TNN online ไทยกำลังเผชิญกับคำว่า "เศรษฐกิจล้าหลัง"

TNN ONLINE

Wealth

ไทยกำลังเผชิญกับคำว่า "เศรษฐกิจล้าหลัง"

ไทยกำลังเผชิญกับคำว่า เศรษฐกิจล้าหลัง

ผลการศึกษาของ IMF ระบุในปี 2562 เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเจริญเติบโตที่ 2.9% ติดเป็นอันดับ 8 ในอาเซียน ชนะเพียงสิงคโปร์ที่มีอัตราความเจริญเพียง 1.8% และบรูไนที่เติบโตเพียง 0.5%

ปีนี้เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาทั้งรายได้ภาคเกษตรอ่อนแอจากทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม และจากปัญหาสงครามการค้าที่ส่งผลให้การส่งออกหดตัว ขณะเดียวกันเงินบาทไทยกลับแข็งค่าแรงกว่าคู่ค้า ส่งผลให้ผู้ส่งออกเสียความสามารถในการแข่งขัน นอกจากภาคการผลิตแล้ว ภาคการก่อสร้างยังอ่อนแอ จากความต้องการอสังหาริมทรัพย์ที่โตช้าตามภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง และผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์เองก็ชะลอโครงการใหม่จากภาวะอุปทานส่วนเกินที่มีมา

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อบ้าน อีกทั้งทางธปท. ออกเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น งบประมาณประจำปีมีความล่าช้า ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐชะลอตัว

ก่อนหน้านี้ ดร.อมรเทพ จาวลา นักวิชาการ  เผยว่า  มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลทำได้จำกัด อาจด้วยงบประมาณที่มีน้อย แม้ภาครัฐได้มีการออกมาตรการบัตรสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย แต่ก็ทำได้เพียงประคองกำลังซื้อไว้ไม่ให้ทรุดตัวมากไปกว่านี้ ในช่วงนี้มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ยังช่วยให้เศรษฐกิจไทยพอมีความหวังได้บ้าง แต่ก็คงต้องประเมินกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่อเนื่องว่าจะมีมากน้อยเพียงไรตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง

ที่แน่ๆ คือ เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงไปมากและยังไม่มีสัญญาณว่าจะกลับมาแข็งแกร่งได้อีกเมื่อไร เมื่อนโยบายการคลังยังไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ก็คงเป็นหน้าที่ของนโยบายการเงินที่จะต้องเข้ามาดูแลเศรษฐกิจ นั่นเป็นปัจจัยสำคัญในการลดดอกเบี้ยเพื่อหวังเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจและคนทั่วไปสามารถกู้ยืมเงินมาลงทุนและใช้จ่ายมากขึ้น หรือมีภาระดอกเบี้ยลดลง แต่การลดดอกเบี้ยจะช่วยเศรษฐกิจไทยได้เพียงไร ก็คงต้องมาติดตามกันต่อไปเพราะต่อให้ลด ก็ลดน้อย ลดช้า ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจไทยได้ชะลอตัวมาก่อนหน้าพอสมควรแล้ว

ผลการศึกษาของ IMF หรือ International Monetary Fund (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ระบุว่าในปี 2562 เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเจริญเติบโตที่ 2.9% ติดเป็นอันดับ 8 ในอาเซียน ชนะเพียงสิงคโปร์ที่มีอัตราความเจริญเพียง 1.8% และบรูไนที่เติบโตเพียง 0.5% เท่านั้น

ไทยกำลังเผชิญกับคำว่า เศรษฐกิจล้าหลัง

สำหรับในปีหน้า (2563) IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.0% หรือใกล้เคียงกับปีนี้ ซึ่งจะเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำเป็นอันดับที่ 9 ในอาเซียน คือจะชนะแค่สิงคโปร์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ 1.0% อย่างไรก็ตามขนาดของรายได้ประชาชาติต่อหัวของสิงคโปร์สูงกว่าไทยถึงประมาณ 7 เท่า การที่สิงคโปร์เติบโตเพียง 1% ก็ทำให้รายได้ต่อหัวของสิงคโปร์ยังเพิ่มขึ้นสูงกว่าไทยมาก

อย่างไรก็ตามในปี 2564-2567 IMF คาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ที่ 3.6% ตลอดช่วง 3 ปี ซึ่งก็ยังรั้งอยู่ที่อันดับ 8 ในอาเซียน ชนะแค่สิงคโปร์และบรูไนซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรมีความร่ำรวยกว่าไทยมาก  จะสังเกตได้ว่าแม้เศรษฐกิจสิงคโปร์จะเติบโตช้า รัฐบาลของเขาก็ไม่ได้กระตุ้นด้วยการส่งเสริมให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์  ต่างชาติที่ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ต้องเสียภาษีสูงถึง 20-25% เลยทีเดียว  และไม่มีการลดภาษีและค่าธรรมเนียมโอนแก่บริษัทพัฒนาที่ดิน (แทนที่จะลดให้ประชาชนเจ้าของประเทศ) อีกด้วย

ไทยกำลังเผชิญกับคำว่า เศรษฐกิจล้าหลัง

เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกโตโดยเฉลี่ยพอๆ กัน แต่ในช่วงปี 2562-2564เศรษฐกิจโลกยังเติบโตสูงกว่าเศรษฐกิจไทยเสียอีก  นี่แสดงว่าเศรษฐกิจไทยค่อนข้างแย่  แต่ในปี 2565-2567 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเจริญเติบโตเท่ากันที่ 3.6%  ดังนั้นที่มีสมมติฐานว่าเศรษฐกิจไทยได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นในตลอดหลายปีที่ผ่านมาจึงไม่จริง  ไทยเติบโตช้าเมื่อเทียบกับประเทศที่ด้อยกว่า เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม  แต่ไทยก็ยังด้อยกว่าประเทศที่มีฐานะพอๆ กัน คือ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย  ยิ่งกว่านั้นประเทศที่เจริญกว่าไทย คือ มาเลเซีย ก็ยังเติบโตเร็วกว่าไทย  ยกเว้นประเทศสิงคโปร์และบรูไนซึ่งเป็นประเทศเกาะเล็กๆ ที่เติบโตช้ากว่าไทยในขณะนี้

ส่วนอีกรายงานหนึ่ง มาดูของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ซึ่งได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2562 โดยมีประเด็นที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ประเทศที่ครองสามอันดับแรกยังคงเป็นกลุ่มเดิม ในขณะที่อันดับของประเทศไทยลดลง 2 อันดับ แม้ว่าจะมีคะแนนดีขึ้น 0.6 คะแนน

ไทยกำลังเผชิญกับคำว่า เศรษฐกิจล้าหลัง

ผลการจัดอันดับในภาพรวมปี 2562 ปรากฏว่าสิงคโปร์ได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 จากทั้งหมด 141 ประเทศ ตามด้วยสหรัฐอเมริกาและฮ่องกงตามลำดับ ในขณะที่ประเทศไทยมีอันดับลดลง 2 อันดับ จากอันดับที่ 38 ในปี 2561 เป็น 40 ในปี 2562 แม้จะทำคะแนนได้ดีขึ้นเล็กน้อย จาก 67.5 เป็น 68.1 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในภาพรวมดีขึ้นเล็กน้อย แต่การเปลี่ยนแปลงในรอบปีที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนและรวดเร็วมากพอเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

2.จุดเด่นและประเด็นที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมจากผลการจัดอันดับโดย WEF

2.1 ฐานขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยเด่น ได้แก่ 

ไทยกำลังเผชิญกับคำว่า เศรษฐกิจล้าหลัง

1) สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ ซึ่งได้คะแนน 90 จาก 100 คะแนน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและการบริหารจัดการหนี้ที่เสถียร 

2) ภาคการเงินที่เข้มแข็ง ซึ่งได้คะแนน 85.1 จาก 100 และอยู่ในอันดับที่ 16 ของโลก และ 

3) กรอบกฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นและยุติการประกอบธุรกิจได้โดยง่ายและส่งผลให้ธุรกิจมีพลวัตที่สูง ซึ่งได้คะแนน 72.0 จาก 100 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 21

2.2 ด้านที่ได้มีการปรับปรุงและมีผลที่ชัดเจนมากขึ้น ได้แก่ การนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมสารสนเทศมาใช้ (ICT adoption) ซึ่งมีคะแนนดีขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั้งในรูปแบบไม่เคลื่อนที่และเคลื่อนที่ (Fixed and mobile) ส่งผลให้อันดับรวมด้านนี้ดีขึ้น 2 อันดับ (จากอันดับที่ 64 เป็นอันดับที่ 62 และมีคะแนน 60.1 จาก 100 คะแนน) ในขณะที่ความโปร่งใสของงบประมาณ (Budget Transparency) มีอันดับดีขึ้น 25 อันดับ สำหรับด้านอื่นที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ภาระกฎระเบียบของภาครัฐและประสิทธิภาพของบริการรถไฟ

2.3 ด้านที่ต้องเร่งพัฒนาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม (Innovation capability) ซึ่งเป็นด้านที่ไทยอยู่ห่างจากบรรทัดฐานโลก (Frontier) มากที่สุด โดยได้คะแนน 43.9 จาก 100 คะแนน

ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในด้านนี้ควบคู่ไปกับปรับปรุงปัจจัยสนับสนุนด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดถ่ายทอดเทคโนโลยี (spillovers) ระหว่างบริษัทต่างชาติและผู้ประกอบการไทย รวมทั้งความร่วมมือระหว่างบริษัทที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงกับบริษัทอื่น ๆ ในประเทศ นอกจากนี้ ภาครัฐควรกระตุ้นให้ผู้ประกอบการแสวงหาการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเพื่อให้เกิด Startup Unicorn ของเอเชียสัญชาติไทย ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้นั้น จะต้องอาศัยการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนในด้านการวิจัยและพัฒนาในระยะยาว เนื่องจากตัวชี้วัดในด้านดังกล่าวในปี้นี้มีคะแนนเพียง 33.6 จาก 100 คะแนน ขณะที่ความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมระหว่างบริษัทและมหาวิทยาลัย มีคะแนน 52.1 จาก 100 คะแนน

2.4 ด้านอื่น ๆ ที่ควรเฝ้าระวังและต้องเร่งปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ด้านทุนทางสังคม (Social capital) ซึ่ง WEF ได้ประเมินจากรากฐานความร่วมมือกันทางสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจสังคม และการเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน รวมทั้งด้านการศึกษา ที่ต้องปรับปรุงด้านปีการศึกษาเฉลี่ยและทักษะแรงงานที่จบการศึกษา นอกจากนี้ การแข่งขันในภาคบริการก็ยังต้องเร่งปรับปรุงเพื่อให้มีความก้าวหน้าที่ชัดมากขึ้นเช่นกัน

ไทยกำลังเผชิญกับคำว่า เศรษฐกิจล้าหลัง

3.ข้อสังเกตจากข้อมูลเบื้องต้นของรายงานผลการจัดอันดับฯ โดยWEF

3.1 การจัดอันดับของ WEF ในปีปัจจุบันได้เพิ่มตัวชี้วัดที่สะท้อนความน่าเชื่อถือของภาครัฐในด้านเสถียรภาพของนโยบาย ความสามารถในการปรับตัว และความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐมากถึง 7 ตัวชี้วัด (ตัวชี้วัดที่ 1.20 – 1.26) ซึ่งประเทศไทยมีคะแนนและอันดับอยู่ในระดับปานกลาง กอปรกับการที่ยังไม่เห็นพัฒนาการในเชิงบวกที่ชัดเจนของตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่ม (Pillar) เดียวกัน ส่งผลให้ด้านกรอบบริหารเชิงสถาบัน (Institution) ของประเทศไทยตกลง 7 อันดับ จากอันดับที่ 60 เป็น 67

3.2 แม้ในด้านคะแนนจะเห็นพัฒนาการในหลาย ๆ ด้าน แต่อันดับที่ลดลงสะท้อนว่าการพัฒนาของประเทศไทยอาจยังไม่เร็วพอที่จะก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญและเร่งรัดการแก้ปัญหาให้เกิดผลสำเร็จที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เป็นจุดอ่อนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมายาวนานและการแก้ปัญหาต้องใช้เวลาในการดำเนินการหรือปฏิรูป 

1) เร่งพัฒนาระบบการศึกษาให้เข้าถึงง่ายขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนปีการศึกษาของคนไทย รวมถึงเร่งพัฒนาด้านคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาที่จบมามีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาด และมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์มากขึ้น

2) กระตุ้นให้หน่วยงานรับผิดชอบด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นจุดอ่อน เร่งดำเนินแผนงาน/โครงการ ควบคู่กับการจัดทำข้อมูลรายงานความก้าวหน้าให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น ด้านปัญหาความเสี่ยงน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ที่อันดับต่ำมาก และในปีนี้อันดับลดลงอีก 2 อันดับ

3) เฝ้าระวังการครอบงำตลาด ภาษีนำเข้า – ส่งออกที่มีอัตราสูงและซับซ้อน รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่มีผลกระทบสูงต่อภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มตัวชี้วัดที่ยังเป็นจุดด้อยของประเทศไทย

นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่ง ที่บอกว่า เศรษฐกิจไทยจึงยังเสี่ยงโตช้าลากยาวไปปีหน้า โดยเฉพาะเมื่อความไม่แน่นอนในปัญหาสงครามการค้ายังคงมีต่อไป ซึ่งจะกดดันบรรยากาศการลงทุนและการค้าโลก ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปีนี้  

ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่า เศรษฐกิจในหลายประเทศต้องพึ่งพานโยบายการเงินและการคลังเป็นอย่างมาก เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจยังคงสามารถเติบโตต่อได้ โดย “ดอกเบี้ยนโยบาย” กลายเป็นเครื่องมือที่ธนาคารกลางทั่วโลกหยิบนำมาใช้เพื่อหวังกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของบางประเทศและบางแห่งอยู่ในระดับที่ใกล้ศูนย์หรือติดลบอีกด้วย เช่น ธนาคารกลางยุโรปที่ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014 และมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางยุโรปให้กับธนาคารพาณิชย์ (deposit facility rate) อยู่ที่ระดับ -0.5% โดยต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงเป็นการกระตุ้นให้มีการกู้เงินเพื่อนำเอากำลังซื้อของอนาคตมาใช้ หรือเป็นการนำเอาเงินในอนาคตมาใช้บริโภคในปัจจุบันนั้นเอง ถึงแม้ว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะสั้น แต่การใช้เครดิตก็มีข้อจำกัดเพราะอาจทำให้ผู้บริโภคมีหนี้สินล้นพ้นตัว และความสามารถในการชำระหนี้จะมีความตึงตัวมากขึ้น ส่งผลให้สุดท้ายจะเกิดความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้ 

ไทยกำลังเผชิญกับคำว่า เศรษฐกิจล้าหลัง

ทั้งนี้ นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายนั้นส่งผลให้ยอดหนี้สะสมทั่วโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้น โดยจากข้อมูลของ Institute of International Finance ยอดหนี้สะสมทั่วโลก ณ ไตรมาสแรกของปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 246.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 320% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งโลก ซึ่งจะเห็นได้จากกราฟหน้าถัดไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดลงเล็กน้อยจากยอดสูงสุดในช่วงต้นปี 2018 แต่จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายของหลายประเทศทั่วโลกที่กระตุ้นให้คนกู้เงินง่ายขึ้น คาดว่ายอดหนี้สะสมจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ตึงตัวขึ้น

ดร. อมรเทพ จาวลา วิเคราะห์ไว้น่าสนใจว่า ถึงแม้ว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าอย่างน้อยได้ช่วยทำให้บรรยากาศการลงทุนและบริโภคในประเทศผ่อนคลายความกังวลลงบ้าง จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงและสภาพคล่องที่มากขึ้น แต่กว่าผลการลดดอกเบี้ยจะส่งผ่านมาถึงเศรษฐกิจที่แท้จริงก็อาจกินเวลานานราว 4-6 ไตรมาส เพราะกว่าเอกชนจะเข้าไปกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่ม กว่าจะมีการลงทุนการผลิตเพิ่ม กว่าจะมีการจ้างงานเพิ่ม กว่าผู้ได้รับเงินจ้างจะจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม กระบวนการนี้ใช้เวลานานพอสมควร ดังนั้น ทางธปท. ยังอาจติดกับดักของนโยบายการเงินได้อยู่ดังนี้

ไทยกำลังเผชิญกับคำว่า เศรษฐกิจล้าหลัง

1. กับดักสภาพคล่อง – ลดดอกเบี้ยแต่ สินเชื่อไม่ขยายตัว จากปัญหาที่ทั้งธนาคารพาณิชย์กังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจโตช้าและผู้ลงทุนเองก็ไม่มั่นใจในอนาคต ทางแก้คงต้องหวังให้มีนโยบายการคลังมากระตุ้น

2. กับดักอัตราแลกเปลี่ยน – ลดดอกเบี้ยแต่ เงินบาทไม่ชะลอการแข็งค่า และมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนต่างชาติอาจเข้ามาเก็งกำไรในพันธบัตรระยะยาวที่อัตราผลตอบแทนอาจลดต่ำได้อีก (ราคาขึ้น) หากคาดว่ากนง. จะลดดอกเบี้ยได้มากขึ้น

3. กับดักเงินเฟ้อ – ลดดอกเบี้ยแต่ เงินเฟ้อยังต่ำ นั่นเพราะปัญหาเงินเฟ้อต่ำเป็นปัญหาจากราคาน้ำมันต่ำเหนือการควบคุมของ ธปท. แม้ไม่ใช่ปัญหาเงินฝืดแต่หากปล่อยไว้นานในภาวะที่เศรษฐกิจโตช้า เงินเฟ้ออาจอยู่ในระดับต่ำนี้ลากยาวจนไม่สามารถเพิ่มได้ด้วยการลดดอกเบี้ย เพราะคนขาดแรงจูงใจในการใช้จ่ายและลงทุน

4. กับดักการเติบโต – ลดดอกเบี้ยแต่ เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้า เพราะปัญหาสงครามการค้า ขณะที่การส่งผ่านของการลดดอกเบี้ยสู่การลงทุน การจ้างงาน และการบริโภคเป็นไปอย่างช้า คงต้องหวังมาตรการทางการคลังมาขับเคลื่อน

5. กับดักเสถียรภาพการเงิน – ลดดอกเบี้ยแต่ ไม่สามารถคุมเสถียรภาพการเงินได้ โดยเฉพาะปัญหาการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงภายใต้ดอกเบี้ยต่ำยาว การลดดอกเบี้ยกลับทำให้มีปัญหาด้านเสถียรภาพการเงินมากขึ้นหากคนเข้าไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงโดยไม่ประเมินความเสี่ยงให้ดี

6. กับดักความเชื่อมั่น – ลดดอกเบี้ยแต่ ความเชื่อมั่นนักลงทุนหายเพราะไม่มั่นใจว่าธปท. ยังมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายได้เพิ่มเติมหรือไม่

สุดท้ายต้องรอดูว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมต่อเนื่องจากการลดดอกเบี้ยนอกจากมาตรการผ่อนคลายทุนเคลื่อนย้ายหรือไม่ และจะมีมาตรการทางการคลังที่เข้มแข็งพอจะมากระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อไร เพราะหากไม่มีแล้ว เศรษฐกิจไทยก็เสี่ยงโตต่ำกว่าศักยภาพและอาจซึมยาวไปถึงปีหน้าได้ 


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง