หุ้น Us Tech ตลาดที่ฟื้นคืน รับกระแสที่ AI Boom - ดอกเบี้ยนิ่ง
ด้วยปัจจัยลบที่รุมเร้ามากมาย นักทุนลงจึงพากันกระหน่ำขายหุ้นเทคฯ ออกมา ทำให้ในปี 2022 มูลค่าตลาดในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ หายไปกว่า 20% ถือว่าเลวร้ายที่สุดในรอบ 20 ปีนับตั้งแต่วิกฤตดอทคอม ปีที่แล้วตลาดหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ จึงเข้าถ้ำจำศีลสู่ภาวะหมีโดยสมบูรณ์
ในยุค “AI Boom” หลายท่านอาจกลายเป็น ‘ลูกรัก AI’เมื่อได้รับสกินทองคำผ่านโปรแกรมแต่งภาพบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดฮิต หลายคนอาจป้อนคำสั่งให้ ‘AI Chatbot’ ช่วยหาข้อมูล ทำกราฟฟิก ออกไอเดียเพื่อช่วยให้งานบางอย่างเดินหน้าได้ไหลลื่นขึ้น และใครอีกหลายคนก็มีโอกาสรับผลตอบแทนงามๆ ด้วยการลงทุนผ่าน AI
ทุกวันนี้ AI จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราแบบเนียนๆ จนเราแทบลืมโมเมนต์เมื่อหลายปีก่อนตอนที่ทำหน้างงๆ เมื่อได้ยินคำศัพท์แปลกใหม่อย่าง ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (Artificial Intelligence: AI) ที่ตอนนั้นยังแปลความหมายไม่ออกด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นลูกรัก AI หลายท่านอาจหลงรัก AI ไปแล้วก็ได้
การเปิดตัวของ ChatGPT เมื่อปลายปีที่แล้ว สร้างปรากฎการณ์ AI Boom และเป็นแรงหนุนให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดสหรัฐฯ หรือ US Tech ปรับตัวขึ้นมากันอย่างคักคักอีกครั้ง หลังจากที่ราคาหุ้นเทคฯ ปรับลดลงอย่างหนักจนตลาดซึมเซาเป็นหมีเหงาตลอดปีที่ผ่านมา แต่นาทีนี้นักลงทุนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘หุ้น US Tech กลับมาแล้ว’ และแน่นอนครับ.. กลับมาพร้อมโอกาสการลงทุนรอบใหม่
ปี 2022 ตลาดหมีหุ้นเทคฯ
หุ้นเทคโนโลยีจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นเติบโต หรือ Growth stock ที่อยู่ในสปอตไลท์ของนักลงทุนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเทคฯ สหรัฐฯ หรือเทคฯ จีน โดยเฉพาะในช่วง Covid-19 ที่ความต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นตามสถานการณ์โรคระบาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จนหุ้นเทคโนโลยีกลายเป็นดาวเด่นที่เฉิดฉายขึ้นมา แต่อีกด้าน ความก้าวหน้าและการเติบโตของธุรกิจเทคฯ ก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเฉพาะอุตสาหกรรม เฉพาะประเทศ ไปจนถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้มีการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ มาควบคุมด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไปต่างกรรมต่างวาระ ตั้งแต่เพื่อสร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรมโดยรวม เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ไปจนถึงการกีดกันทางการค้า เราคงจำความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน จากปัญหา Trade War ไปสู่ Tech War กันได้นะครับ ที่ทำให้ทั้งหุ้นกลุ่มเทคฯ และตลาดหุ้นโดยรวมเหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงเป็น Roller Coaster กันมาแล้ว
มาถึงปี 2022 การขึ้นดอกเบี้ยแบบติดจรวดอย่างเร็วและแรงของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีให้ทรุดหนักอีกรอบ ซึ่งการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันถึง 7 ครั้ง และมากถึง 4.25% ตลอดทั้งปี 2022 ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และเกิดการถกเถียงกันมากมายว่าจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้ธุรกิจต่างๆ พากันลดและชะลอแผนลงทุนด้านเทคโนโลยี จนกระทบกำไรของธุรกิจเทคฯ ทั้งอุตสาหกรรม
ในปี 2022 ผลการดำเนินงานของบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ปรับลดลงกันถ้วนหน้า ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายด้วยการปลดพนักงานเป็นจำนวนมากเกิดการเลย์ออฟครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทั้งจากบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ระดับโลกไปจนถึงธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยในปี 2022 มีการเลิกจ้างมากกว่า 97,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นถึง 649% เมื่อเทียบกับการ 13,000 ตำแหน่งในปี 2021 ที่สำคัญการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ธุรกิจต้องเจอกับปัญหาต้นทุนทางกาเงินที่เพิ่มสูงขึ้น จนบรรดาเทคสตาร์ทอัพรับมือไม่ไหว เกิดปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ไม่สามารถระดมทุนใหม่ได้ และปัญหาก็กระทบชิ่งเป็นลูกโซ่ไปถึงภาคการเงิน ทำให้ธนาคารในสหรัฐฯ 2 แห่งต้องปิดกิจการลง กลายเป็นข่าวใหญ่แห่งปี 2023 ที่สร้างแรงสั่นสะทือนไปทั่วทั้งวงการตลาดเงินและตลาดทุน
ด้วยปัจจัยลบที่รุมเร้ามากมาย นักทุนลงจึงพากันกระหน่ำขายหุ้นเทคฯ ออกมา ทำให้ในปี 2022 มูลค่าตลาดในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ หายไปกว่า 20% ถือว่าเลวร้ายที่สุดในรอบ 20 ปีนับตั้งแต่วิกฤตดอทคอม ปีที่แล้วตลาดหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ จึงเข้าถ้ำจำศีลสู่ภาวะหมีโดยสมบูรณ์
ChatGPT ปลุกธุรกิจเทคฯ
อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวของ ChatGPT เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 เหมือนการเปิดปากถ้ำนำแสงสว่างมาสู่ตลาด US Tech อีกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการเทคโนโลยี และปลุกหุ้นเทคฯ ให้ฟื้นคืนชีพ เพราะหลังการเปิดตัวเพียง 5 วัน ChatGPT มียอดผู้ใช้งานถึง 1 ล้านคน และเพิ่มเป็น 100 ล้านคนภายใน 3 เดือน ChatGPT จึงถือเป็นแอปพลิเคชันสำหรับผู้บริโภคที่มีอัตราเติบโตสูงสุดในประวัติศาสตร์ เทียบกับ Netflix ที่ใช้เวลาประมาณ 3 ปีครึ่งถึงจะมียอดผู้ใช้งานแตะ 1 ล้านคน
นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้ ChatGPT ยังโตเร็วกว่า TikTok 4 เท่า และโตเร็วกว่า Instagram ถึง 10 เท่า เหตุผลที่ทำให้ ChatGPT โตแรงแซงโค้งทุกแพลตฟอร์มยอดฮิต เพราะ ChatGPT
เป็น AI Chatbot ที่ใช้งานได้ง่าย และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้โลกได้รู้ว่า ‘ใครๆ ก็สามารถใช้ AI เป็น’ ไม่ใช่เฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเท่านั้น ที่สำคัญ ChatGPT เป็น AI ที่เข้าใจภาษามนุษย์ สามารถสร้างประโยคโต้ตอบกับเราได้อย่างสมเหตุสมผล ช่วยเราสร้างคอนเทนท์ใหม่ๆ ทั้งบทความ ภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ แปลภาษา ไปถึงขั้นวิเคราะห์อารมณ์ของมนุษย์จากภาษาที่ใช้ นอกจาก ‘เข้าใจ’ มนุษย์แล้ว ยังมีการประเมินว่าในอนาคต AI จะถูกพัฒนาให้ ‘รู้ใจ’ มนุษย์ได้อีกด้วย
PwC ได้คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของตลาด AI ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อคนทั่วไปสามารถเข้าถึง AI ได้ง่ายขึ้น จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับโลกได้ 15.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2030 และ ChatGPT จะทำให้ข้อมูลบนโลกเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 2 ปี ผ่านคอนเทนท์และบทความที่มนุษย์และ AI สร้างขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ต่อเนื่องไปด้วย ทำให้มูลค่าตลาด AI ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2026 หรือเติบโต 19% ต่อปีนับจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีนะครับว่า Microsoft คือผู้ลงทุนหลักใน ChatGPT ซึ่งหลังการเปิดตัว ChatGPT เพียงสัปดาห์เดียวราคาหุ้น Microsoft ปรับตัวขึ้นถึง 6.5% โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาราคาหุ้น Microsoft ก็เพิ่มขึ้นกว่า 30% แล้ว และที่น่าจับตาคือในอนาคต ChatGPT อาจเข้ามาแย่งเค้กของธุรกิจเสิร์ชเอนจินยักษ์ใหญ่อย่าง Google ที่ตอนนี้ครองมาร์เก็ตแชร์สูงถึง 93% โดย Microsoft มีแผนที่จะผสานเสิร์ชเอนจินของตัวเองอย่าง Bing เข้ากับ ChatGPT และคาดว่า Bing จะมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 3% ได้ ซึ่งหากมาร์เก็ตแชร์ของ Bing เพิ่มขึ้นทุก 1% รายได้ก็จะเพิ่มขึ้น 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
หุ้นเทคฯ ฟื้นรับกระแส AI Boom
กระแส AI Boom กระตุ้นการลงทุนในเทคโนโลยีของธุรกิจต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่เร่งปรับตัวโดยการออกโปรดักส์ที่เกี่ยวข้องกับ AI เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการตลาดก่อนใคร รวมทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้ธุรกิจอื่นๆ นำ AI Chatbot ไปประยุกต์ใช้ เพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ อาทิ ธุรกิจ Delivery platform หรือ Booking platform รวมทั้งการใช้ AI ในการพัฒนากราฟฟิกหรือการ์ดจอ GPU (Graphics Processing Unit) ของธุรกิจเกม เป็นต้น นอกจากภาคธุรกิจจะกลับมาลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตแล้ว บริษัทและองค์กรต่างๆ ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านระบบป้องกันภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้ผลการดำเนินของธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ AI, Cybersecurity และ Semiconductor ที่ได้ประโยชน์จากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงธุรกิจเทคฯ ด้านอื่นๆ ด้วย
กระแส AI Boom จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หุ้น US Tech หลุดพ้นจากภาวะหมี และกลับมาวิ่งได้อีกครั้ง โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ในตลาด Nasdaq ซึ่งถือเป็นกลุ่มเดียวที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่นตั้งแต่ต้นปี 2023 จนนักวิเคราะห์ปรับคาดกาณ์ผลการดำเนินงาน (Earnings reversions) ในปีนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทเทคฯ รายใหญ่ ทั้ง Apple, Microsoft, Alphabet และ Meta ในไตรมาส 1 ปี 2023 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยมี Apple เป็นผู้นำตลาด ทั้งยังลงไฮไลท์ไว้ให้อีกว่า US Tech ยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 รายนี้ ต่างมี AI story เป็นตัวชูโรงที่ช่วยดันยอดขายให้เพิ่มขึ้น
ดอกเบี้ยนิ่ง-หนุนหุ้นเทคฯ
นอกจากกระแส AI Boom แล้ว ทิศทางดอกเบี้ยเฟด ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่สนับสนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ และหุ้น US Tech หลังจากเฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้กรอบดอกเบี้ยเฟดขึ้นมาอยู่ที่ 5.00-5.25% ซึ่งจากแถลงการณ์ของเฟดทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า นี่คือการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของเฟดในรอบนี้ เป็นปัจจัยเชิงบวกดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหุ้น US Tech ในตลาด Nasdaq ที่ราคาวิ่งขึ้นมากันคึกคัก ณ วันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา ดัชนี US Nasdaq 100 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 35% ขณะที่หุ้น US Tech ก็กอดคอกันขึ้นทั้งกระดาน เป็นการตอกย้ำว่าหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ กลับมาแล้ว หลังจากที่ดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 34% ในปีก่อนหน้า ซึ่งดัชนี S&P 500 ก็ไม่น้อยหน้า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 13% เมื่อย้อนไปดูสถิติหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในอดีตจะพบว่า ราคาหุ้นมักจะฟื้นตัวกลับมาเมื่อดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และในรอบนี้นักลงทุนก็มองว่าดอกเบี้ยเฟดน่าจะนิ่งอยู่สักพัก ก่อนที่จะเข้าสู่ขาลงในระยะถัดไป ทำให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจมีแนวโน้มลดลง และจะส่งผลดีต่อกำไรของบริษัทเทคโนโลยีต่อไป ตอนนี้จึงเป็นจังหวะเหมาะที่จะกลับเข้ามาลงทุนในหุ้น US Tech ซึ่ง Valuation ของหุ้นหลายตัวก็ยังอยู่ในระดับที่ลงทุนได้หลังจากที่ราคาร่วงลงแรงในปีก่อน ปัจจุบัน P/E ของหุ้น US Tech โดยภาพรวมยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ผลตอบแทนของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปีเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ดัชนี NASDAQ ตั้งแต่ช่วงต้นปีเพิ่มขึ้น 27.65% ขณะที่กองทุนส่วนบุคคลของ Jitta Wealth
นโยบายหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ (Jitta Ranking-US-Tech)
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2566 สร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 34.76% สูงกว่า S&P500 ที่สร้างผลตอบแทนได้เพียง 13.71%
DCA ตัวช่วยทุกสถานการณ์
แม้ราคาหุ้น US Tech จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นมา แต่โดยภาพรวมยังถือเป็นระดับที่สามารถเข้าลงทุนได้ ทีนี้คำถามที่ตามมาก็คือ จะลงทุนหุ้นตัวไหนดี? เข้าลงทุนตอนไหนดี? ราคาแพงไปหรือยัง? ราคาจะขึ้นไปได้อีกแค่ไหน? ซึ่งเป็นคำถามคลาสสิก ง่ายๆ แต่คำตอบนั้นยากจริงๆครับ เพราะการลงทุนถือเป็นเรื่องนานาจิตตัง ขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุนแต่ละท่าน ที่สำคัญอยู่ที่ระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนจะยอมรับได้ แต่เพื่อเป็นแนวทางการลงทุน วันนี้ผมขอหยิบยกทฤษฎี ‘Cocktail Party’ ของ Peter Lynch ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนและนักเขียนชื่อดังมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์ให้แต่ละท่านนำไปปรับใช้ตามสไตล์การลงทุนของตัวเองนะครับ ซึ่ง Lynch ได้จับอารมณ์ตลาดหุ้นเปรียบเทียบกับการไปงานเลี้ยง
โดยแบ่งอารมณ์ตลาดได้เป็น 4 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 ตลาดหุ้นตก ในงานเลี้ยงจะไม่มีใครพูดถึงเรื่องการลงทุนกับ Lynch เลย
ช่วงที่ 2 ตลาดหุ้นเริ่มเป็นขาขึ้น แม้คนจะคุยเรื่องการลงทุนกับเขามากขึ้น แต่ก็ยังไม่สนใจตลาดหุ้นมากนัก
ช่วงที่ 3 ตลาดหุ้นขึ้นมา 30% จากจุดต่ำสุด คนในงานเลี้ยงจะพูดคุยเรื่องการลงทุนกับเขาอย่างจริงจังมากขึ้น
ช่่วงที่ 4 ตลาดร้อนแรง Lynch เหมือนดาราที่มีแต่ผู้คนมารายล้อม แต่ถือเป็นช่วงสุดท้ายก่อนหุ้นลง
Lynch ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ถ้าตลาดอยู่ในช่วงที่ 4 เป็นสัญญาณเตือนว่าตลาดหุ้นขึ้นถึงจุดพีกแล้ว และกำลังจะถล่มลงมา นักลงทุนควรรีบขายทำกำไรและออกจากตลาดโดยเร็ว และหลังจากที่ตลาดหุ้นร่วงลงไปแล้ว เมื่อเขาไปงานปาร์ตี้รอบใหม่ บรรยากาศภายในงานก็จะวนลูปกลับมาเริ่มต้นในช่วงที่ 1 อีกครั้ง ดังนั้น การตั้งข้อสังเกต คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ก่อนตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น จึงเป็นดุลพินิจของนักลงทุนแต่ละท่านเองนะครับ และถึงแม้ว่า Lynch จะเป็นผู้คิดค้นทฤษฎี Cocktail Party แต่ขอย้ำตัวโตๆ ไว้ตรงนี้เลยว่า เขา ‘ไม่เชื่อ’ เรื่องการจับจังหวะตลาด และหากคุณคิดเหมือนกับ Lynch ว่าการจับจังหวะตลาดไม่ใช่โอกาสสำหรับทุกคน การทำ DCA (Dollar-Cost Averaging) หรือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นอีกทางที่ผมอยากแนะนำให้ท่าน ‘เลือก’ เพราะนอกจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตลงทุนแล้ว คุณยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว ตามหลักการของนักลงทุนสาย VI หรือถ้าคุณใช้วิธี DCA อยู่แล้ว เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง ก็อาจใส่เงินลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสะสมหุ้นตอนราคาต่ำๆ ในช่วงที่บรรยากาศตลาดหุ้นอยู่ในช่วงที่ 1-2 ตามทฤษฎี Cocktail Party นั่นเอง ลงทุนตามรอยปู่ Buffett อีกหนึ่งกลยุทธ์คลาสสิกตลอดกาล ที่จะทำให้คุณชนะในทุกศึกการลงทุนก็คือ เลือกลงทุนในบริษัทที่ดีเยี่ยม ในราคาที่เหมาะสม และการที่จะเฟ้นหาหุ้นที่มีคุณสมบัติแบบนี้ได้นั้น.
คุณต้องการผ่านการศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดี ซึ่งหลักการดังกล่าวทั้ง Lynch และปรมาจารย์การลงทุนสาย VI อย่างปู่ Warren Buffett ก็ยึดปฏิบัติมาโดยตลอด ยกตัวอย่างการลงทุนในหุ้น Apple ที่ปู่ Buffett เคยกล่าวไว้ว่า ‘Apple น่าจะเป็นธุรกิจที่ดีที่สุดในโลกที่ผมรู้จัก’ และคำพูดนี้ก็พิสูจน์ได้จากพอร์ตลงทุน Berkshire Hathaway ของปู่นั่นเอง ซึ่งมีสัดส่วนลงทุนในหุ้น Apple มากกว่า 40% ของพอร์ต ด้วยหลักคิดง่ายๆ ตามสไตล์ Warren Buffett ที่จะเลือกลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจแบบเรียบง่าย เป็นสินค้าที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน และสินค้าของ Apple ก็มีคุณสมบัติตามที่ปู่ได้บอกไว้ แถมยังมีความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะผู้บริโภคมีความภักดีในแบรนด์สินค้าสูง ดูง่ายๆ เลยครับ ไม่ว่า Apple ออก iPhone รุ่นใหม่ออกมาเมื่อไหร่ สินค้าก็ไม่พอกับความต้องการ ของขาดตลาดทุกที ปู่ Buffett มีมุมมองว่า การลงทุนในตลาดหุ้นก็เหมือนการลงทุนในธุรกิจ แค่เราไม่ได้สร้างบริษัทขึ้นมาเองแต่เราซื้อหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งปู่มีหลักการลงทุนง่ายๆ อยู่ 2 ข้อคือ
เลือกลงทุนในบริษัทที่กำไรดีเพราะจะมีการจ่ายปันผลคืนให้ผู้ถือหุ้น และเลือกลงทุนในบริษัทที่อนาคตดี โดยการซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะสมเพื่อโอกาสทำกำไรในวันข้างหน้า ถึงแนวคิดการลงทุนจะดูง่ายๆ แต่นักลงทุนต้องมีความเข้าใจในพื้นฐานของธุรกิจเป็นอย่างดี เพราะหากบริษัทที่เราลงทุนเติบโตได้ดี ราคาหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่ช่วยให้ปู่ Buffett สามารถวิเคราะห์กิจการได้อย่างถูกต้องก็คืองบการเงินของบริษัท การอ่านงบการเงินอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราตรวจสอบผลการดำเนินงานและความสามารถของผู้บริหารในกิจการที่เราต้องการลงทุนได้ และที่สำคัญข้อมูลในงบการเงินนั้นเป็นข้อเท็จจริง ที่พิสูจน์คุณภาพของบริษัทได้ดีที่สุด..
ถ้าในสถานการณ์ตอนนี้คงต้องดอกจันทน์ไว้สักนิดนะครับว่า ต้องเป็นงบการเงินที่ถูกต้องและโปร่งใส (เท่านั้น) ผมเชื่อว่านักลงทุนสาย VI แทบทุกคนมีปู่ Buffett เป็นไอดอล อยากสะสมความมั่งคั่งให้ได้แบบปู่ แต่ใช่ว่าทุกคนจะเดินตามรอยปู่ได้ทุกฝีก้าว เพราะแต่ละคนมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป แต่ในวันนี้ข้อจำกัดของทุกคนจะลดลง ด้วยศักยภาพของ AI เราสามารถเลือก ‘ลงทุนในบริษัทที่ดี ในราคาที่เหมาะสม’ ตามแนวทางของปู่ได้ง่ายขึ้น และเมื่อ ‘ปัจจัยพื้นฐาน x เทคโนลียี’ สูตรการคอลแลบส์นี้อาจทำให้นักลงทุนสาย VI อย่างคุณ เป็นทั้ง “ลูกรัก AI และหลานรัก Warren Buffett” ได้ในคราวเดียวกัน
ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์
CEO Jitta Wealth
ติดตามข่าวหุ้นและการลงทุนทางไลน์
• Line @TNNWEALTH : https://bit.ly/3tCKmiD
———————————————————————
ติดตาม TNN Wealth ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่
• Youtube : https://bit.ly/TNNWealthYoutube
• TikTok : https://bit.ly/TNNWealthTikTok
หรือดูรายการ Live ได้ทาง https://bit.ly/3HmUu4O