TNN online ชงบอร์ดอีอีซีผุดศูนย์แพทย์จีโนมิกส์

TNN ONLINE

Wealth

ชงบอร์ดอีอีซีผุดศูนย์แพทย์จีโนมิกส์

ชงบอร์ดอีอีซีผุดศูนย์แพทย์จีโนมิกส์

สกพอ. เตรียมเสนอ บอร์ด อีอีซี จัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ คาดดึงเม็ดเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  (กพอ.)  หรือ  บอร์ด อีอีซี ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. เตรียมเสนอที่ประชุมให้พิจารณาจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี  เพื่อสร้างความรู้ พัฒนาการให้บริการด้านแพทย์จีโนมิกส์ (GenomicMedicine) นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น


ทั้งนี้ สกพอ. ได้พิจารณาความเหมาะสมการจัดตั้งพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ตามคำขอการจัดตั้งจากมหาวิทยาบูรพา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง มีพื้นที่โครงการฯ ประมาณ 3.8 ไร่ เป็นอาคารรวม 12 ชั้น พื้นที่อาคารรวมประมาณ 24,000 ตารางเมตร มีการลงทุนในระยะแรก 1,700 ตารางเมตร และมีเงินลงทุนเครื่องมือทางด้านเทคนิคเพื่อนำไปสู่การให้บริการจากเอกชน ประมาณ 1,250 ล้านบาท ภายในเวลา 5 ปี  ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนจาก สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคาดว่าจะมีเงินลงทุนจากเอกชนราว 2 หมื่นล้านบาท


พร้อมกันนี้ จะเสนอบอร์ด อีอีซี เห็นชอบ กรอบวงเงิน 750 ล้านบาท ของโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ให้แก่ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทุกปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี เพื่อซื้อบริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม จำนวน 50,000 ราย รายละไม่เกิน 15,000 บาท โดยให้ สกพอ. ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการ พร้อมเร่งศึกษารูปแบบ แนวทางการจัดตั้ง และบริหารจัดการ


ในอนาคตการแพทย์จีโนมิกส์ จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างสุขภาพที่ดีของประชากรตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนกระทั่งเสียชีวิต โดยคาดว่าจะเกิดผลต่อเศรษฐกิจทั้งในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องสาธารณสุขได้ประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี โดยประเมินจากการลดอัตราการเกิด 5 โรคหลัก ได้แก่ 1.โรคหัวใจขาดเลือด 2.โรคเบาหวาน 3.โรคมะเร็ง 4.การติดเชื้อเอชไอวี 5.โรคหลอดเลือดสมอง


แผนการพัฒนาจีโนมิกส์ประเทศไทยยังเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศ และด้านการผลิต พัฒนาบุคลากรในสาขาจีโนมิกส์ให้ได้ 794 คน ภายระยะเวลา 5 ปี ใน 4 สาขา ได้แก่ 1.แพทย์ด้านเวชพันธุ์ศาสตร์ 34 คน และผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ 110 คน 2.สหสาขาวิชาชีพด้านพันธุศาสตร์ ชีววิทยาระดับโมเลกุล 3.พยาธิวิทยาระดับโมเลกุล 150 คน และ 4.นักชีวสารสนเทศ-นักระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ 500 คน



เกาะติดข่าวที่นี่ 

website: www.TNNThailand.com  
facebook : TNNThailand 
twitter : @TNNThailand 
Line : @TNNThailand 
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ