TNN online สั่งปิดสถานบันเทิงคุมโควิด-19 ได้หรือเสีย?

TNN ONLINE

Wealth

สั่งปิดสถานบันเทิงคุมโควิด-19 ได้หรือเสีย?

สั่งปิดสถานบันเทิงคุมโควิด-19 ได้หรือเสีย?

สั่งปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีเสียงจากทั้ง 2 ฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

วันนี้ (16 มี.ค.63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อเสนอที่ต้องการให้ปิดสถานบันเทิง เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีเสียงจากทั้ง 2 ฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราจะพาไปดูข้อมูลผลกระทบหากคณะกรรมการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สั่งปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศไม่มีกำหนด จะได้คุ้มเสียหรือไม่

ข้อมูลทะเบียนการอนุญาตจัดตั้งสถานบริการ ประจำปี 2560  จากเว็บไซต์ของกรมการปกครอง กระทรงมหาดไทย ระบุว่า ทั่วประเทศมีสถานบริการทั้งหมด  2,198 แห่ง แบ่งเป็น

- ภาคเหนือ  196 แห่ง มากที่สุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ 45 แห่ง

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 304 แห่ง มากที่สุด คือ จังหวัดนครราชสีมา 45 แห่ง

- ภาคกลาง  255 แห่ง มากที่สุด คือ จังหวัดสมุทรปราการ 58 แห่ง

- ภาคตะวันออก 1,028 แห่ง มากที่สุด คือ จังหวัดชลบุรี 943 แห่ง

- ภาคใต้  415 แห่ง มากที่สุด คือ จังหวัดภูเก็ต 100 แห่ง

ส่วนเฉพาะในกรุงเทพมหานครมี 364 แห่ง  

หากมีการสั่งปิดสถานบันเทิงจริง จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ไม่ใช่เพียงเฉพาะผู้ประกอบการเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบไปยัง พนักงาน พ่อครัวแม่ครัว เด็กเสิร์ฟ หรือธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น แท็กซี่ โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น 

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงประมาณเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว (2562) แม้แต่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ยังเห็นโอกาสจากเม็ดเงินในธุรกิจสถานบันเทิง จนมีการออกมาเสนอแนวคิดให้ขยายเวลาปิดสถานบริการต่างๆ ในยามค่ำคืนจากเดิม 02.00 น. ไปปิดที่เวลา 04.00 น. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจ

เพราะจากผลการศึกษาของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เบื้องต้น คาดว่าหากมีการขยายเวลาปิดสถานบริการยามค่ำคืนออกไปถึง 04.00 น. จะช่วยเพิ่มค่าใช้จ่ายกินดื่มเที่ยวเฉลี่ยได้อีกไม่น้อยกว่า 25% จากค่าใช้จ่ายเดิม

แต่หลังจากมีข่าวออกไป ทำให้มีกลุ่มคัดค้านหลากหลายกลุ่มเริ่มก่อตัว ประกาศจัดกิจกรรมปราศรัยในประเด็นผลกระทบ ทั้งในมิติอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาต่อเด็กและเยาวชน อาชญากรรม รวมทั้งมิติทางเศรษฐกิจที่ได้ไม่คุ้มเสีย  จนนโยบายนี้ต้องต้องเงียบไป

เมื่อมาดูข้อมูลอีกด้านจาก นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ที่ระบุว่า การท่องเที่ยวของไทยถือเป็น 1 ใน 3 หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ ร่วมกับ การส่งออก และเกษตรกรรม ปัจจุบันเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศปีละ38 ล้านคน ถ้านับจากจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในอันดับ 9 ของโลก มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3 ล้านล้านบาท จากคนไทย 1 ล้านล้าน ต่างชาติอีก 2 ล้านล้าน ถ้านับเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นอันดับ 4 ของโลก

จากทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวปัจจุบัน ถือว่าประเทศไทยกำลังก้าวหน้าไปข้างหน้า และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น แต่การเติบโตที่ทุกคนคาดหวังคือ ศักยภาพด้านการดึงดูดนักท่องเที่ยวต้องยั่งยืน ทั้งปริมาณและคุณภาพการบริการต้องมากขึ้น คุณภาพนักท่องเที่ยวที่มาต้องสูงขึ้น รายจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะทำให้การท่องเที่ยวทำให้ประเทศไทยมีรายได้มากยิ่งขึ้น

และจากการสำรวจของงานวิจัยเรื่องผลกระทบจากแอลกอฮอล์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ  พบว่า "การดื่มแอลกอฮอล์" เป็นเพียงกิจกรรที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเข้ามาเที่ยว แต่ไม่ใช่เป้าหมายหลักในการตัดสินใจเลือกแหล่งท่องเที่ยว

นอกจากนั้น จากการวิเคราะห์ศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวโดย World Economic Forum ได้จัดลำดับให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอยู่ในลำดับ 35 ของโลก โดยมีจุดที่ประเทศไทยต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนคือ “ความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของนักท่องเที่ยว”

ดังนั้น การเสนอให้ปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศ อาจเป็นมาตรการที่เหมาะสมในช่วงนี้ที่มียอดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเพิ่มสูงขึ้นในประเทศ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศ รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติในอนาคต  แต่ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการ แรงงาน รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในการวางกรอบระยะเวลาในการสั่งปิดที่ชัดเจน รวมทั้งหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาระหว่างที่ต้องสูญเสียรายได้ในช่วงที่มีการสั่งปิดด้วย 

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ