TNN online พันธบัตรออมทรัพย์ "สุขใจให้ออม" ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท เริ่ม 7 ธ.ค.นี้

TNN ONLINE

Wealth

พันธบัตรออมทรัพย์ "สุขใจให้ออม" ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท เริ่ม 7 ธ.ค.นี้

พันธบัตรออมทรัพย์ สุขใจให้ออม ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท เริ่ม 7 ธ.ค.นี้

พันธบัตรออมทรัพย์ "สุขใจให้ออม" บนวอลเล็ตสบม.แอปพลิเคชันเป๋าตัง ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท เริ่มจำหน่าย 7 ธ.ค.นี้

เริ่มจำหน่าย 7 ธ.ค.นี้ พันธบัตรออมทรัพย์ "สุขใจให้ออม" บนวอลเล็ตสบม.แอปพลิเคชันเป๋าตัง ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท 

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน. จะเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นสุขใจให้ออม วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท โดยในครั้งนี้ ได้เพิ่มวงเงินจำหน่ายพันธบัตรผ่านวอลเล็ต สบม. เป็น 15,000 ล้านบาท และซื้อได้สูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย 

เพื่อขยายศักยภาพและฐานผู้ลงทุนช่องทางดิจิทัลภาครัฐ และในการจำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายสำหรับประชาชน วงเงิน 40,000 ล้านบาท ยังคงใช้วิธีการจัดสรรแบบ Small Lot First เพื่อกระจายการถือครองพันธบัตรให้กับประชาชนได้ทั่วถึงทุกคน โดยมีรายละเอียดการจำหน่าย ดังนี้

1. รุ่นสุขใจให้ออมบนวอลเล็ต สบม. 

วงเงิน 15,000 ล้านบาท (จัดสรรพันธบัตรแบบ First-Come, First-Served) ให้แก่ประชาชน 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ร้อยละ 2.30 ต่อปี และรุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน 

ซื้อได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป (ผู้เยาว์จะต้องลงทะเบียนในวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และไปยืนยันตัวตนพร้อมผู้ปกครองเพื่อกรอกเอกสารให้ความยินยอม ณ สาขาธนาคารกรุงไทยสำหรับการซื้อครั้งแรก) 

ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท - 20 ล้านบาท จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 7 – 20 ธันวาคม 2565 

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อลงทะเบียน ยืนยันตัวตน และเติมเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ผ่าน Mobile Banking หรือผูกบัญชีธนาคารกรุงไทย รวมถึงเติมเงินด้วย Wallet ID ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา และเตรียมซื้อพันธบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป 

2. รุ่นสุขใจให้ออม 

วงเงินรวม 45,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยแบ่งการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง ดังนี้

- ช่วงที่ 1 เปิดให้ประชาชนจองซื้อพันธบัตร (13 -14 ธันวาคม 2565) วงเงิน 40,000 ล้านบาท จำนวน 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ร้อยละ 2.30 ต่อปี และรุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จัดสรรพันธบัตรแบบ Small Lot First (ทยอยจัดสรรพันธบัตรเป็นรอบๆ เวียนจนครบผู้ซื้อทุกราย) วงเงินจองซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท ทวีคูณรอบละ 1,000 บาท สามารถจองซื้อได้โดยไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง 

ผู้สนใจสามารถจองซื้อผ่าน Internet Banking Mobile Banking หรือเคาน์เตอร์ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง 

ทั้งนี้ ลำดับในการจองซื้อไม่มีผลต่อการจัดสรร ไม่ว่าจะไปช้าหรือเร็วมีสิทธิ์การซื้อเท่าเทียมกัน 

ซึ่งผู้จองซื้อจะทราบผลการจัดสรรพันธบัตร ในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 จากทั้งจาก SMS ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย การเผยแพร่ผลการจัดสรรพันธบัตรในภาพรวมที่เว็บไซต์ สบน. www.pdmo.go.th และเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) www.bot.or.th รวมถึงสามารถตรวจสอบ

วงเงินที่ได้รับจัดสรรผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่แท็บพันธบัตรออมทรัพย์ที่ซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย ทั้งนี้ หากได้รับจัดสรรไม่ครบตามวงเงินจองซื้อ หรือผิดเงื่อนไขการจำหน่าย ธนาคารตัวแทนจำหน่าย

จะดำเนินการคืนเงินค่าจองซื้อในวันที่ 16 ธันวาคม 2565 (กรณีมีเหตุสุดวิสัยจะประกาศผลการจัดสรรภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2565 และคืนเงินจองซื้อในส่วนที่ไม่ได้รับจัดสรรภายหลังโดยเร็วต่อไป)

- ช่วงที่ 2 เปิดจำหน่ายให้แก่นิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด (19 - 20 ธันวาคม 2565) วงเงิน 5,000 ล้านบาท จัดสรรพันธบัตรแบบ First-Come, First-Served รุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ร้อยละ 2.90 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน วงเงินซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท และไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง 

ทั้งนี้ วงเงินที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และธนาคารตัวแทนจำหน่ายไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง 

ประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการจำหน่ายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจำหน่ายผ่านช่องทางวอลเล็ต สบม. ได้ที่ธนาคารกรุงไทย โทร. 0-111-1111 และการจำหน่ายผ่านช่องทางธนาคาร ที่ธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง 

สบน. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจำหน่ายพันธบัตรในครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีและขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจลงทุนกับพันธบัตรออมทรัพย์ด้วยดีเสมอมา

พันธบัตรออมทรัพย์ สุขใจให้ออม ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท เริ่ม 7 ธ.ค.นี้

ภาพจาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ



ข้อมูลจาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

ภาพจาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง