TNN online "อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ-ประชาชนอย่างไร?

TNN ONLINE

Wealth

"อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ-ประชาชนอย่างไร?

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ-ประชาชนอย่างไร?

ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ-ประชาชนอย่างไร

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยระบุว่า รู้หรือไม่ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนอย่างไร วันนี้เราจะมาตอบข้อสงสัยนี้กัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้นโยบายการเงิน ในการควบคุมดูแลปริมาณเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลัก ซึ่งจะถูกส่งต่อผ่านภาคสถาบันการเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ โดยไม่เกิดทั้งภาวะเงินฝืด และภาวะเงินเฟ้อ หรือ ราคาสินค้าไม่ผันผวนจนเกินไป ประชาชนมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว

การตัดสินใจปรับ เพิ่ม ลด หรือ คง อัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะดูข้อมูลราคาสินค้าและข้อมูลทางเศรษฐกิจจากภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบกับการพบปะพูดคุยกับประชาชนและผู้ประกอบการภาคเอกชน 

ซึ่งผลการประชุม กนง ครั้งล่าสุด ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด

นโยบายการเงินคืออะไร ?

นโยบายการเงิน คือ เครื่องมือของธนาคารกลางในการกำหนดต้นทุนการกู้ยืมหรือปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายการเงิน

เราดำเนินนโยบายการเงินเพื่ออะไร ?

ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุ 3 เป้าหมาย คือ เสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และเสถียรภาพของระบบการเงิน

นโยบายการเงินส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและราคาสินค้าและบริการ การปรับขึ้นลงของราคาสินค้าและบริการเรียกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไปจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน 

ธปท. จึงดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมกับดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ และระบบการเงินมีเสถียรภาพ หรือที่เรียกว่า การดำเนินนโยบายการเงินโดยใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น

ภายใต้กรอบดังกล่าว ธปท. จะผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบาย ทั้งเครื่องมือนโยบายการเงิน มาตรการทางการเงิน มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน และมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อให้บรรลุทั้งสามเป้าหมายของนโยบายการเงิน เนื่องจากทุกเครื่องมือมีผลเชื่อมโยงกัน 

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ โดยค่าเงินบาทถูกกำหนดโดยกลไกตลาด และ ธปท. จะเข้าดูแลในกรณีที่ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป

ธปท. มีกระบวนการตั้งเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างไร ?

ธปท. จะจัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินของปีถัดไป โดยทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติภายในเดือนธันวาคมของทุกปี โดยจะกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปีถัดไปและสำหรับระยะปานกลางเอาไว้ หากอัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย ผู้ว่าการ ธปท. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่ออธิบายสาเหตุและแนวทางเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมาย รวมถึงระยะเวลาที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย โดยเปิดเผยเนื้อหาในจดหมายให้ประชาชนทราบด้วย

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50%

การประชุม กนง. เมื่อ 8 มิ.ย. 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป พ.ค. 65 7.10% กรอบเป้าหมาย 1–3%

ธปท. ตัดสินนโยบายการเงินอย่างไร ?

คณะกรรมการนโยบายการเงิน เป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินโดยใช้วิธีเสียงข้างมาก และเปิดเผยจำนวนคะแนนเสียงพร้อมกับผลการตัดสินนโยบายการเงิน

กนง. มีกรรมการทั้งหมด 7 คน มาจากผู้บริหาร ธปท. 3 คน และมาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ธปท. 4 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารซึ่งผ่านกระบวนการคัดเลือก มีวาระคราวละ 3 ปี และดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ ธปท. จะประกาศตารางการประชุม กนง.ของปีถัดไปล่วงหน้า 

ทั้งนี้ กนง. สามารถประชุมรอบพิเศษเพิ่มได้หากจำเป็น

ธปท. ติดตามและประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร ?

นโยบายการเงินใช้เวลาประมาณ 2 ปีถึงจะมีผลเต็มที่ต่อเศรษฐกิจ ธปท. จึงต้องมีการประเมินภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในอนาคตที่น่าเชื่อถือและครบถ้วนรอบด้าน โดยใช้ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณ เช่นข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนและเครื่องชี้เร็วด้านเศรษฐกิจ และ ข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเชิงลึกทั่วประเทศ เพื่อให้การตัดสินนโยบายการเงินสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ธปท. ยังติดตามข้อมูลภาวะการเงิน และข้อมูลเสถียรภาพของระบบการเงินในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ธุรกิจ ครัวเรือน สถาบันการเงิน เพื่อให้ตัดสินนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ


อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ-ประชาชนอย่างไร? ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

 



ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย 

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand / TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง