TNN online ตลาดอสังหา 2565 ไตรมาส1ขยับขึ้น 5% ครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

TNN ONLINE

Wealth

ตลาดอสังหา 2565 ไตรมาส1ขยับขึ้น 5% ครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

ตลาดอสังหา 2565 ไตรมาส1ขยับขึ้น 5% ครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ไตรมาส 1/ 2565 คอนโดฯขายได้ใหม่เพิ่มดันอัตราดูดซับภาพรวมขยับขึ้น 5% ชี้ยังต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผยรายงานภาพรวม  ตลาดอสังหา 2565  หรือตลาดที่อยู่อาศัย ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ยังคงต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ภาวะ  เงินเฟ้อ  ที่สูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี รวมถึงอัตรา  ดอกเบี้ย  ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการตัดสินใจขยายการลงทุนของผู้ประกอบการภาคเอกชน และส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอแผนการซื้อที่อยู่อาศัยแม้จะยังมีความต้องการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจกำหนดทิศทางการลงทุน REIC จึงดำเนินการสำรวจอุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย โดยกำหนดให้มีการสำรวจภาคสนามเป็นรายไตรมาสในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ 3 จังหวัด EEC (จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) นับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย 


อุปทานที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในช่วงไตรมาส 1/2565 

วันนี้(22 มิ.ย.65) นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยเสนอขาย ณ ช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 พบว่ามีจำนวน 200,278 หน่วย มูลค่า 947,604 ล้านบาท โดยมีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 3,189 หน่วย แต่มูลค่ากลับลดลง 4,725 ล้านบาท เมื่อเทียบกับจากช่วงครึ่งหลังปี 2564 



 ในจำนวนดังกล่าวเป็นโครงการบ้านจัดสรร 116,941 หน่วย มูลค่ารวม 603,539 ล้านบาท เป็นโครงการอาคารชุดจำนวน 83,337 หน่วย มูลค่ารวม 344,065 ล้านบาท ทั้งนี้ การที่มูลค่าโครงการที่อยู่อาศัยเสนอขายลดลง เป็นผลจากการที่มีหน่วยเสนอขายใหม่เป็นหน่วยที่มีราคาต่ำลง โดยเฉพาะอาคารชุดภายใต้โครงการ BOI ที่ได้รับใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้ เริ่มมีการเปิดขายโครงการมากขึ้น



ยอดขายได้ใหม่ 3 เดือนแรกของปี 2565 

การสำรวจยังได้พบว่า ยอดขายได้ใหม่ พบว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของ ปี 2565 มีจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 30,098 หน่วย มูลค่า 135,939 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนและมูลค่าที่ขายได้ใหม่สูงกว่าครึ่งปีหลัง (6 เดือนสุดท้าย) ของปี 2564 ที่มีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่ 32,138 หน่วย มูลค่า 153,729 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากยอดขายใหม่ของโครงการอาคารชุดในกลุ่มราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทเช่นกัน โดยพบว่ามีโครงการอาคารชุดขายได้ใหม่ 19,055 หน่วย มูลค่า 66,179  ล้านบาท และเป็นโครงการบ้านจัดสรร  11,043 หน่วย มูลค่า 69,760 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งได้สะท้อนว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1 ปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี 2564 



อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงระดับของอัตราดูดซับต่อเดือนไตรมาส 1 ปี 2565 ในภาพรวมอัตราดูดซับที่อยู่อาศัยทุกประเภทอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ต่อเดือน (เพิ่มจากครึ่งหลังปี 2564 ที่ 2.7 ต่อเดือน) โดยอัตราดูดซับอาคารชุดสูงสุดที่ร้อยละ 7.6 ต่อเดือน (เพิ่มจากครึ่งหลังปี 2564 ที่ 3.3 ต่อเดือน) ขณะที่อัตราดูดซับบ้านจัดสรรอยู่ร้อยละ 3.1 ต่อเดือน (เพิ่มจากครึ่งหลังปี 2564 ที่ 2.4 ต่อเดือน)   ทั้งนี้ บ้านเดี่ยวก็ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีอัตราการดูดซับสูงสุด คือ ร้อยละ 3.5 ต่อเดือน (เพิ่มจากครึ่งหลังปี 2564 ที่ 2.4 ต่อเดือน) และต่ำที่สุดคือ บ้านแฝดที่ร้อยละ 2.7 ต่อเดือน (เพิ่มจากครึ่งหลังปี 2564 ที่ 2.3 ต่อเดือน)



หน่วยเหลือขายคงค้างกว่า 1.7 แสนหน่วย มูลค่ากว่า 8.1 แสนล้านบาท

ด้วยอัตราดูดซับที่ปรับดีขึ้นในหลายทำเลส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจมากขึ้นกับการเปิดขายโครงการใหม่ แต่ทั้งนี้ยังคงต้องเพิ่มความระมัดระวังในบางทำเลที่มีหน่วยเหลือขายคงค้าง โดยในภาพรวม ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีหน่วยเหลือขายจำนวนทั้งสิ้น 170,180 หน่วย มูลค่า 811,665 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการอาคารชุด 64,282 หน่วย มูลค่า 277,885 ล้านบาท โครงการบ้านจัดสรร จำนวน 105,898 หน่วย มูลค่า 533,779 ล้านบาท 



คาดการณ์ว่าตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลัง

ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่าตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีโอกาสฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุดมาช่วยเพิ่มความสามารถในการซื้อ ปลุกความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยให้ฟื้นตัวขึ้น  โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดการณ์ว่าในปี 2565 อุปทานด้านการเปิดขายโครงการใหม่จะมีจำนวน 83,608 หน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 62.2 โดยเพิ่มจาก 51,531 หน่วย มูลค่า 386,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.6 โดยเพิ่มจาก 218,948 ล้านบาท และคาดว่าจะมีหน่วยเหลือขายรวม 160,473 หน่วย ลดลงจากปี 2564 ร้อยละ -2.7 โดยลดลงจาก 164,951 หน่วย มูลค่า 762,810 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.5 จากปี 2564 โดยลดลงจาก 798,601 ล้านบาท 



ด้านอุปสงค์คาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีหน่วยขายได้ใหม่ประมาณ 77,223 หน่วย จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 โดยเพิ่มจาก 61,914 หน่วย ในปี 2564 มูลค่า 346,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยเพิ่มจาก 298,381 ล้านบาท 



ข้อมูลสำรวจที่แสดงการขยายตัวของการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ และ ยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่ ได้สะท้อนการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน ได้ส่งผลต่อค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นของประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น หากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ก็จะเป็นแรงฉุดโมเมนตั้มการฟื้นตัวของภาพรวมของประเทศไทย และภาคอสังหาริมทรัพย์ ให้ต้องสะดุด และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย



ข้อมูลจาก: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 

ภาพจาก: พีอาร์ คุณาลัย

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง