สศช.ชี้ไทยคนโสดเพิ่มขึ้นเป็นโอกาสทางธุรกิจ เปย์หนักสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก
สศช.ชี้ไทยคนโสดเพิ่มขึ้นเป็นโอกาสทางธุรกิจ ใช้จ่ายแบบคนเดียวในครัวเรือนสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก
วันนี้ ( 27 พ.ย. 66 )นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่า Solo Economy หรือเศรษฐกิจของครัวเรือนที่อาศัยอยู่คนเดียว (single person household) เป็นเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่งที่กำลังขยายตัวอย่างมากทั่วโลก จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครัวเรือนที่มีคนอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น
โดยประเทศไทย ครัวเรือนคนเดียวมีสัดส่วนมากขึ้นเช่นกัน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี2565 มีครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียวจำนวนกว่า 7 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.1 ของครัวเรือนทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 16.4 ในปี 2555 ซึ่งครัวเรือนคนเดียวส่วนใหญ่เป็นคนโสด
โครงสร้างครัวเรือนที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิด Solo Economy ที่สามารถสร้างมูลค่าใกับประเทศได้สูง จึงเป็นโอกาสในการปรับตัวของภาคธุรกิจของไทยในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อมาตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการของคนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยคาดว่า ครัวเรือนคนเดียวจะมีการใช้จ่ายกว่า 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี สอดคล้องกับข้อมูลของ Euromonitor ที่ระบุว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนคนเดียวสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างปี 2561 – 2565 พบว่า ครัวเรือนคนเดียวเป็นโอกาสทางธุรกิจได้อีกหลายด้าน
1. ที่อยู่อาศัยแนวดิ่งตอบโจทย์ความต้องการของครัวเรือนคนเดียวมากขึ้น
2. เมื่อต้องอยู่คนเดียว การคลายเหงาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจากรายงาน Petsumer Marketing ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2566 ว่า คนโสดร้อยละ 80.7 นิยมเลี้ยงสัตว์เปรียบเสมือนลูก เช่นเดียวกันกับครัวเรือนคนเดียวอีกกว่า 230,000 คน ที่นิยมปลูกต้นไม้, ไม้ดอก, ไม้ประดับ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าตัว
3. ครัวเรือนคนเดียวชอบท่องเที่ยวมากขึ้น
4. ครัวเรือนคนเดียวส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันในชีวิตด้วยการทำประกันมากขึ้น
สศช.ระบุว่า พฤติกรรมข้างต้นถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า หากภาคธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองต่อคนกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากไทยจะยกระดับ Solo Economy ให้สามารถขับเคลื่อนเ รษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการอยู่คนเดียวของครัวเรือนไทยควบคู่ไปด้วย
ภาพ: Getty image