TNN online ทีดีอาร์ไอเตือน! “ล้างหนี้กยศ.” ยังไม่เหมาะกับสังคมไทย

TNN ONLINE

Wealth

ทีดีอาร์ไอเตือน! “ล้างหนี้กยศ.” ยังไม่เหมาะกับสังคมไทย

ทีดีอาร์ไอเตือน! “ล้างหนี้กยศ.” ยังไม่เหมาะกับสังคมไทย

ทีดีอาร์ไอเตือน ล้างหนี้กยศ. เปิดทางอุดหนุนเรียนฟรีถึงระดับอุดมศึกษา ยังเร็วไปสำหรับไทย เหตุระบบการศึกษาไทยยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ และอาจสร้างความเสี่ยงต่อระบบสวัสดิการ

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เปิดเผยถึงร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่เห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า สาระสำคัญที่จะไม่คิดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ หรือล้างหนี้กยศ. นั้น จริงๆแล้วเป็นแนวคิดนี้ที่ต้องการขยายสิทธิเรียนฟรีเหมือนการศึกษาภาคบังคับที่รัฐบาลจัดให้เรียนฟรี หรือต้องการขยายเพิ่มสิทธิเรียนฟรีเป็นระดับอุดมศึกษา เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มสแกนดินีเวีย 

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสำหรับประเทศไทย ยังมองว่าเร็วเกินไป เนื่องจากระบบการศึกษาไทยยังไม่มีคุณภาพมากพอที่จะทำให้มั่นใจว่าคุ้มค่ากับเงินที่จะลงทุนไป โดยมีความกังวลว่าเมื่อให้สิทธิเรียนฟรี ทุกคนก็อยากใช้สิทธิ แต่ระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ เมื่อเรียนจบอาจหางานทำไม่ได้ ทำให้ไม่เกิดประโยชน์กับผู้เรียน และภาวะเศรษฐกิจสังคมโดยรวมก็ไม่ได้ประโยชน์กลับคืนมา 

ดังนั้นหากจะเดินหน้าต่อในเรื่องนี้ ต้องมั่นใจว่าระบบการศึกษามีคุณภาพมากพอ เมื่อให้สิทธิเรียนฟรีแล้ว จะได้ประโยชน์ทั้งผู้เรียน และสังคมต้องได้อะไรกลับคืนมาด้วย ถึงจะเป็นการสร้างโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำได้ 

แต่ในระหว่างการแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ ควรทำไปพร้อมกับโครงการทักษะแรงงานกึ่งถ้วนหน้า โดยมีการให้คูปองมูลค่า 6,000 บาท ทุก 3 ปี เพื่อให้แรงงานเลือกเรียนหลักสูตรที่ต้องการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนวัยทำงานที่จบการศึกษาสูงสุดไม่เกินมัธยมต้น และไม่ได้เรียนอยู่ รวมถึงหากเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมก็สามารถใช้ได้

ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอประเมินว่าโครงการทักษะแรงงานกึ่งถ้วนหน้าจะใช้งบประมาณ 68,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะใช้เงินน้อยกว่าการขยายสิทธิให้เรียนฟรีระดับอุดมศึกษา และผู้ผ่านการอบรมน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า 

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. กยศ. แม้จะผ่านการเห็นชอบจาก ส.ส. แล้ว แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาในเดือนตุลาคมนี้ 

ข้อมูลจาก : TNN ONLINE

ภาพจาก : TNN

ข่าวแนะนำ