เจาะลึกมาตรการช่วยลูกหนี้บัตรเครดิต
เจาะลึกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิต ที่"ธปท."ประกาศผ่อนปรน
เศรษฐกิจInsight วันนี้จะพาไปเจาะลึกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิต ที่ธปท.ประกาศผ่อนปรนมาตรการเพิ่มเติมล่าสุด ทั้งกรณีลูกหนี้จ่าย Min Pay ไหว และไม่ไหว รวมถึงมาตรการรวมหนี้ และการแก้หนี้เรื้อรัง
ข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาสแรก ปี 2567 มียอดคงค้าง 16,370,603 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 90.8 หากแยกตามประเภทสินเชื่อพบว่า สินเชื่อบ้าน หรือหนี้บ้านมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 34 รองลงมากเป็นหนี้ส่วนบุคคลมีสัดส่วนร้อยละ 25 สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพร้อยละ 18 สินเชื่อรถยนต์ร้อยละ 11 สินเชื่อบัตรเครดิตร้อยละ 3 และอื่นๆ ร้อยละ9
หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ความสำคัญแก้ปัญหาโดยเร่งรัดสถาบันการเงินให้ช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่ม ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 และจากการเร่งรัดดังกล่าวพบว่า 4 เดือนแรกของปีนี้ลูกหนี้ที่มีปัญหาได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องรวม 820,000 บัญชี หรือ 230,000 ล้านบาท คิดเป็น 5.3 เท่าของ SM และ NPL ที่เพิ่มขึ้น และลูกหนี้กลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 85 เป็นการช่วยเหลือแบบ pre-emptive หรือลักษณะเชิงป้องกัน นั่นหมายความว่า หากลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อาจทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้กลายเป็น NPL
ทั้งนี้ SM คือ หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) ซึ่งหมายถึงหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน หรือหนี้ที่กำลังจะเสีย) และNPL คือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan )
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการใช้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในเชิงรุก แต่ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ครบถ้วน เนื่องจากยังมีลูกหนี้บางส่วนที่สถาบันการเงินติตต่อไม่ได้ โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล) ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ประมาณร้อยละ 60 ขณะที่สินเชื่อที่มีหลักประกันไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ประมาณร้อยละ 30
จากปัญดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ NPL หนี้บัตรเครดิตยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนจากข้อมูล NPL ที่ธปท. รายงานล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า NPL หนี้บัตรเครดิต เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.13 ของพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิต (YoY) ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับสินเชื่ออุปโภคบริโภคทุกประเภท
ทั้งนี้ ธปท. ชี้แจงไว้ว่า NPL บัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ หลักๆ เป็นผลจากฐานสินเชื่อที่ลดลงถึง 22,000 ล้านบาท จึงทำให้ NPL สูงขึ้น แต่หากปรับฐานของสินเชื่อที่ลดลงออกไป NLP หนี้บัตรเครดิตจะอยู่ที่ร้อยละ 3.75 นอกจากนี้ NPL หนี้บัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นนี้ ธปท.ระบุว่าส่วนใหญ่เป็น กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมา หรือรายได้ฟื้นตัวช้า จึงทำให้กลายหนี้ด้อยคุณภาพลง
อย่างไรก็ดี ปัญหา NPL หนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลของมาตรการธปท. ที่ปรับ Min Pay (Minimum Payment) หรืออัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ หรือ ของบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8 ของยอดใช้จ่ายที่ต้องชำระ มีผลวันที 1 มกราคม 2567 จากเดิมผ่อนปรนให้ชำระขั้นต่ำร้อยละ 5 ในช่วงเกิดวิกฤตโควิด และตามแผนจะปรับกลับไปสู่ระดับปกติที่ร้อยละ 10 ในเดือนมกราคม 2568 ( ทั้งนี้ ปกติ ธปท. กำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตไว้ที่ร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2547)
การปรับ Min Pay เพิ่มขึ้นทำให้กลุ่มเปราะบางจ่ายไม่ไหว จึงมีการเรียกร้องให้ธปท. ทบทวนปรับลด Min Pay ของบัตรเครดิตกลับไปอยู่ที่ร้อยละ 5 แต่ล่าสุดธปท.ได้พิจารณาทบทวนปรับเกณฑ์การผ่อนชำระขั้นต่ำ รวมถึงแนวทางช่วยลูกหนี้บัตรเครดิต ไม่ปรับลด Min Pay แต่ผ่อนปรนมากขึ้น ดังนี้ โดยผ่อนปรนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต โดยกำหนดให้ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 8 ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่กำหนดให้อัตราดังกล่าวกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
ด้าน นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า เหตุผลที่ธปท. ไม่ปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำกลับไปที่ร้อยละ 5 เพราะกังวลว่าจะทำให้หนี้ครัวเรือนโดยรวมไม่ลดลง และการคงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำที่ร้อยละ 8 ได้คำนึงถึงระยะเวลาการปิดจบหนี้และภาระที่จ่ายทั้งหมดของลูกหนี้ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ต่อเดือนในปัจจุบัน และการมีมาตรการอื่นรองรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ
โดยการจ่าย Min Pay ที่ร้อยละ 8 จะทำให้ลูกหนี้มีภาระที่ต้องจ่ายหนี้คืนโดยรวมน้อยกว่า และปิดจบได้เร็วกว่า เมื่อเทียบกับการจ่ายอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำร้อยละ 5 มาดูตัวอย่างกัน เช่นกรณียอดหนี้บัตรเครดิต 30,000 บาท การจ่าย Min Pay ที่ร้อยละ 10 จะทำให้ปิดหนี้ได้ภายใน 4 ปี มีภาระรวม 34,542 บาท ส่วนการจ่าย Min Pay ที่ร้อยละ 8 จะทำให้ปิดหนี้ได้ภายใน 5 ปี มีภาระรวม 35,877 บาท ขณะที่การจ่าย Min Pay ที่ร้อยละ 5 จะทำให้ปิดหนี้ได้ภายใน 8 ปี มีภาระรวม 40,523 บาท
ดังนั้น การจ่าย Min Pay ขั้นต่ำที่ร้อยละ 8 ทำให้ลูกหนี้มี Room ของสินเชื่อใหม่ได้เร็วขึ้น แต่การปิดจบหนี้ช้าลง หรือระหว่างที่ลูกหนี้ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ ลูกหนี้จะมี Room น้อยลงในการไปขอสินเชื่อใหม่ หรือการขอสภาพคล่องใหม่และสภาพคล่องเพิ่มเติมจะเป็นไปได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ดี เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้นและมีภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญาลดลง ธปท.จึงออกออกมาตรการจูงใจ โดยลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 8 จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ของยอดค้างชำระ สำหรับครึ่งปีแรก ( ม.ค.-มิ.ย.68) และร้อยละ 0.25 สำหรับครึ่งปีหลัง ( ก.ค.-ธ.ค.) ของปี 2568 โดยได้รับคืนทุก 3 เดือน
ทั้งนี้ ธปท. ระบุว่า มาตรการเครดิตเงินคืนจะทำให้ลูกหนี้ที่มีความสามารถชำระหนี้ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ลดลง ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 16 ต่อปี แต่สถาบันการเงินผู้ให้บริการบัตรเครดิต จะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้โดยจะสูญเสียรายได้จากดอกเบี้ยที่ลดลงรวมปีละราว 1,000 ล้านบาท แต่กรณีลูกหนี้ที่จ่าย min pay ร้อยละ 8 ไม่ไหว ธปท.ก็มีมาตรการช่วยเหลือ เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้งและหลังเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้ง
โดยแบ่งเป็นในกรณีลูกหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายได้ถึงร้อยละ 8 แต่จ่ายได้ตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไป สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย โดยเปลี่ยนประเภทหนี้ของบัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) เพื่อจ่ายชำระเป็นงวด โดยลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือ จากเดิมต้องปิดวงเงินทันที ทั้งนี้ การพิจารณาให้สภาพคล่องจากวงเงินเครดิตที่เหลือขึ้นอยู่กับดุพินิจของสถาบันการเงินแต่ละแห่งซึ่งต้องดูความสามารถในการชำระหนี้ทั้งรายได้ และภาระหนี้รวมของลูกค้าแต่ละรายด้วย โดยธปท. เชื่อว่าลูกหนี้เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น เพราะจากที่ธปท.หารือกับสถาบันการเงิน พบว่าการปิดวงเงินคงเหลือทันทีหลังปรับโครงสร้างหนี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้ลูกหนี้ไม่เข้ายอมเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้
นอกจากนี้ ในกรณีลูกหนี้เข้าโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธปท. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้เพิ่มเติมด้วย เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง ธปท. จะดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน 2567
ส่วนกรณีลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายขั้นต่ำได้ถึงร้อยละ 8 แต่จ่ายไม่ถึงร้อยละ 5 ลงมา ยังสามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ได้ เช่น เปลี่ยนจากหนี้บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) แต่จะไม่สามารถใช้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือได้
อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาหนี้กับหมอหนี้ได้ และเข้าร่วมในโครงการคลินิกแก้หนี้ได้หากเป็น NPL ทั้งนี้ จากมาตรการที่ธปท.ออกมานั้น พบว่า ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2567 มีกลุ่มลูกหนี้ที่จ่าย Min Pay ร้อยละ 8 ไม่ไหว หรือเป็นกลุ่มเปราะบางเพียงร้อยละ 7 ของบัญชีบัตรเครดิตทั้งหมด และกลุ่มที่จ่ายมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 8 มีสัดส่วนร้อยละ 93 ของบัญชีบัตรเครดติทั้งหมด
นอกจากการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ธปท.ส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันการเงินให้ความเหลือลูกหนี้ด้วย “การรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย” (Debt Consolidation) โดยผ่อนปรนเงื่อนไขอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน (loan-to-value ratio : LTV ) ในทุกลำดับสัญญาสำหรับกรณีรวมหนี้ ให้สามารถเกินกว่าเพดานที่กำหนด
น.ส.เขมวันต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า สาเหตุที่ธปท.ผ่อนเกณฑ์ LTV กรณีรวมหนี้ เนื่องจากธปท. ได้คุยกับเจ้าหนี้และลูกหนี้มาพบว่ามีข้อติดขัดจากเกณฑ์ LTV โดยเมื่อนำสินเชื่อรายย่อยมารวมกับหนี้บ้าน ทำให้วงเงินสินเชื่อบ้านหลังรวมหนี้เกินมูลค่าหลักประกันที่ธปท.กำหนดไว้จึงไม่สามารถรวมหนี้ได้
ตัวอย่างเช่น(ภาพกราฟฟิก) สินเชื่อบ้านหลังแรกสถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้ได้ร้อยละ 100 ของมูลค่าหลักประกัน หากสถาบันการเงินให้กู้เต็มมูลค่าหลักประกัน 100 เมื่อผ่อนจ่ายแล้ว สินเชื่อจะลดลงต่ำกว่ามูลค่าหลักประกัน ทำให้มีวงเงินสินเชื่อเหลือเมื่อเทียบกับมูลค่าหลักประกัน สมมติว่ามูลค่าหลักประกันเหลือ 30 ดังนั้นหากลูกหนี้ต้องการโอนสินเชื่อรายย่อย (บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล) มารวมกับสินเชื่อบ้านที่มีหนี้เหลือ 70 หากเกินมูลค่าหลักประกัน เช่น โอนสินเชื่อมา 35 รวมแล้วเป็น 105 เกินมูลค่าหลักประกัน 100 กรณีแบบนี้ที่ผ่านมาจะไม่สามารถรวมหนี้ได้ แต่รอบ นี้ธปท. ผ่อนเกณฑ์ให้เกินได้ทุกลำดับสัญญาสินเชื่อบ้าน เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการที่เป็นผู้รวมหนี้ต้องดูแลให้ภาระของลูกหนี้ภายหลังการรวมหนี้บรรเทาลงกว่าก่อนรวมหนี้ เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม และค่างวดที่ต้องชำระต่ำกว่าค่างวดรวมที่เคยจ่าย โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในปี 2568
อีกมาตรการที่ธปท.ทบทวนและผ่อนปรนมากขึ้น คือ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง หรือลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมมาแล้ว 5 ปี โดยขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายใน 5 ปี เป็น 7 ปี (อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่าเดิม) เพื่อให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องชำระปรับลดลง และลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินสินเชื่อส่วนที่เหลือจากเดิมจะต้องปิดวงเงินทัน โดยมาตรการจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
น.ส. อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธปท.กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องผ่อนเกณฑ์ดังกล่าวเนื่องจากพบว่าลูกหนี้เข้าโครงการปิดหนี้น้อยมากหรือเพียงร้อยละ 1-2 ของบัญชีลูกหนี้เรื้อรังทั้งหมด 500,000 บัญชี โดยมูลหนี้เรื้อรังรวมอยู่ที่ 14,400 ล้านบาท เพราะกลัวถูกตัดสภาพคล่องจากวงเงินสินเชื่อส่วนที่เหลือ และการปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี อาจเป็นภาระจ่ายต่องวดมากเกินไปจึงขยายเวลาให้เป็น 7 ปี เพื่อลดภาระการชำระให้น้อยลง
ทั้งนี้ ธปท. คาดหวังว่าการปรับเกณฑ์แก้หนี้เรื้อรังเพื่อปิดจบหนี้รอบนี้ จะทำให้ลูกหนี้สนใจเข้าร่วมมาตรการเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนบัญชีลูกหนี้เรื้อรังทั้งหมด
มาตรการที่ผ่อนปรนทั้งหมดนี้ ธปท.คาดหวังว่าลูกหนี้บัตรเครดิตจะสามารถแก้หนี้ได้อย่างยั่งยืน และมีส่วนช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนในส่วนนี้ลงได้บ้าง และธปท. จะติดตามประสิทธิผลและผลข้างเคียงของมาตรการอย่างใกล้ชิด และจะพิจารณาปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ข่าวแนะนำ