจากพ.ร.ก.เงินกู้นั้น  เสนอว่า แทนที่นำเงินไปแจกเกษตรกร เปลี่ยนเป็นนำเงินไปขยายความช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19   เพิ่มขึ้นอีกเป็น 14-15 ล้านคน  น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า   เพื่อให้ครอบคลุมแรงงานที่เดือนร้อนจริง   โดยเฉพาะกลุ่มที่ลงทะเบียน "เราไม่ทิ้งกัน"  แต่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ   เพราะตกหล่นจากระบบคัดกรอง  ในส่วนนี้ภาครัฐควรให้มีการส่งเอกสารหรือข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติม  เพื่อยืนยันความถูกต้อง   ซึ่งน่าจะช่วยแรงงานได้เพิ่มได้อีก 3-4 ล้านคน 

สำหรับ  การแก้ปัญหาเกษตรกร ควรดูเป็นแต่ละเร่อง  เช่น เรื่องราคาก็มีการประกันรายได้  เรื่องต้นทุน  ก็ต้องหาแนวทางลดต้นทุน หรือปัญหาภัยแล้ง  ก็ต้องให้ความช่วยเหลือแต่ละเรื่องไป  น่าจะตรงเป้าหมายมากกว่า 


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ