TNN online โยนกกพ.ชี้ขาด ! เคาะมาตรการรับมือผลกระทบขึ้นค่าไฟ

TNN ONLINE

Wealth

โยนกกพ.ชี้ขาด ! เคาะมาตรการรับมือผลกระทบขึ้นค่าไฟ

โยนกกพ.ชี้ขาด ! เคาะมาตรการรับมือผลกระทบขึ้นค่าไฟ

"กุลิศ" เด้งรับนโยบาย "บิ๊กตู่" โยนกกพ.ออกมาตรการรองรับผลกระทบค่าไฟงวดใหม่แตะ 4.72 บาทต่อหน่วย ห่วงกฟผ.แบกหนี้กว่าแสนล้านบาท

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เพื่อพิจารณามาตรการรองรับผลกระทบจากการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) เดือนก.ย.-ธ.ค. 2565 ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นห่วงผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม 


ทั้งนี้ยอมรับว่ามติบอร์ดกกพ.ได้เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดดังกล่าวไปแล้วในอัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วยเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมาดังนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขไปจากนี้หรือไม่กกพ.คงจะต้องมีการพิจารณา


“นายกฯ เป็นห่วงผลกระทบหากขึ้นแล้วจะมีมาตรการอะไรมาช่วยเหลือได้บ้าง ความเป็นไปได้ที่จะทบทวนค่าไฟฟ้าเอฟทีตามมติบอร์ด กกพ. ทำได้หรือไม่ คงต้องหารือกับกกพ.โดยยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของกกพ. คงไม่อยากไปก้าวล่วง ซึ่งก่อนหน้านี้กกพ.ยืนยันว่าทำไม่ได้เพราะมีกฏหมายกำหนดไว้ ซึ่งกกพ. คงเห็นแล้วว่าถึงเวลาที่ที่ต้องปรับขึ้น ประเด็นหลักที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงคือผลกระทบกับประชาชน ต้องหาทางช่วยเหลือ” 


ทั้งนี้แนวทางการปรับขึ้นค่าเอฟทีที่พิจารณาครั้งนี้ถือเป็นอัตราต่ำสุดที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและยังไม่ได้คืนหนี้ให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) ที่แบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงมาตั้งแต่ปี 2564 และการรับภาระงวดใหม่นี้ จะทำให้กฟผ.แบกรับภาระค่าเอฟทีราว 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งกรณีนี้ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงต่อสภาพคล่องของกฟผ.ซึ่งรัฐเองคงต้องเข้าไปดูว่าจะทำอย่างไร เช่น เงินกู้เพิ่มเติม เป็นต้น


สำหรับการผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณที่ยังไม่ได้ตามเป้าก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟสูงขึ้นเนื่องจากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่ราคาแพง ซึ่งตอนนี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างเร่งกำลังผลิต เพราะเมื่อของเดิมไม่ได้มีการขุดเพิ่ม จึงทำให้กำลังการผลิตลดลง หากปตท.สผ.เร่งกำลังผลิตขึ้นมาก็จะทำให้ปริมาณเพิ่มขึ้นได้ 


ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าในปี 2565 จะมีไม่ต่ำกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังผลิตที่ 300 กว่าล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพราะปตท.สผ.เข้าพื้นที่ได้วันที่ 24 เม.ย. 2565 จึงต้องใช้เวลาในการเร่งกำลังผลิต


อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้โจทย์ที่รัฐบาลต้องการมี 2 แนวทาง คือ 1. กกพ.พิจารณาแนวทางต่ออายุมาตรการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ประเภทบ้านอยู่อาศัย และประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงสิ้นปี 2565 โดยผู้ใช้ไฟกลุ่มดังกล่าวที่จ่ายค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่าเอฟที ที่ 0.2338 บาทต่อหน่วย (จ่ายเท่าอัตราเดิมเดือนม.ค.-ส.ค. 2565) ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว รัฐบาลเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้ แต่ครั้งนี้รัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณมาให้ กกพ.จึงไม่สามารถดำเนินการให้ได้


2. หากไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีงบประมาณ อยากขอให้ กกพ.พิจารณาแนวทางสูตรคิดคำนวณค่าไฟใหม่ภายใต้เกณฑ์ใครใช้ไฟน้อยให้ค่าเอฟทีอัตราต่ำ ใครใช้ไฟมากให้จ่ายค่าไฟสูง แต่กกพ.ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะต้องใช้เวลาเพราะจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่มส่วนได้ส่วนเสีย และอาจจะต้องเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน


ที่มา  กระทรวงพลังงาน 

ภาพประกอบ  กฟผ.

ข่าวแนะนำ