TNN online BEM คว้าชัยชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

TNN ONLINE

Wealth

BEM คว้าชัยชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

BEM คว้าชัยชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

"ภคพงศ์" เผยผลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม BEM คว้าชัยชนะเสนอขอรับอุดหนุนจากรัฐที่ 7.8 หมื่นล้านบาท ทิ้งห่าง ITD Group เสนอ 1.02 แสนล้านบาท คาดชงครม.ปลายปีนี้



นายภคพงศ์ ศิริกันทมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ผลการประมูลโครงการสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปรากฎว่า บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เสนอผลประโยชน์สุทธิดีกว่ากลุ่ม บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)  โดยเสนอตัวเลขเสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท  ทำให้รัฐจ่ายค่างานโยธาต่ำกว่าราคากลางที่ 96,000 ล้านบาท และให้เงินตอบแทนสูงกว่า ดังนั้น BEM เป็นผู้ชนะในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม


อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะต้องยืนยันตัวเลขที่นำเสนอมากับ BEM อีกครั้ง  และให้ BEM สามารถเสนอข้อเสนออื่นนอกเหนือจากที่มีในข้อเสนอซองผลตอบแทน ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ จะนำผลการประมูลดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ รฟม. จากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเข้า ครม.ได้ในปลายปีนี้ และจะสามารถเซ็นสัญญากับ BEM ได้ภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน        



รฟม.ระบุว่า ในวันนี้ได้ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ของผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) ประกอบด้วย 1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ 2.ITD Group ผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท ขณะที่ ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท 


ทั้งนี้สำหรับผลประโยชน์สุทธิคือ เงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม. ซึ่งตัวเลขติดลบ หมายความว่า ยิ่งติดลบน้อยจะเป็นประโยชน์กับภาครัฐมากกว่า เพราะขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐน้อยกว่า อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอดังกล่าว และดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเคร่งครัดต่อไป


สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง 3.2 หมื่นล้านบาท โดย รฟม. เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้า และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร(กม.) แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กม. 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) คาดว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออกเดือน ส.ค.68 และส่วนตะวันตกเดือน ธ.ค.70

   

 


ที่มา   รฟม.

ภาพประกอบ  รฟม.


ข่าวแนะนำ