TNN online ผู้ว่าธปท.ย้ำไม่แทรกแซงค่าเงินบาท ชี้วิกฤต 40 เป็นบทเรียน

TNN ONLINE

Wealth

ผู้ว่าธปท.ย้ำไม่แทรกแซงค่าเงินบาท ชี้วิกฤต 40 เป็นบทเรียน

ผู้ว่าธปท.ย้ำไม่แทรกแซงค่าเงินบาท ชี้วิกฤต 40 เป็นบทเรียน

ผู้ว่าธปท.พร้อมดูแลค่าเงินบาทหากผันผวนผิดปกติ แต่ต้องไม่ฝืนทิศทางตลาด ชี้ไทยเคยมีบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 40


นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  เปิดเผยว่า  ธปท.ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะเข้าไปดูแลตอนที่มีความผันผวนผิดปกติ เพราะไม่อยากให้กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  แต่การดูแลจะต้องไม่ฝืนทิศทางตลาด  เนื่องจากเคยมีบทเรียนจากวิกฤติปี 2540 มาแล้ว  


สาเหตุการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าแล้วราว 12% ซึ่งอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่ง ธปท. พร้อมดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผันผวนผิดปกติ เพราะไม่อยากให้กระทบต่อการการนำเข้าและส่งออก รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


ทั้งนี้เงินบาทที่อ่อนค่าในปัจจุบันว่ามีผลต่อเสถียรภาพไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการกู้เงินจากต่างประเทศในระดับต่ำ ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการเคลื่อนย้ายของเงินทุนในปัจจุบันนั้นยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นกังวล โดยพบว่ายังเป็นการไหลเข้าสุทธิ 
         
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอยนั้น อาจจะส่งผลกระทบกับการส่งออก โดยล่าสุด ธปท. ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 3.3% ขณะที่ปี 66 ที่ระดับ 3.8% ซึ่งรวมสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น


ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้น คาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% ได้ในปี 2566 จากที่ทำสถิติสูงสุดในไตรมาส 3/2565 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทำสถิติสูงสุดในไตรมาส 4/2565 โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ไม่ได้มีเป้าหมายในใจว่าจะต้องปรับเท่าไหร่ หรือปรับขึ้นกี่ครั้ง 


แต่ขึ้นอยู่กับเวลาและบริบทที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่า หากสถานการณ์เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งเป็นสิ่งที่เรากังวล เพราะเป็นตัวสะท้อนว่าเครื่องยนต์เงินเฟ้อติดหรือไม่ หากปัจจัยเหล่านี้ต่างจากคาดการณ์ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็พร้อมที่จะปรับทิศทางนโยบายการเงิน หรือพร้อมที่จะประชุมนัดพิเศษต่อไป 


ส่วนการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปยังธนาคารพาณิชย์นั้น ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ ธปท.อยากเห็นการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปและเหมาะสมกับสถานการณ์ และต้องการให้ดำเนินการในทิศทางการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ


ที่มา  ธปท.

ภาพประกอบ  ธปท.

ข่าวแนะนำ