เจน 3 "โคคาสุกี้" นำ Core Values ฝ่าวิกฤต
เจน 3 "โคคาสุกี้" นำ Core Values ฝ่าวิกฤต
2 ปีที่ผ่านมา "โคคาสุกี้" ต้องยอมเฉือนเนื้อ ปิดสาขาสยามสแควร์ลง ทั้งๆ ที่เป็นสาขาที่ทำเงินอันดับต้นๆ เหตุเพราะวิกฤต COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดหนักหลายรอบ
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ "นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ" ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ ร้านอาหารในเครือโคคากรุ๊ป ทายาทรุ่นที่ 3 จะฝ่าฟันอุปสรรคสร้างธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง โดยหนึ่งในเคล็ดลับ ที่ทำให้ "โคคาสุกี้" ยังอยู่รอด คือ Core Values ที่ชัดเจนขององค์กร
"นัฐธารี" บอกว่า Core Values เป็นเรื่องสำคัญที่ทายาททุกรุ่นห้ามลืม โดย Core Values ของ "โคคาสุกี้" ประกอบด้วย การมีหัวใจด้านบริการ และมีความซื่อสัตย์ต่อผู้มีส่วนร่วม ทั้งพนักงาน ผู้บริโภค และซัพพลายเออร์
สิ่งเหล่านี้ ช่วยทำให้ "โคคาสุกี้" ยังอยู่ยงคงกระพัน รักษาเสน่ห์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ควบคู่กับการปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดย"นัฐธารี" ได้นำระบบ Aglie มาบริหาร ทำให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น
"นัฐธารี" ไม่ได้ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ ที่ผ่านมา เธอพร้อมยอมรับกับความผิดพลาดและปรับตัว เมื่อธุรกิจเกิดปัญหาในช่วงโควิด ก็พร้อมปิดสาขาสยามสแควร์ที่อยู่มานาน เพื่อรักษาองค์กรและทีมงานให้อยู่รอด
หลังจากนั้น "นัฐธารี" ยังปรับโมเดลสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ อาทิ ดิลิเวอรี่ ให้พนักงานมาเป็น Coca Man ขับรถส่งอาหาร โดยค่าจัดส่งเป็นของพนักงานทั้งหมด
พร้อมกันนี้ ยังปรับปรุงร้านให้ทันสมัยมากขึ้น ปรับขนาดร้านทให้เล็กลง เปิด Coca Pop Up รื้อภาพจำภัตตาคารโคคาสุกี้ กลายเป็นร้านสบายๆ ที่รับได้ทั้งกลุ่มครอบครัวรุ่นใหม่ รุ่นเก่า หรือกลุ่มเพื่อนฝูง กระจายสาขา Pop Up ไปตามนอกเมือง รองรับผู้บริโภคที่ต้องทำงานที่บ้าน ยกร้านไปเสริฟให้ใกล้ที่สุด สะดวกที่สุด
รวมถึงโมเดลธุรกิจแบบ Kiosk ที่เปิดตามงานอีเว้นท์ต่างๆ เสริฟเมนูของทานเล่น อย่างปลาท่องโก๋ ของกินเล่น ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่
"นัฐธารี" บอกว่า เธอเปิดรับฟังความคิดเห็นของทีม สิ่งที่คิดหากผิด ทำแล้วไม่เวิร์คก็พร้อมเลิกและขอโทษ ปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ให้เหมาะสม ซึ่งเธอยอมรับว่า หลายอย่างต้องปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย และปัจจัยรอบด้าน
แต่สิ่งสำคัญที่ "นัฐธารี" คนนี้ไม่ยอมเปลี่ยน และยึดเป็นหลักการสำคัญในการทำธุรกิจคือ วัตถุดิบต้องดี มีคุณภาพ เพิ่มเติมคือ ต้องรู้ที่มาที่ไป ผักและเนื้อต้องสด จากการเรียนรู้มาทางด้านโภชนาการและวิทยาศาสตร์การอาหารโดยตรง เธอจึงสร้าง Coca Boutique Farm ปลูกผลผลิตออร์แกนิกสำหรับใช้ในร้านโดยเฉพาะ พร้อมทั้งทำโครงการซื้อข้าวโดยตรงจากเกษตรกร ที่สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรและชุมชน เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ
ผู้บริหารหญิงคนนี้ ใช้เวลากว่า 5 ปีในการศึกษาโปรดักต์ของโคคาสุกี้อย่างละเอียด หาคำตอบว่าลูกค้าจริงๆ ของแบรนด์คือใคร จะทำอย่างไรให้เข้าถึงลูกค้ารุ่นใหม่ ขณะที่ลูกค้าเก่าก็ยังเหนียวแน่น
เธอลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนทุกอย่างเข้ามือ แม้จะเจอวิกฤตหนักโควิด-19 แต่ ณ วันนี้ทุกอย่างผ่านพ้นไปแล้ว ด้วยการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ โดยไม่ยึดริดกับความสำเร็จเดิมๆ และพร้อมเดินหน้าต่ออย่างมั่นคง