รายได้โอลิมปิก 4 ปีย้อนหลัง เจ้าภาพ "ขาดทุน" หรือ "กำไร"
รายได้โอลิมปิก 4 ปีย้อนหลัง เจ้าภาพ "ขาดทุน" หรือ "กำไร"
เราเคยรู้สึกชื่นชมและอิจฉาการได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของประเทศต่าง ๆ โดยที่ไม่เคยได้รู้ความจริงที่เจ็บปวดของประเทศเหล่านั้นเลย แน่นอนว่าคนจัดย่อมได้หน้าในสังคมโลก แต่ลับหลังนั้นกลับต้องแบกการขาดทุนมหาศาล แม้จะเป็นความพิเศษของการจัดทุก 4 ปี เป็นมหกรรมงานกีฬาที่ยิ่งใหญ่ ที่คนทั่วโลกรอคอย แต่คนจัดงานคอตก
.
ข้อมูลโอลิมปิกตั้งแต่ปี 2008 ที่ปักกิ่ง จนถึงโตเกียวในปี 2020 จากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ International Olympic Committee (IOC) พบกว่า ประเทศที่เป็นเจ้าภาพ มีการลงทุนมหาศาล
.
เริ่มตั้งแต่หากต้องการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกต้องผ่านระบบการประมูล ประเทศไหนประมูลได้มากที่สุด ก็ได้เป็นเจ้าภาพไป ดังนั้นค่าใช้จ่ายก้อนแรกคือ เงินที่ใช้ในการประมูล ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการจัดงาน และเมื่อได้เป็นเจ้าภาพแล้ว ก็ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับการจัดแข่งขันกีฬา ตั้งแต่สนามจัดการแข่งขัน ที่พักนักกีฬา ระบบขนส่ง ไปจนถึงระบบรักษาความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ
.
โดยหากดูเจ้าภาพโอลิมปิกในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า ปี 2008 ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน ตั้งงบประมาณไว้ 6.3 แสนล้านบาท
ค่าใช้จ่ายจริง 1.4 ล้านล้านบาท ปี 2012 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตั้งงบประมาณไว้ 1.6 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายจริง 5.7 แสนล้านบาท ปี 2016 ที่รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ตั้งงบประมาณ 4.4 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายจริง 6.3 แสนล้านบาท และปี 2020 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตั้งงบประมาณไว้ 4.6 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายจริง 6.0 แสนล้านบาท
.
แต่ปัญหานี้คงไม่เป็นไร ถ้าประเทศเจ้าภาพหารายได้เข้ามาชดเชยกับค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไปได้ครบถ้วน แต่ในช่วงที่ผ่านมา เรื่องราวกลับตรงกันข้าม โดยปี 2008 ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน มีรายได้เพียง 1.7 แสนล้านบาท ปี 2012 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษมีรายได้เพียง 2.5 แสนล้านบาท ปี 2016 ที่รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล มีรายได้เพียง 2.9 แสนล้านบาทค่าใช้จ่ายจริง 6.3 แสนล้านบาท และปี 2020 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีรายได้เพียง 0.2 แสนล้านบาท
.
กลายเป็นว่าประเทศเจ้าภาพขาดทุนมหาศาล เนื่องจากส่วนแบ่งรายได้การจัดกีฬาโอลิมปิก ไม่ได้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปซึ่งรายได้ตรงนี้ มีตั้งแต่การได้สิทธิ์ขายของที่ระลึกในงานกีฬา ส่วนแบ่งค่าตั๋วเข้าชม และค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด จาก IOC บางส่วน แต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ กลับตกเป็นภาระของประเทศเจ้าภาพ มากกว่า IOC
.
เมื่อมองย้อนกลับมาที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ซึ่งเป็นคนคอยจัดการแข่งขัน และจัดหารายได้กันบ้าง กลายเป็นว่าจากกีฬาโอลิมปิกที่จัดขึ้นทุก 4 ปีกลับได้กำไรเกือบทุกปีที่มีการจัดงานกีฬาโอลิมปิก โดยผลการดำเนินงานของ IOC ในปีที่มีการจัดโอลิมปิก จะพบว่า ปี 2012 มีรายได้ 118,889 ล้านบาท กำไร 30,197 ล้านบาท ปี 2016 มีรายได้ 126,133 ล้านบาท กำไร 23,957 ล้านบาท ปี 2021 (ปีที่เลื่อนจัดโอลิมปิกโตเกียว) มีรายได้ 150,371 ล้านบาท กำไร 30,487 ล้านบาท
.
จะเห็นได้ว่า IOC แทบจะมีกำไรในทุกปีที่มีการจัดโอลิมปิก สวนทางกับประเทศเจ้าภาพโอลิมปิกที่ขาดทุนแทน
แถมการขาดทุน ยังลุกลามไปเรื่อย ๆ เพราะบรรดาสนามกีฬาหรือโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างไว้ ก็ต้องมีค่าเสื่อมและซ่อมบำรุงไปตลอดยังไม่รวมการก่อหนี้ที่เกิดขึ้นของรัฐบาล ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับประเทศบราซิลในปี 2016 จนประเทศติดหนี้มหาศาลและเกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมา
.
ส่วนในโอลิมปิก ปารีส 2024 ที่ตั้งงบประมาณไว้ 3.2 แสนล้านบาท คงจะต้องรอดูกันว่า ประเทศเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศส จะขาดทุนมากแค่ไหน จากการคาดการณ์ทั่วไปประเมินว่าน่าจะเกินกว่าที่ตั้งไว้ที่ 115% เลยทีเดียว