TNN online สภาสหรัฐเตรียมถอด “ทรัมป์”ฉุดดาวโจนส์ดิ่งแรง

TNN ONLINE

Wealth

สภาสหรัฐเตรียมถอด “ทรัมป์”ฉุดดาวโจนส์ดิ่งแรง

สภาสหรัฐเตรียมถอด “ทรัมป์”ฉุดดาวโจนส์ดิ่งแรง

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก ดาวโจนส์ปิดร่วง 142.22 จุด วิตกข่าวสภาสหรัฐเตรียมถอดถอน"ทรัมป์"ออกจากตำแหน่งปธน.

วันนี้ (25 ก.ย. 62)ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (24 ก.ย.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความปั่นป่วนทางการเมืองในสหรัฐ หลังจากประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเปิดฉากการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ฐานติดต่อกับรัฐบาลต่างชาติให้เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐ

 

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่าการเจรจาการค้าอาจสะดุดลง หลังจากปธน.ทรัมป์ได้กล่าวโจมตีจีนบนเวทีสหประชาชาติ (UN)
 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่26,807.77 จุด ลดลง 142.22 จุด หรือ -0.53% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่2,966.60 จุด ลดลง 25.18 จุด หรือ -0.84%ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,993.63 จุด ลดลง 118.83 จุด หรือ -1.46%

 

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การเมืองที่ผันผวนในสหรัฐ โดยรายงานล่าสุดระบุว่า นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ประกาศการเริ่มกระบวนการไต่สวนอย่างเป็นทางการ เพื่อถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง หลังจากมีรายงานว่า ปธน.ทรัมป์ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เพื่อกดดันให้มีการสอบสวนนายโจ ไบเดน อดีตรองปธน.สหรัฐ ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญของปธน.ทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้า โดยการกระทำดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐ
 

นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจสะดุดลง หลังจากปธน.ทรัมป์ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์จีนในเวทีการประชุมสมัชชาใหญ่ UN เมื่อวานนี้ว่า จีนมีการดำเนินการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และเขาจะไม่ยอมรับข้อตกลงการค้าที่ทำให้ชาวอเมริกันเสียเปรียบ
  

"จีนไม่เพียงแต่ไม่ได้ทำการปฏิรูปตามที่ได้ให้สัญญาไว้ แต่ยังมีรูปแบบเศรษฐกิจที่อิงบนการสร้างอุปสรรคขวางกั้นการเข้าสู่ตลาด ขณะที่รัฐบาลให้การอุดหนุนจำนวนมาก มีการปั่นค่าเงิน มีการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี และขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และขโมยความลับทางการค้าจำนวนมาก" ปธน.ทรัมป์กล่าว

หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ดิ่งลง 4.26% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าภาวะการแข่งขันสูงในธุรกิจสตรีมมิ่ง อาจจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของเน็ตฟลิกซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคู่แข่งอย่างดิสนีย์ ประกาศเปิดตัวบริการสตรีมมิ่งในชื่อ ดิสนีย์ พลัส (Disney Plus) และเสนออัตราค่าบริการที่ถูกกว่าเน็ตฟลิกซ์
  

หุ้นแอปเปิลปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดปิดตลาดเมื่อคืนนี้ลดลง 0.48% แม้นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์เจฟเฟอรีส์ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นแอปเปิลขึ้นสู่ระดับ "buy" จากระดับ "hold" ก็ตาม

 

หุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 3% หลังจากเฟซบุ๊กประกาศซื้อกิจการ CTRL-Labs ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอุปกรณ์ควบคุมคอมพิวเตอร์ด้วยคลื่นสมอง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า สภาคองเกรสของสหรัฐจะจับตาการซื้อกิจการ CTRL-Labsอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สมาชิกสภาคองเกรสได้ประชุมร่วมกับนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อหารือเกี่ยวกับความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก

 

หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบWTI โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 1.4% หุ้นเชฟรอน ลดลง 0.9% หุ้นเชซาพีค เอนเนอร์จี ดิ่งลง6% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ร่วงลง 5.4% หุ้นอาปาเช คอร์ป ร่วงลง 3.06

 

 หุ้นบริษัทจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงเป็นส่วนใหญ่ นำโดยหุ้น 58.com ดิ่งลง 5.29% หุ้นไป่ตู้ ร่วงลง 4.65%

 

นอกเหนือจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเมืองและสถานการณ์การค้าแล้ว ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับปัจจัยลบจากผลสำรวจของสถาบัน Conference Board ซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ125.1 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 9เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 133.5จากระดับ 134.2 ในเดือนส.ค.

 

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น3.2% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.2% เช่นกันในเดือนมิ.ย.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค.จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์,ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2562,ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนส.ค.ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนส.ค.การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนส.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง