TNN online รัฐบาลเปิดแพ็กเกจ 'ไทยแลนด์พลัส' หวังดึงนักลงทุนต่างชาติ

TNN ONLINE

Wealth

รัฐบาลเปิดแพ็กเกจ 'ไทยแลนด์พลัส' หวังดึงนักลงทุนต่างชาติ

รัฐบาลเปิดแพ็กเกจ 'ไทยแลนด์พลัส' หวังดึงนักลงทุนต่างชาติ

รัฐบาลเตรียมเดินหน้าแพ็กเกจ 'ไทยแลนด์พลัส' หลังที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว คาดหวังดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม

วันนี้( 11 ก.ย. 62)   นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวานนี้ มีมติเห็นชอบมาตรการ Thailand Plus Package ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานรับผิดชอบ ประกอบ 7 ด้าน คือ  1.ด้านสิทธิประโยชน์ โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 โดยต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563

 2.กระบวนการตัดสินใจ โดยให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน  และประสานงานการลงทุน เป็นต้น   

3.ด้านคน มาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน  โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็น Advanced Technology ไปหักค่าใช้จ่ายได้ 250% ระหว่างปี 2562-2563  ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้รับรองก่อนใช้สิทธิ์  รวมทั้ง ยังให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุน หรือค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็น Advanced Technology ไปคำนวณรวมเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็น 2 เท่า ในกรณีของโครงการลงทุนใหม่  และโครงการลงทุนเดิมที่ยังได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ ด้านมาตรการสนับสนุนการจ้างงานใหม่ที่เป็นบุคลากรทักษะสูง โดยให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายการจ้างงานใหม่ที่เป็นบุคลากรทักษะสูงไปหักค่าใช้จ่ายได้ 150% ระหว่างปี 2562-2563 เป็นต้น

4.Ease of Doing Business โดยเร่งปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงพิจารณานำเสนอแนวทางลดข้อจำกัดและแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการลงทุน ผ่านกลไกเหมาะสม 

5.ที่ดิน โดยจัดหาและพัฒนาพื้นที่เฉพาะเพื่อรองรับการลงทุน  ที่สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ

6.ด้านตลาด ให้พิจารณาสรุปผลการศึกษา และดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูและการเข้าร่วม CPTPP เป็นต้น

และ  7.ด้านห่วงโซ่อุปทาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ เห็นควรให้กำหนดมาตรการคลังเพิ่มเติม โดยให้หักเงินลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้ 200% ระหว่างปี 2562-2563 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอาจมอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทยภายใต้สถาบันไทย-เยอรมันเป็นผู้รับรองก่อนใช้สิทธิ์

นอกจากนี้  ยังมีมาตรการด้านการตลาดเชิงรุกที่จะจัดทีมบูรณาการชักจูงโครงการย้ายฐานการลงทุน พร้อมจัดทำข้อมูลประกอบการชัดจูงเฉพาะราย รวมถึงประชาสัมพันธ์โดยเน้นพื้นที่เป้าหมาย เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ทั้งนี้ ขอให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทยเพิ่มเติม ประมาณ 50 ล้านบาท  จากกรอบงบประมาณปี 2563 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง