TNN online เงินบาท อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน สัปดาห์หน้าต้องจับตาปัจจัยอะไรเป็นพิเศษ?

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาท อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน สัปดาห์หน้าต้องจับตาปัจจัยอะไรเป็นพิเศษ?

เงินบาท อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน สัปดาห์หน้าต้องจับตาปัจจัยอะไรเป็นพิเศษ?

กสิกรไทย เผยค่าเงินบาทรอบสัปดาห์อ่อนค่าหนัก จับตาสัปดาห์หน้ายังมีความเสี่ยงหลายปัจจัย มองกรอบเคลื่อนไหวที่ 34.80-35.70 บาทต่อดอลลาร์

วันนี้ (18 มิ.ย.65)  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยภาพรวมความเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือนที่ระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์


โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค  ท่ามกลางสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางชั้นนำหลายแห่ง นำโดย ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ



อย่างไรก็ตาม แม้เงินดอลลาร์ฯ จะเผชิญแรงขายทำกำไรบางส่วนหลังการประชุมเฟด แต่เงินบาทยังคงมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่องจนถึงปลายสัปดาห์ เนื่องจากเฟดยังคงส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% หรือ 0.75% ต่อเนื่องอีกในการประชุมเดือน ก.ค. ขณะที่จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของไทยจะยังคงตามหลังเฟด โดยคณะกรรมการ กนง. ท่านหนึ่ง ระบุว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีการนัดหมายการประชุม กนง. รอบพิเศษเพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และการประชุมนัดต่อไปของ กนง. ยังเป็นเดือน ส.ค.นี้ตามปกติ



สำหรับความเคลื่อนไหวของเงินบาทเมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิ.ย. 2565   เงินบาท  ปิดตลาดที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 มิ.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 13-17 มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 12,328 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 13,459 ล้านบาท (เป็นการหมดอายุของตราสารหนี้ 9,154 ล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตร 4,305 ล้านบาท



ส่วนสัปดาห์ถัดไป (20-24 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.70 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะนำให้จับตาปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ค. ของไทย  ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองและยอดขายบ้านใหม่เดือน พ.ค. ผลสำรวจความเชื่อมั่น/ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อจากมุมมองของผู้บริโภค รวมถึงข้อมูล PMI เบื้องต้นเดือน มิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ของอังกฤษ และข้อมูล PMI เบื้องต้นเดือน มิ.ย. ของยุโรปและอังกฤษด้วยเช่นกัน


ข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ภาพจาก : AFP

ข่าวแนะนำ