TNN online ชำแหละนโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ประกาศก้องลดค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำได้จริง?

TNN ONLINE

Wealth

ชำแหละนโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ประกาศก้องลดค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำได้จริง?

ชำแหละนโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ประกาศก้องลดค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำได้จริง?

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. วิเคราะห์นโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่

วันนี้ (12 พ.ค.65) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “ท้าทาย! ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ลั่น จะหั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว” โดยมีรายละเอียดดังนี้

น่าสนใจยิ่งนักที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนประกาศก้องว่าจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวถูกลง ซึ่งผมก็ปรารถนาเช่นนั้น แต่จะทำได้หรือขายฝัน ต้องใช้วิจารณญาณ คนกรุงเทพฯ อย่าหลงเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง

1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบัน

1.1 รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก

ประกอบด้วยช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 16-44 บาท กทม.ได้ให้สัมปทานแก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2542-2572 โดยบีทีเอสเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 100% ทั้งงานโยธาและงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 

1.2 รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย

1.2.1 ส่วนต่อขยายที่ 1 ประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 16-31 บาท และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย กทม. จ้างบีทีเอสให้เดินรถตั้งแต่ปี 2555-2585

1.2.2 ส่วนต่อขยายที่ 2 ประกอบด้วยช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร และช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 17.8 กิโลเมตร ยังไม่เก็บค่าโดยสาร กทม. จ้างบีทีเอสให้เดินรถตั้งแต่ปี 2559-2585 ส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ กทม. รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมหนี้งานโยธาประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท

2. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอนาคต

จากข้อมูลของ กทม. พบว่าหาก กทม. ต่อสัญญาให้บีทีเอสเป็นเวลา 30 ปี ตั้งปี 2573-2602 โดยจะต้องพ่วงส่วนต่อขยายให้บีทีเอสรับผิดชอบด้วยตั้งแต่วันที่จะลงนามสัญญาจนถึงปี 2602 ทั้งนี้ มีเงื่อนไขให้บีทีเอสเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-65 บาท (สูงสุดไม่เกิน 65 บาท) และจะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม.ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท 

ถ้าได้ผลตอบแทนเกิน 9.6% จะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม. เพิ่มเติมอีก โดยบีทีเอสจะต้องรับภาระหนี้แทน กทม. ถึงปี 2572 ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท และจะต้องรับภาระความเสี่ยงเองทั้งหมด

จากข้อมูลของ กทม. เช่นเดียวกัน พบว่าถ้าไม่ต่อสัญญาให้บีทีเอสค่าโดยสารสูงสุดจะเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 158 บาท และ กทม. จะต้องแบกรับภาระหนี้เองทั้งหมด

ชำแหละนโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ประกาศก้องลดค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำได้จริง?

ภาพจาก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

3. ข้อเสนอของผู้สมัครผู้ว่า กทม.

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนหาเสียงว่าจะไม่ต่อสัญญาให้บีทีเอส และจะทำให้ค่าโดยสารถูกลง เช่น เหลือ 15-45 บาท หรือ 20-25 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย หรือ 25-30 บาท เป็นไปตามการหาเสียงของแต่ละคน 

บางคนได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้บ้าง บางคนไม่ได้เสนอเลย ผมได้รวบรวมแนวทางของผู้สมัครบางคน พร้อมความเห็นของผมต่อแนวทางดังกล่าวไว้ดังนี้

3.1 ไม่รับโอนหนี้จาก รฟม.

นั่นหมายความว่า กทม. จะไม่รับโอนส่วนต่อขยายที่ 2 พร้อมหนี้งานโยธาประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท จาก รฟม. ซึ่งอาจทำให้บีทีเอสต้องหยุดเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นเหตุให้ รฟม. จะต้องหาผู้เดินรถใหม่ ทำให้ผู้โดยสารต้องเสียเวลาเดินทางเพราะจะต้องเปลี่ยนขบวนรถ ไม่สามารถเดินทางแบบไร้รอยต่อได้ และที่สำคัญ อาจทำให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้น

3.2 โอนสัมปทานให้กระทรวงคมนาคม

เป็นการผลักภาระหนี้ของ กทม. ให้รัฐบาล ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั้งประเทศต้องช่วยแบกภาระหนี้ของ กทม. อีกทั้ง แม้รถไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมก็ไม่ได้หมายความว่าค่าโดยสารจะถูกลงได้ตามที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หาเสียงไว้ ผมอยากให้เปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่ง รฟม. (ในสังกัดกระทรวงคมนาคม) ลงทุนเอง 100% ค่าโดยสารก็ยังแพงกว่าค่าโดยสารที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนใช้หาเสียง 

ที่น่ากังวลก็คือหากกระทรวงคมนาคมรับโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาอยู่ในสังกัด และสามารถลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงได้ อาจมีการเรียกร้องให้ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นทุกสายภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมอีกด้วย ถามว่ากระทรวงคมนาคมจะทำได้หรือไม่ ?

3.3 ออกพันธบัตร

การออกพันธบัตรจะทำให้ กทม. เป็นหนี้เพิ่มขึ้น และมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรที่ออกมาด้วย กทม. จะหาเงินจากไหนมาจ่ายดอกเบี้ย

3.4 ให้เช่าพื้นที่

รายได้จากการให้เช่าพื้นที่ทำการค้าขาย และ/หรือโฆษณาเมื่อหักเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือไม่มากพอที่จะไปชำระหนี้ได้

ชำแหละนโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ประกาศก้องลดค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำได้จริง?

ภาพจาก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

4. ข้อสังเกต

4.1 ค่าโดยสารที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ใช้หาเสียงน่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีรายละเอียดแสดงให้เห็นว่า จะลดค่าโดยสารได้อย่างไร และจะลดเมื่อไหร่ ทำให้คนกรุงเทพฯ ต่างคาดหวังว่าผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่จะสามารถลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ในไม่ช้าหลังจากเข้ารับตำแหน่ง หรืออย่างช้าจะต้องไม่เกิน 4 ปี (ภายในปี 2569) ตามวาระการดำรงตำแหน่ง 

คงไม่รอไปจนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 และที่สำคัญ หากลดค่าโดยสารก่อนสิ้นสุดสัมปทาน กทม. จะหาเงินจากไหนไปชดเชยให้ผู้รับสัมปทาน

4.2 ค่าโดยสารตามที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หาเสียงไว้ไม่มีรายละเอียดแสดงให้เห็นว่า กทม. จะได้กำไรหรือจะขาดทุนมากน้อยเพียงใด ถ้าขาดทุน จะหาเงินจากไหนมาใช้ในการเดินรถต่อไป 

4.3 ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกลง เพราะจะช่วยลดภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน แต่ผมไม่อยากเห็นคนกรุงเทพฯ ถูกหลอก ดังนั้น ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ใช้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาล่อขอคะแนน ถ้าชนะเลือกตั้งแล้วทำไม่ได้ ระวัง! จะถูกถามหาความรับผิดชอบ

5. สรุป

"ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายถูกลง ไม่ใช่เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียวเท่านั้น ผมขอเป็นกำลังใจให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สามารถทำตามที่หาเสียงไว้ได้สำเร็จ และหากเป็นไปได้ ขอให้พิจารณาหาทางแก้ตามความเห็นและข้อสังเกตของผม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้โดยสารทุกคน" ดร.สามารถ ระบุ.


ข้อมูลจาก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง