TNN online "สุพัฒนพงษ์" กล่าวปาฐกถาพิเศษ "เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter"

TNN ONLINE

Wealth

"สุพัฒนพงษ์" กล่าวปาฐกถาพิเศษ "เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter"

สุพัฒนพงษ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter" ย้ำความเชื่อมั่นประชาชน ประเทศไทยกำลังจะดีขึ้น

วันนี้ (7 ก.ย.65) ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 15 ของสถานีโทรทัศน์ TNN ช่อง 16 ได้จัดการจัดสัมมนา หัวข้อ "การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset" โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงาน เพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง จากผู้ดำเนินนโยบายของประเทศ ไปสู่ภาคธุรกิจ และประชาชน โดยตรง โดยในงานสัมมนาดังกล่าวนั้น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter" ด้วย



นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เวลา 3 ปีผ่านไปเร็วเหลือเกิน และช้าเหลือเกินกับวิกฤตที่ซ้อนวิกฤตขนาดนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ก่อ และเป็นผลกระทบกับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระบาดของโรคอุบัติใหม่ วิกฤตความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจของโลก ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหาร ราคาพลังงานสูงขึ้น ต่อเนื่องมาจนเกิดภาวะเงินเฟ้อในที่สุด

รายได้จากการท่องเที่ยว บริการ ซึ่งเป็นรายได้หลักหายไปในทันที 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลา 3 ปี

ขณะนี้ ไทยประเทศเปิด วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีเพียงพอ เศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้น คาดว่าปีนี้น่าจะเห็นนักท่องเที่ยว 6-8 ล้านคน หนี้สินเหลือ 3 ล้านกว่าบัญชี จาก 12-13 ล้านบัญชี รายได้ทางเศรษฐกิจการลงทุนทยอยเข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่พ้นความขัดแย้งของ 2 ขั้วอำนาจ ซึ่งสร้างปัญหาในเรื่องของต้นทุนราคาพลังงาน นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สุพัฒนพงษ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ท่ามกลางสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เกิดโอกาสใหม่เยอะขึ้นกับประเทศไทยเช่นเดียวกัน วันนี้อยากให้ประชาชนพี่น้องประชาชนทุกคนได้เข้าใจว่าเศรษฐกิจได้ทยอยดีขึ้น ดัชนีดีขึ้น ความเข้มแข็งของรัฐบาล เอกชน รวมถึงสภาพคล่องที่ยังมีอยู่ในประเทศ 

ขณะนี้ ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางการเงินการคลังดีเหมือนเดิม สถาบันเอกชน ธนาคารก็เช่นกัน อยากให้ประชาชนได้มั่นใจ ว่า ถึงวันนี้สถานการณ์ดีขึ้น สภาพทุกอย่างยังใกล้เคียงก่อนโควิด-19 

ประเทศไทยจะมีสภาพที่จะรับมือกับสิ่งที่ยังมีความคงค้างของวิกฤตอยู่บ้าง นั่นคือ เรื่องของพลังงาน วันนี้ราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันของประเทศไทย เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ไทยอยู่อันดับท้ายๆ ที่ไม่ได้แพง ล่าสุด อินโดนีเซียประกาศขึ้นอีก 30% ขณะที่ประเทศไทยได้ค่อยๆ ให้อุตสาหกรรมปรับตัว ประคับประคองท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว

สุพัฒนพงษ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter

โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีให้เห็น เช่น นายกรัฐมนตรีขึ้นไปกล่าวในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เกี่ยวกับ "ความเป็นกลางทางคาร์บอน" หรือ Carbon Neutral โดยจะทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 อุตสาหกรรมต่างๆ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง 

ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ประกาศเรื่องนี้ พลังงานสะอาดเกิดขึ้นอีก 10,000 เมกะวัตต์ คิดเป็น 25% ของพลังงานในประเทศไทย โดยการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยด้วย 

รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของการผลิตพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่สำคัญของโลก โดยเชื่อมั่นว่าการผลิตพลังงานไฮโดรเจน จะเป็นจุดแข็งและจุดสำคัญของประเทศไทยนั่นคือความเชื่อมั่นจากคนภายนอกที่มองมาสู่ประเทศไทย

สุพัฒนพงษ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter

โอกาสที่เกิดขึ้นนอกจากนี้ คือ เรื่องของ "ดิจิทัลเทคโนโลยี" จะเกิดขึ้นอีกหลายๆ อย่าง เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้เข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากขึ้น โดยในช่วงโควิด-19 รัฐบาลได้ช่วยเหลือและให้ความรู้กับประชาชนผ่านเทคโนโลยี ได้ถึง 40-50 ล้านคน ผ่านแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ประชาชนส่วนใหญ่สามารถใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็น 

และได้สานต่อจากการทำ "สลากดิจิทัล" ขายในราคา 80 บาท วันนี้เกิดขึ้นได้แล้ว และสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น คือ ความน่าสนใจที่จะมีเอกชนลงทุนมาสานต่ออีกด้วย

สุพัฒนพงษ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter

นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นประตูทางการค้าได้มีความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ด้วยความสะดวกถนนหนทางต่างๆ พร้อมถนน 4 เลน เกือบจะเชื่อมเมืองเชื่อมภูมิภาค ไม่ใช่ประเทศไทยอย่างเดียว

นักลงทุนหลายคนอยากจะย้ายฐานเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และก็พบว่ามียอดผู้แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วก็จะนำอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยเราไม่เคยมีมาก่อน

ในเรื่องอุตสาหกรรมด้าน อาหาร ท่องเที่ยว สุขภาพ เมื่อประเทศเติบโตจะบริโภคอย่างเดิมไม่ได้ จำเป็นต้องเก็บเพื่อให้เพียงพอเพื่อการเจริญเติบโตของประชากรในโลก

ช่วงวิกฤตที่ผ่านมาหลายประเทศไม่เคยคิดว่ามันเป็นความเสี่ยงก็คือ เรื่อง "ความปลอดภัยของการมีอาหาร" หรือวัตถุดิบ ทุกคนหันมามองเมืองไทย เราก็จะเป็นศูนย์กลางเรื่องของอาหารสินค้าเกษตรต่างๆ การเพิ่ม productivity ให้มีการผลิตให้มากขึ้น และทันสมัยมากขึ้น 

โดยกลุ่มประเทศที่น่าสนใจคือกลุ่มตะวันออกกลาง เป็นประเทศที่มีพลังงาน แต่ไม่มีทรัพยากรที่เป็นอาหาร หรือการบริการด้านสุขภาพ อย่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้เข้ามาพูดคุยร่วมมือกัน โดยอยากนำสิ่งเหล่านี้ไปเผยแพร่ให้กับประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางด้วย

สุพัฒนพงษ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter

รองนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลทำงานเต็มที่ มีทีมปฏิบัติการเชิงรุกในการดำเนินการเรื่องนี้ ถ้าทำสำเร็จทั้งหมด โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ จะสร้างระบบนิเวศ สร้างธุรกรรมอื่นๆ รวมถึง SME ด้วย จะมีการลงทุน 2 ล้านล้านบาท

สุพัฒนพงษ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter

"ผมไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าๆ มีหลายๆ เรื่องที่ไม่เคยเห็นหรือทราบ และสิ่งสำคัญคือ มีหลายเรื่องที่พบว่า ประเทศไทยมีโอกาส มีความหวัง แม้กระทั่งในยามวิกฤต แต่จะเกิดขึ้นได้คือความร่วมมือจากประชาชนและความเชื่อมั่นของคนไทยต่อประเทศไทยเองว่าเรากำลังจะดีขึ้น 

อย่าได้เปรียบเทียบกับตนเองเมื่อก่อนวิกฤต แน่นอนว่าธุรกิจมันอาจจะยังกลับมาไม่เหมือนเดิม แต่ขอให้เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน เพราะเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทั้งโลก เมื่อท่านได้ทำความเข้าใจจะเห็นว่าเพื่อนบ้านเขาเจออะไรบ้าง ลำบากและมีโอกาสน้อยมากกว่าประเทศไทยมาก" รองนายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้าย.


สุพัฒนพงษ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter

ภาพจาก TNN Online

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง