TNN online สบน.จ่อขายพันธบัตรออมทรัพย์ 5 หมื่นล้านธ.ค.นี้

TNN ONLINE

Wealth

สบน.จ่อขายพันธบัตรออมทรัพย์ 5 หมื่นล้านธ.ค.นี้

สบน.จ่อขายพันธบัตรออมทรัพย์ 5 หมื่นล้านธ.ค.นี้

สบน. เล็งระดมทุนออกบอนด์ออมทรัพย์อีก 5 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมด 1.3 แสนล้านบาท หลังนักลงทุนให้การตอบรับท่วมท้น หวั่นดอกเบี้ยขาขึ้นกดดันแผนการกู้เงินในอนาคต คาดสิ้นปีงบประมาณ 2566 หนี้ประเทศแตะ 60.43%

นางแพทริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-ก.ย.66) มีแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์ (Savings Bond) จำนวน 1.3 แสนล้านบาท โดยนักลงทุนให้การตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งภายในเดือน ธ.ค.2565 นี้ วางแผนจะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ล็อตแรก วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อทดแทนพันธบัตรออมทรัพย์ที่ครบอายุ


สำหรับความต้องการกู้เงินของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 2.21 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น การกู้เงินใหม่ 7.74 แสนล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้ 1.44 ล้านล้านบาท ซึ่งเครื่องมือในการระดมทุน แบ่งเป็น พันธบัตรระยะยาว 1.09 ล้านล้านบาท หรือ 49-50%, Bond Switching 1.4 แสนล้านบาท หรือ 6%, ตั๋วเงินคลัง 5.4 แสนล้านบาท หรือ 24%, ตั๋วสัญญาใช้เงิน 2.82 แสนล้านบาท หรือ 13%, พันธบัตรออมทรัพย์ 1.3 แสนล้านบาท หรือ 6% และ Foreign Borrowing 3.35 หมื่นล้านบาท หรือ 2%


ทั้งนี้เห็นว่ามี 2 ปัจจัยสำคัญที่ท้าทาย ได้แก่ 1.ภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา สบน.ได้พยายามเปลี่ยนดอกเบี้ยจากแบบลอยตัวมาเป็นแบบคงที่แล้วกว่า 80% แต่ยอมรับว่าการกู้เงินในระยะถัดไปจะต้องเจอต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะพยายามใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อดูแลนักลงทุนให้ครบทุกส่วน โดยมั่นใจว่าจะไม่ทำให้ต้นทุนในประเทศกระโดดสูงจนเกินไป

         

2.การของบชำระหนี้จากสำนักงบประมาณ ซึ่ง สบน.อยากเห็นงบชำระหนี้ภาครัฐมากขึ้นเป็น 3% โดยเมื่อรวมกับการชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจเป็นไม่เกิน 4% เพื่อลดภาระหนี้ของประเทศ ทำให้หนี้ปานกลางและระยะยาวของรัฐเป็นหนี้ที่แข็งแกร่ง


นอกจากนี้ ในส่วนของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ 1.05 ล้านล้านบาท ได้แก่ การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล 8.19 แสนล้านบาท เป็นการกู้เพื่อขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท และการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ 2.33 แสนล้านบาท และแผนการบริหารหนี้เดิม 1.73 ล้านล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 1.58 ล้านล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท แผนการชำระหนี้ วงเงิน 3.6 แสนล้านบาท โดยภายใต้แผนบริหารหนี้ดังกล่าว คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 จะอยู่ที่ 60.43%


ที่มา   คลัง 

ภาพประกอบ  คลัง

ข่าวแนะนำ