คลังยืนยันนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ได้ลอกเลียนแบบญี่ปุ่น

กระทรวงการคลังยืนยันนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้นแบบไม่ได้มาจากประเทศญี่ปุ่น ชี้บริบทแตกต่างเปรียบเทียบกันไม่ได้
กระทรวงการคลังยืนยันนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้นแบบไม่ได้มาจากประเทศญี่ปุ่น ชี้บริบทแตกต่างเปรียบเทียบกันไม่ได้
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท กล่าวระหว่างตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานตามมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในส่วนของคณะกรรมการที่กำลังศึกษาอยู่ โดยสัปดาห์นี้ 24 ต.ค. จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการ โดยหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายไปแต่ละส่วนจะนำเอาข้อเสนอในแต่ละประเด็นกลับมาให้ อนุกรรมการพิจารณา ก่อนจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการนโยบายต่อไป
ทั้งนี้ ย้ำว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในวงกว้าง ซึ่งคณะอนุกรรมการ จะถกกันอย่างรอบคอบและระมัดระวังอย่างดีที่สุด
นายจุลพันธ์ ระบุถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล ออกมาระบุว่า ต้นฉบับของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มาจากประเทศญี่ปุ่น โดยยืนยันว่าต้นแบบไม่ได้มาจากประเทศญี่ปุ่น แต่ก็เคยดำเนินการในลักษณะคล้ายคลึงกัน เมื่อปี 1999 เป็นลักษณะของการแจกคูปอง แต่ส่วนตัวได้เห็นข่าวดังกล่าวแล้วและยังได้ติดต่อไปขอข้อมูลจาก นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไต้หวัน เพื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจว่าบริบทแตกต่างกันในปี 1999 และในปีปัจจุบัน ประเทศไทยและญี่ปุ่น ขณะเดียวกันประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ก็มีความแตกต่างกันจึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้
นายจุลพันธ์ กล่าวย้ำว่า โครงการดิจิทัลมีข้อปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย เมื่อคณะอนุกรรมการฯ มีการประชุมและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาข้อมูลรวบรวมรายงานส่งมายังคณะอนุกรรมการฯ ตอนนี้จึงต้องรอรายงานเพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นตามกฏหมายไม่สามารถลัดวงจรได้ ไม่สามารถดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับโครงการโดยที่ยังไม่มีมติจากคณะกรรมการได้
ภาพจาก กระทรวงการคลัง