TNN online 2 กลุ่มบิ๊กรับเหมาชิงเค้กรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดซองประกวดราคา 1 ส.ค.นี้

TNN ONLINE

Wealth

2 กลุ่มบิ๊กรับเหมาชิงเค้กรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดซองประกวดราคา 1 ส.ค.นี้

2 กลุ่มบิ๊กรับเหมาชิงเค้กรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดซองประกวดราคา 1 ส.ค.นี้

กลุ่มบิ๊กรับเหมาก่อสร้างทั้ง บีอีเอ็ม-ช.การช่าง อิตาเลียนฯ-อินชอน ยื่นประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน คาดเปิดข้อเสนอเอกชน 1 ส.ค.นี้ ด้าน "คีรี"ออกโรงไม่ เข้าร่วมเหตุการดำเนินโครงการขัดมติครม.

 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า หลังจากเปิดให้เอกชน 14 รายที่ซื้อเอกสารการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยื่นข้อเสนอฯ  ในวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา มีเอกชนเพียง 2 กลุ่มที่มายื่นข้อเสนอ ประกอบด้วย 1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยยื่นข้อเสนอในนาม BEM มีผู้รับเหมางานโยธาคือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) มีเอกสารประกอบการยื่นข้อเสนอรวมกว่า 300 กล่อง


2. ITD Group โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับบริษัทขนส่งอินชอน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ มีเอกสารมายื่นข้อเสนอกว่า 100 กล่อง



อย่างไรก็ตาม การเปิดให้ยื่นซองครั้งนี้ เป็นการประมูลรอบใหม่ (ครั้งที่ 2) หลังจากก่อนหน้านี้ รฟม. ได้ประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ครั้งแรก ซึ่งครั้งนั้นมีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ได้แก่ BEM และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC)  โดยบีทีเอส ไม่ได้มายื่นข้อเสนอเหมือนครั้งที่ผ่านมา


ทั้งนี้ รฟม. มีกำหนดเปิดซองข้อเสนอของเอกชนในวันที่ 1 ส.ค. นี้ และวางเป้าหมายจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในปลายปี 65 ส่วนที่บีทีเอสฟ้องร้องคดีก็ให้เดินไปตามกระบวนการ เพราะเป็นสิทธิของบีทีเอส ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง 3.2 หมื่นล้านบาท


รฟม.จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กม. อย่างไรก็ตามหลังจาก รฟม.ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 รฟม.ได้ปรับแผนการดำเนินงานโครงการ เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. ในเดือน ส.ค.68 (เป้าหมายเดิมจะเปิดบริการในปี 66) จากนั้นจะเปิดให้บริการส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. ในเดือน ธ.ค.70



นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า การเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามที่รฟม.เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น  เข้าใจว่า เรื่องนี้ทางศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หรือคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ยกเลิกการประมูลและประกาศของ รฟม. ที่ยกเลิกการประมูลโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 แล้ว เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องกลับไปใช้ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรมฯ) หรือ TOR และเอกสารการคัดเลือกเอกชนหรือ RFP ตามหลักเกณฑ์การประมูลโครงการครั้งเดิมเมื่อ ก.ค. 2563


“ผมไม่อยากกล่าวถึงรายละเอียดของการประมูลของโครงการครั้งใหม่นี้มากนัก เนื่องจากว่า ทางเราเชื่อว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่น่าจะถูกกฎหมาย และน่าจะขัดกับมติคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดการจำกัดการแข่งขัน และทำให้ รฟม. เองเสียโอกาสที่จะได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุดจากการจำกัดแข่งขันในการประมูลดังกล่าว ทั้งTOR และ RFP ที่ออกมาเป็นการกีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรไม่ให้สามารถเข้าร่วมประมูลได้ โดยบริษัทฯ พร้อมประมูลสายสีส้ม แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขความถูกต้อง เป็นธรรม และให้ผลประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด”  


ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทฯ กล่าวว่า ตามที่ รฟม. เปิดรับซองข้อเสนอเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  บริษัทฯ และพันธมิตรไม่ได้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอดังกล่าว เพราะหลังจากศึกษารายละเอียด TOR และ RFP ฉบับใหม่ พบว่า มีการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขแตกต่างไปจากเดิมและเป็นเงื่อนไขที่มีข้อกำหนดด้านคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ที่กีดกันการแข่งขัน ทำให้เอกชนที่เคยมีคุณสมบัติและสามารถเข้าประมูลได้ในครั้งที่ผ่านมา กลับไม่สามารถเข้าประมูลในครั้งนี้ได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจถือได้ว่า มีเจตนากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม


ขณะเดียวกัน ยังอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดจนอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ตลอดจนขัดต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งทางเราเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคำพิพากษาศาลปกครอง รวมถึงพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


อย่างไรก็ตามโดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอทุเลาการบังคับฯ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณาและยกเลิก TOR และ RFP ของการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นี้ พร้อมทั้งขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งห้ามไม่ให้นำ TOR และ RFP ใหม่มาใช้ในการประมูลโครงการนี้ และกลับไปใช้ TOR และ RFP ของการประมูลโครงการครั้งเดิมเมื่อ ก.ค. 2563 ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติ ครม. ตลอดจนเป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครอง โดยขณะนี้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง


ทั้งนี้ บริษัทฯ ก็ได้ยื่นหนังสือสงวนสิทธิดำเนินการทางกฎหมายและขอคัดค้านการประมูลโครงการโดยใช้TOR และ RFP ใหม่ต่อคณะกรรมการ รฟม., ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แล้ว นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 บริษัทฯ ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในเรื่องให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกรณีที่ รฟม. ได้ออก TOR และ RFP ในการประมูลใหม่


อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมติ ครม. และคำพิพากษาศาลปกครอง อันอาจถือได้ว่ามีเจตนากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรทำให้ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมการประมูลโครงการครั้งนี้ตามที่ได้ชี้แจงไปข้างต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ ต้องเสียหาย บริษัทฯ จึงต้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม


ที่มา  รฟม.

ภาพประกอบ  รฟม. 



ข่าวแนะนำ