TNN online นักลงทุนแห่ลงทุนไทย 6 เดือน ทะลุ 2.1 แสนล้าน ยานยนต์ไฟฟ้า-ดิจิทัลมาแรง

TNN ONLINE

Wealth

นักลงทุนแห่ลงทุนไทย 6 เดือน ทะลุ 2.1 แสนล้าน ยานยนต์ไฟฟ้า-ดิจิทัลมาแรง

นักลงทุนแห่ลงทุนไทย 6 เดือน ทะลุ 2.1 แสนล้าน ยานยนต์ไฟฟ้า-ดิจิทัลมาแรง

บีโอไอเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในช่วง 6 เดือนแตะ 2.1 แสนล้าน กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนดิจิทัลมาแรง ไต้หวันแชม์ลงทุนสูงสุด

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือน (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2565 ที่ผ่านมา มีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน 784 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  4% และมูลค่ารวม 219,710 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน   42 % เนื่องจากในปี 2564 มีการขอรับการส่งเสริมการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก มีเงินลงทุนรวมสูงถึง 75,780 ล้านบาท


สำหรับคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 358 โครงการ คิดเป็น 46% ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด และมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 153,480 ล้านบาท คิดเป็น  70 % ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมดิจิทัล มีอัตราการขยายตัวสูงสุด โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดที่ 42,410 ล้านบาท ขยายตัว  212 %  อุตสาหกรรมดิจิทัล มูลค่าเงินลงทุน 1,450 ล้านบาท ขยายตัว  202% 


ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 395 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 130,081 ล้านบาท โดยการลงทุนจากไต้หวันมีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 36,100 ล้านบาท เนื่องจากมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน สอดคล้องกับนโยบายบีโอไอที่มุ่งให้การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันไทยไปสู่ศูนย์กลางการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาค และคาดว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มาตรการสนับสนุนของรัฐบาลได้รับความสนใจจากผู้ผลิตยานยนต์อย่างกว้างขวาง


สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 217 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 104,850 ล้านบาท โดยจังหวัดระยองมีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าเงินสูงสุด 85,500 ล้านบาท จาก 86 โครงการ รองลงมา คือจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 16,690 ล้านบาท จาก 110 โครงการ และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุน 2,660 ล้านบาท จาก 21 โครงการ ในแง่ของสาขาอุตสาหกรรม เป็นการลงทุนในหมวดอุตสาห กรรมยานยนต์และชิ้นส่วนถึง 49%  เนื่องจากโครงการยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ รองลงมาคืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี   30% ซึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของภูมิภาคอยู่แล้ว 


นอกจากนี้ มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 141 โครงการ เงินลงทุน 11,830 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อการใช้พลังงานทดแทน การประหยัดพลังงาน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับทิศทางของโลกที่ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนซึ่งกำลังจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าสู่ตลาดด้วย 


เนื่องจากคู่ค้ารายใหญ่เริ่มกำหนดเงื่อนไขการใช้พลังงานทดแทน ส่วนมาตรการสิทธิประโยชน์สำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ก็ยังเป็นมาตรการที่ภาคเอกชนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง รองรับโครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ภาคการผลิตจำเป็นต้องนำระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานคน ส่วนคำขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการ SMEs มีจำนวน 21 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1,050 ล้านบาท 


นอกจากนี้บอร์ดบีโอไอได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ รวม 4 โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก มูลค่า 17,891 ล้านบาท จากประเทศจีน กิจการผลิตก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มูลค่า 18,000 ล้านบาท กิจการขนส่งทางเรือของบริษัท ฐิตติ ภูมิ จำกัด มูลค่า 4,310 ล้านบาท และบริษัท ศานติ ภูมิ จำกัด มูลค่า 4,310 ล้านบาท


ขณะเดียวกันได้เห็นชอบให้เพิ่มประเภทกิจการผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 4 ประเภท ได้แก่

1. กิจการผลิตเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง รวมถึงการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วน และการซ่อมแซมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ผลิตเอง ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี

2. กิจการซ่อมแซมเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน)

3. กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (Additive Manufacturing) ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี

4.  กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไมโครเทคโนโลยีในการผลิต ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี 


“การเพิ่มประเภทกิจการใหม่ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตและการซ่อมแซมเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูงเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมในภาพรวม นอกจากนี้ การผลิตแบบ Additive Manufacturing ได้กลายเป็นแนวโน้มใหม่ในการผลิต จึงจำเป็นต้องสร้างนโยบายสิทธิประโยชน์ที่ปรับเปลี่ยนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง”  



นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังได้มีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยโครงการที่มีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) มากกว่า 2,000 ล้านบาท ต้องเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามที่คณะกรรมการกำหนดจากเดิม 750 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่นักลงทุนในการเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน


ที่มา   บีโอไอ

ภาพประกอบ   พาณิชย์

ข่าวแนะนำ