ปรับขึ้น "ดอกเบี้ยเงินกู้" ส่งผลกระทบต่อเงินค่างวดของลูกค้าหรือไม่?

สถาบันการเงินของรัฐ ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่งผลกระทบต่อเงินค่างวดของลูกค้าหรือไม่?
สถาบันการเงินของรัฐ ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่งผลกระทบต่อเงินค่างวดของลูกค้าหรือไม่?
จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวานนี้ (25 มกราคม 2566) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% ต่อปี เป็น 1.50% ต่อปี
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (The Government Financial Institutions Association : GFA) เปิดเผยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโดยให้มีผลทันที การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 4 ติดต่อกัน รวมปรับขึ้น 1% ต่อปี นับตั้งแต่การปรับขึ้นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2565
สถาบันการเงินของรัฐยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ระดับเดิมตลอดปี 2565 เพื่อให้ลูกค้าประชาชนได้มีเวลาปรับตัวรับกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคตและช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของลูกค้ากลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น
สถาบันการเงินของรัฐ มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดและจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลายลง
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจะไม่ส่งผลกระทบให้เงินงวดของลูกค้าส่วนใหญ่ต้องปรับขึ้นแต่อย่างใด
สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาชิก ยังคงตระหนักถึงผลกระทบต่อลูกค้าและยังคงให้ความสำคัญในการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ที่รายได้ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จึงยังคงพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบผ่านมาตรการความช่วยเหลือของแต่ละสถาบันการเงิน ที่มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และทันเหตุการณ์ ครอบคลุมทั้งการลดภาระทางการเงิน และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้าในอนาคต การเสริมสภาพคล่องและการปรับโครงสร้างหนี้ต่าง ๆ
ทั้งนี้ สถาบันการเงินของรัฐจะติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็นในระยะต่อไป โดยสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมปฏิบัติตามนโยบายและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
ภาพจาก TNN ONLINE