TNN online สรุปปี 2565 รถยนต์ไฟฟ้าของไทย

TNN ONLINE

Wealth

สรุปปี 2565 รถยนต์ไฟฟ้าของไทย

สรุปปี 2565 รถยนต์ไฟฟ้าของไทย

สรุปปี 2565 รถยนต์ไฟฟ้าของไทย

ในปี 2565 นับได้ว่าเป็นปีทองของรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ซึ่ง TNN Wealth ได้รวบรวมเรื่องราวสำคัญของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงสาระอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบเด่นในปี 2565 มาให้ได้อ่านกัน


เริ่มตั้งแต่แรงผลักดันแรก หลังจากการที่กรมสรรพสามิต ได้ประกาศ ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจาก 40% เหลือ 0% หรือมากที่สุด 40% มีผลตั้งแต่ 3 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา


รวมไปถึงการประกาศให้เงินอุดหนุนประชาชนซื้อรถยนต์ไฟฟ้ารับส่วนลดสูงสุดคันละ 150,000 บาท มีผลตั้งแต่ 30 พฤษภาคม 2565 ทำให้หลายค่ายรถยนต์ได้ปรับราคาลงรับกับอัตราภาษีดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าล้วนถูกลงจนกลายเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าชาวไทยได้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากลับมาคึกคักแบบผิดหูผิดตา


อย่าง ค่าย MG ลดราคาลงคันละ 227,000 บาท ทำให้ราคาขายของ MG ZS EV เริ่มต้นอยู่ที่คันละ 942,000 บาท หรืออย่างค่าย GWM ก็หั่นราคา ORA GOOD CAT ลดลงคันละ 160,000 บาท ส่งผลรุ่นเริ่มต้นเหลือคันละ 763,000 บาท เรียกได้ว่าเป็นราคาที่ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว


นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังทำให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2022 เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยตั้งแต่เดือน มกราคม – พฤศจิกายน 2565 รวม 11 เดือนมียอดจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น รวม 8,483 คัน เรียกได้ว่าทิ้งกันหลายเท่าตัวเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่ตลอดทั้งปีมียอดจดทะเบียนรวมทั้งสิ้นเพียง 1,935 คัน


ไม่ใช่แค่การใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียยเท่านั้นที่ผู้บริโภคชาวไทยอยู่ในเบอร์ต้น ๆ ของโลกหรือภูมิภาค เพราะล่าสุด บริษัทวิจัยการตลาด Counterpoint เปิดเผยว่า ประเทศไทยขึ้นเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แซงหน้าอินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และมาเลเซียเป็นที่เรียบร้อย


โดยคิดเป็นส่วนแบ่งยอดจำหน่ายสูงกว่า 60% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในภูมิภาค ตัวเลขนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่ผ่านมา


หันมามองทางค่ายรถยนต์กันบ้าง น้องใหม่อย่าง BYD ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเมืองไทย จนต้องร้องโอ้โห เพราะหลังจากเปิดตัว BYD Atto 3 รถเอสยูวีไฟฟ้า ได้เพียง 1 เดือน 12 วัน ก็สามารถกวาดยอดจองได้จนครบจำนวนโควต้า 10,000 คัน เป็นที่เรียบร้อย แม้จะมีรถยนต์ไฟฟ้ามาเปิดตัวกันแค่รุ่นเดียว แต่ก็สามารถกวาดยอดขายได้ถล่มทลายแบบนี้ ต้องบอกเลยว่าไม่ธรรมดา


สร้างความฮือฮาไม่ต่างกัน กับการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่นของ เทสล่า (ประเทศไทย) หลังจากก่อนหน้านี้มีการปล่อยข่าวการเปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการมาอย่างต่อเนื่อง


โดยการเปิดราคาเริ่มต้นของ Model 3 ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 1,759,000 บาท และ Model Y ราคาเริ่มต้นที่ 1,959,000 บาท ยิ่งทำให้ลูกค้าชาวไทยถึงกับอ้าปากค้างกันเป็นแถว เพราะจัดได้ว่าเป็นราคาที่น่าสนใจมาก


แต่คนที่ต้องกรี๊ดหนักมากคือคนที่ซื้อจากเกรยมาร์เก็ตไปก่อนหน้านี้ เพราะต้องจ่ายแพงกว่าเป็นเท่าตัว ส่วนหนึ่งของราคาที่ลดลงนี้ก็มาจากการทำตลาดของเทสล่าเอง ทำให้อัตราภาษีต่าง ๆ มีการจัดการได้ดีกว่าเกรย์มาร์เก็ต ส่วนตำแหน่งทางการตลาดนั้นก็อยู่ระดับกลาง ๆ ไม่ใช่แบรนด์พรีเมียมหรือแบรนด์หรู ดังนั้นการตั้งราคาเท่านี้นับว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล


สำหรับใครที่ต้องการใช้รถไฟฟ้าแบบราคาย่อมเยา หรืออยากจะลองขับรถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบไม่อยากจ่ายแพง VOLT CITY EV คือรถยนต์ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ดีที่สุด เพราะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 365,000 พ่วงแบตเตอรี่แบบลิเธียมฟอสเฟตมาให้ 11.8 kWh พร้อมระยะทางวิ่งไฟฟ้าสูงสุด 165 กิโลเมตร


มาพร้อมมอเตอร์ซิงโครนัสแม่เหล็กถาวรขนาด 30 KW ขับเคลื่อนล้อหลัง ให้กำลังสูงสุด 41 แรงม้า แรงบิด 90 นิวตันเมตร ระยะเวลาในชาร์ต AC : 5.5-6 ชั่วโมความเร็วสูงสุด : 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง


และไม่ต้องห่วงเรื่องบริการหลังการขาย เพราะ VOLT CITY EV มี บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบบมัลติแบรนด์ (Multi-Brand EV Distributor) แห่งแรกของไทย และผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการของแบรนด์ DFSK หรือ DONGFENG เป็นผู้นำเข้าและให้บริการหลังการขาย ซึ่งขณะนี้ก็กำลังขยายตัวแทนจำหน่ายกันอยู่


ปิดท้ายกันที่รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับเสียงตอบรับว่าขับดีที่สุด ขับสนุกที่สุดในคลาสเดียวกัน จากสื่อมวลชนสายรถยนต์ และบรรดานักทดสอบรถ อย่าง MG 4 รถยนต์ไฟฟ้าที่ให้ความสนุกและธรรมชาติมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าคู่แข่ง นับเป็นการเปิดตัวในเซ็กเมนต์ใหม่ของ MG4 ที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับรถไฟฟ้าจากค่ายอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงรุ่นที่มีอยู่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี


MG4 มาพร้อมขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor กำลังสูงสุด 170 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร พ่วงด้วยแบตเตอรี่ RUBIK’s CUBE Baterry ขนาดความจุ 51 kWh


สามารถขับขี่ระยะทางสูงสุด 425 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง รองรับการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ AC สูงสุด 6.6kW และรองรับการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC สูงสุด 88 kW


ปี 2565 นับว่าเป็นปีแห่งการเริ่มเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องสันดาปไปสู่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าในปี 2566 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องลุกเป็นไฟ เพราะแต่ละค่ายต่างเตรียมพร้อมที่จะนำเสนอของดีและของเด็ดออกมาแข่งขันประชันกันอีกมาก


เช่นเดียวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จไฟ ที่จะได้เห็นการขยายตัวแบบก้าวกระโดด ซึ่ง TNN Wealth พร้อมที่จะรายงานความคืบหน้าให้ทราบกันเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป สรุปปี 2565 รถยนต์ไฟฟ้าของไทย

ข่าวแนะนำ