สรุปความเสียหายน้ำท่วม 67 ล็อตแรก
สรุปความเสียหายน้ำท่วม 67 ล็อตแรก
กรมส่งเสริมการเกษตรได้เริ่มสำรวจความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย และปริมาณฝนที่ตกมากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและลุ่มน้ำ
ขณะนี้มีพื้นที่การเกษตรด้านพืช ได้รับผลกระทบ 33 จังหวัด และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 21 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด พะเยา จันทบุรี พิจิตร กาญจนบุรี ตาก ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ ตราด ขอนแก่น นครนายก แพร่ พิษณุโลก อุดรธานี เลย เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน
เบื้องต้นมีเกษตรกร 112,049 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 701,525 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 588,231.25 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 86,534.25 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ 26,759.50 ไร่ พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เกษตรกร
กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้เตรียมการสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืช (ศขพ.) จำนวน 10 แห่ง ได้จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์พืชไว้พร้อมแล้ว ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นที่เกษตรกรสามารถนำไปปลูกเพื่อเป็นอาหาร ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวและเพิ่มรายได้ เช่น เมล็ดพันธุ์พืชผัก จำนวน 92,000 ซอง ประกอบด้วย พริก มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู และกระเจี๊ยบเขียว ต้นพันธุ์พืชผักพืชอาหาร จำนวน 28,000 ซอง และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้น
รวมทั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช (ศทอ.) จำนวน 9 แห่ง ได้ดำเนินการจัดเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มา ทั้งแบบพร้อมใช้ และหัวเชื้อขยาย พร้อมสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรนำใช้ในการฟื้นฟูป้องกันเชื้อสาเหตุโรคพืชสำหรับพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลหลังน้ำลด และยังเปิดจุดบริการซ่อมเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย
ด้านกรมประมง โดย นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้เร่งสำรวจความเสียหายของเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ (ด้านการประมง) ในพื้นที่ 4 จังหวัด เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2567) พบว่ามีพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 34 อำเภอ เกษตรกร จำนวน 7,405 ราย
พื้นที่ได้รับความเสียหาย 5,638.57 ไร่ ปริมาณการมูลค่าความเสียหาย 85,717,602 บาท วงเงินช่วยเหลือ 33,608,791.04 บาท โดยกรมประมงจะเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวประมง
ข่าวแนะนำ