TNN online ไทยติดอันดับ 3 ของโลก ธุรกรรมชำระเงินเรียลไทม์ 9.7 พันล้านครั้ง

TNN ONLINE

Wealth

ไทยติดอันดับ 3 ของโลก ธุรกรรมชำระเงินเรียลไทม์ 9.7 พันล้านครั้ง

ไทยติดอันดับ 3 ของโลก ธุรกรรมชำระเงินเรียลไทม์ 9.7 พันล้านครั้ง

ประเทศไทยขึ้นชั้นแนวหน้า e-payment ติดอันดับ 3 ของโลกการชำระเงินแบบเรียลไทม์ ปี 2564 ทำธุรกรรม 9.7 พันล้านครั้ง โดยมาจากนโยบายโครงการ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" โครงการ "พร้อมเพย์" และการใช้งาน "เป๋าตัง" ในโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ชิมช้อปใช้ สลากดิจิทัล

วันนี้ (20 มิ.ย.65) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจของ เอซีไอ เวิลด์ไวด์ (ACI Worldwide) ภายใต้ความร่วมมือกับโกลบอลดาต้า (GlobalData) ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก และศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจและธุรกิจ (Centre for Economics and Business Research - CEBR) พบว่า 

ในปี 2564 ประเทศไทยมียอดการทำธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ จำนวน 9.7 พันล้านครั้งในปี 2564 ครองอันดับ 3 ของโลก รองจาก "อินเดีย" 48.6 พันล้านครั้ง และ "จีน" 18.5 พันล้านครั้ง ซึ่งการชำระเงินแบบเรียลไทม์ นี้ช่วยเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจคิดเป็น 2.08% ของ GDP ซึ่งอยู่อันดับที่ 2 จาก 30 ประเทศ ขณะที่ใน ปี 2563 และ 2562 ตัวเลขการทำธุรกรรมอยู่ที่ 5.24 พันล้านครั้ง และ 2.57 พันล้านครั้ง ตามลำดับ

การชำระเงินแบบเรียลไทม์ในประเทศมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประชาชนทุกช่วงวัยและผู้ประกอบการทุกขนาด อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของประเทศเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานโลก

ทั้งนี้ มาจากการขับเคลื่อนนโยบายการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) นับตั้งแต่ปี 2558 ผ่านโครงการ อาทิ

1.โครงการ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ"

2.โครงการ "พร้อมเพย์" (Prompt pay) และ QR Payment

3.Government Wallet (G-Wallet) ผ่านแอป “เป๋าตัง” ในโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ชิมช้อปใช้ การขายสลาก เป็นต้น

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์ด้วย

นางสาวรัชดา กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบาย National e-Payment อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและภาคธุรกิจในการทำธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ยังเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 

มีส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) รัฐบาลขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และภาครัฐจะยังคงเดินหน้าขยายงานบริการด้วยระบบ e-Payment ให้ครอบคลุมภารกิจต่าง ๆ ให้มากขึ้น.


ภาพจาก TNN ONLINE


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง