ลูกจ้างเฮ ! ชงครม.เคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-8% ดีเดย์ต.ค.นี้

"สุชาติ" เตรียมเสนอครม.ต้นเดือนก.ย.ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-8% ทั่วประเทศ คาดมีผลบังคับใช้ 1 ต.ค.นี้ วอนอย่าเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้าการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า ได้ให้นโยบายกับปลัดกระทรวงแรงงานไปแล้วว่า จะต้องทำให้จบภายในเดือนส.ค.65 และจะน่านำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในช่วงต้นเดือน ก.ย.65 โดยตัวเลขเบื้องต้นที่กำหนดจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-8%
ทั้งนี้พิจารณาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) และภาวะเงินเฟ้อ โดยนำจีดีพีของแต่ละจังหวัดมาคำนวณ ซึ่งจะสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับอัตราการการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดได้ โดยสถานการณ์ค่าครองชีพจากฐานเดิมจะเห็นว่าบางพื้นที่ อย่าง กทม. ภูเก็ต และอีอีซี คงต้องปรับขึ้นก่อนและสูงขึ้นมากกวาพื้นที่อื่น เพราะค่าครองชีพ และจีดีพีจังหวัดนั้นสูงมาก
"สถานการณ์ค่าครองชีพก็ล้อจากฐานเดิม ซึ่งในพื้นที่อย่างจังหวัดภูเก็ต หรือพื้นที่จังหวัดในอีอีซี และพื้นที่กทม. ต้องขึ้นก่อนและสูงขึ้นไป เพราะค่าครองชีพและจีดีพีจังหวัดดังกล่าวสูง ย้ำว่าเราจะเร่งรัดเพื่อนำเข้าครม.ในเดือนก.ย.ให้ได้ และส่วนตัวก็อยากให้มีผลบังคับใช้วันที่1 ต.ค.ปีนี้ เพราะคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับสภานายจ้างว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับให้ขึ้นเร็วกว่าต้นปี 2566 เพราะขณะนี้สินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับตัวไปแล้ว อย่างไรก็ดี ขอให้เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้"
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ไม่ได้มีการปรับค่าแรงเลย เนื่องจากต้องแก้ปัญหาเยียวยาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลทำได้แต่ประคับประคองไม่ให้เลิกจ้าง และวันนี้เป็นเวลาที่เหมาะสม นายจ้างก็เห็นด้วย
ส่วนจะมีผู้มองว่าการเร่งระยะเวลาขึ้นมา เป็นการใช้ประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่นั้น เป็นเรื่องช่วงเวลาที่เหมาะสมมากกว่า ถ้าคิดว่าการขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง คงขึ้นค่าแรง 492 บาทตามข้อเรียกร้องของผู้นำแรงงานไปแล้ว และขอร้องอย่าเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ
ที่มา นายสุชาติ ชมกลิ่น
ภาพประกอบ พิกซาเบย์