TNN online ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนุนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย

TNN ONLINE

Wealth

ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนุนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย

ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนุนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังผันผวนเติบโตต่ำลง เนื่องจากเผชิญกับสถานการณ์โควิด 19 ที่ยังไม่สิ้นสุด และยังมาเจอปัญหาเงินเฟ้อสูงจากราคาน้ำมันแพงและราคาสินค้าปรับสูงขึ้น เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีก ที่สำคัญประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างศรีลังกาเกิดวิกฤตและเสี่ยงล้มละลายแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำ จึงไม่มีเงินนำเข้าพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ ทำให้ศรีลังกาขาดแคลนพลังงานจนต้องดับไฟทั้งประเทศวันละหลายชั่วโมงให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว 


จึงเกิดคำถามว่าแล้วประเทศไทยเราจะมีโอกาสเป็นเหมือนประเทศศรีลังหาไหม เพราะเราก็เป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานเหมือนกัน แล้วปัจจุบันไทยมีทุนสำรองฯที่เพียงพอจะรับมือกับสถานการณ์หรือไม่  วันนี้ เศรษฐกิจ Insight จะเล่าให้ฟัง ไปติดตามได้กับคุณ...


อย่างที่เกริ่นไป จากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และเกิดการคว่ำบาตร มีการห้ามไม่ให้รัสเซียนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ แถมยังเห็นข่าวที่ประเทศศรีลังกาขาดแคลนเงินทุนสำรองฯ  ไม่สามารถนำเข้าน้ำมันที่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้ของคนในประเทศ และก่อนหน้านี้หลายประเทศก็ไม่มีความน่าเชื่อถือในระบบเศรษฐกิจ เพราะมีทุนสำรองฯ เหลือน้อย ซึ่งไทยเองก็เคยเจอภาวะนี้มาแล้วในปีช่วงวิกฤตปี 2540 ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจหลายอย่างเกิดขึ้นเพราะระดับทุนสำรองฯ 


วันนี้เราเลยจะมาทำความรู้จักกับทุนสำรองฯ กัน อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ   เงินสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves) คือ ยอดคงค้างของสินทรัพย์ต่างประเทศที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเป็นผู้ถือครอง ซึ่งจะอยู่ในรูปของสินทรัพย์หลากหลายรูปแบบ เช่น เงินตราต่างประเทศ //ทองคำ //สิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ซึ่งเป็นตะกร้าเงินตราต่างประเทศ ที่ประกอบด้วยสกุลเงินหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐ //ยูโร //ปอนด์ // หยวน เป็นต้น ซึ่งมีสภาพคล่องสูง สามารถนำไปใช้ได้ทันทีถ้าจำเป็น 

ทั้งนี้ ธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ จะเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลเงินทุนสำรองฯ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 


สำหรับวัตถุประสงค์ของการมีทุนสำรองฯ ทุกประเทศจะมีหลักการเหมือนกัน ในกรณีของไทย ธปท.จะมีหน้าที่ดูแลและรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนระบบการเงินของประเทศ ธปท.จึงจำเป็นต้องมีเงินทุนสำรองไว้เป็นกันชนในการดูแลการขาดดุล //เกินดุลการชำระเงิน //รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน สร้างความเชื่อมั่นในสกุลเงินของประเทศ ทำให้ค่าเงินบาทไม่ผันผวนรุนแรงเกินไปในช่วงสั้นๆ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤต เพราะจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศได้ 


ดังนั้น ทุนสำรองจึงเป็นตัวบ่งชี้ภูมิต้านทานของประเทศต่อปัจจัยต่างๆ ที่จะมากระทบต่อค่าเงิน // ใช้หนุนหลังธนบัตรออกใช้ //เงินสำรองฯ จะใช้รองรับสถานการณ์เมื่อเกิดเหตุการณ์เงินทุนไหลออกจากประเทศจำนวนมาก // หรือนำออกมาใช้เมื่อตลาดเงินขาดสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศแบบฉับพลัน ฯลฯ 


ทั้งนี้ เงินตราต่างประเทศจะมาจาก ธุรกรรมการค้าการส่งออก //การมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ //การไปทำงานของแรงงานไทยแล้วโอนเงินกลับมา //การมาลงทุนจากต่างประเทศ //การกู้ยืมเงินมาจากต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันในทางตรงข้ามทุนสำรองฯ ก็ต้องมีให้เพียงพอรองรับเงินขาออกด้วยเช่นกัน 

 

เหตุนี้ ทุกประเทศในโลกจึงต้องมีทุนสำรองฯ ไว้เพื่อเป็นกันชนสำหรับรองรับความเสี่ยงด้านต่างประเทศ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันทีเมื่อจำเป็น รวมทั้งเพื่อให้มีเงินตราต่างประเทศไว้ชำระธุรกรรมระหว่างประเทศที่ขยายตัวมากขึ้น เพราะเมื่อมีกิจกรรมมากความต้องการใช้เงินตราต่างประเทศก็จะเพิ่มขึ้น ตามหลักทุกประเทศ จึงต้องเตรียมทุนสำรองฯ ไว้ให้เพียงพอ ดังนั้น ทุนสำรองฯ จึงเป็นเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ รักษาค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพป้องกันเงินทุนไหลออก และยังใช้เปรียบเทียบความมั่นคงของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจประเทศต่างๆ และสร้างความน่าเชื่อถือประเทศด้วย



สำหรับระดับทุนสำรองของประเทศไทยสูงขึ้นมาต่อเนื่องหลังวิกฤตปี 2540 ( ค.ศ.1997) หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งทุนสำรองฯ อยู่ที่ระดับ 26.897 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือ 2.6 -2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (รายละเอียดตามกราฟ ซึ่งช่วงปี 1997 อยู่ตรงจุดที่กราฟลดต่ำลง แต่จากนั้นก็สูงขึ้นมาตลอด)  โดยปัจจุบันหากดูจากข้อมูลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศไว้ ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะพบว่าทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (Gross International Reserves) อยู่ที่ระดับ 245,052.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 9,056,832.44 ล้านบาท (คิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นงวดที่ 32.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ) 


ซึ่งเฉพาะเงินตราต่างประเทศ ประกอบไปด้วย ดอลลาร์สหรัฐ 6,794.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ //ยูโร 2,197.30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ //เยน 224.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ // ปอนด์ 486.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ // RMB (เหริน -หมิน -ปี้) หรือ เงินหยวน 221.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ // ดอลลาร์แคนาดา (CAD) 195.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ // ออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) 170.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ //ฟรังก์สวิส (CHF) 16.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ // และสกุลเงินตราต่างประเทศอื่นๆ อีก 255.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เรียกว่าครอบคลุมสกุลเงินสำคัญของโลกสามารถรองรับธุรกรรมได้ทั่วถึง โดยทุนสำรองฯ ไทยสูงอยู่ระดับนี้มาตั้งแต่ปี 2020 (ปี 2563) ทั้งนี้ หากเทียบทุนสำรองฯ ช่วงปี 2540 กับปัจจุบันจะเห็นว่าเพิ่มขึ้นถึง 218,155.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 811 เลยทีเดียว

 

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก ข้อมูลจากวิกิพีเดียจะพบว่า ระดับทุนสำรองฯ ที่ไทยมีในปัจจุบันมีมากอยู่อันดับที่ 14 ของโลก จากทั้งหมด 195 ประเทศที่มีการสำรวจ (รายละเอียดตามกราฟที่ดึงมาถึงอันดับที่ 15 ของโลก)   นับว่าสูงในระดับที่ไม่น้อยหน้าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยทุนสำรองฯ ที่อยู่ในระดับสูงจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศและนักลงทุน เพราะหากนักลงทุนเข้ามาลงทุนในช่องทางต่างๆ ทั้งการเข้ามาลงทุนโดยตรง (FDI) เช่นมาสร้างโรงงาน มาทำธุรกิจ ในไทย เป็นต้น // รวมทั้งการแลกเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย // ลงทุนในตลาดพันธบัตร  // และอื่นๆ ที่หากนักลงทุนไม่เชื่อว่าจะแลกเงินบาทกลับไปเป็นดอลลาร์ได้ ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ ค่าเงินบาทไทยก็อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือได้ 


แต่ทุนสำรองฯ ของไทยในปัจจุบันที่สูงที่สุดในภูมิภาคขณะนี้ ย่อมทำให้เศรษฐกิจมีความน่าเชื่อถือในการเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากข้อมูลล่าสุดที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้ว 44 ราย รวมเป็นเงินลงทุน 5,781 ล้านบาท โดย 3 อันดับแรกมาจากสิงคโปร์ //ญี่ปุ่น //เนเธอร์แลนด์ และยังมีแนวโน้มไหลเข้ามาอีกต่อเนื่อง


และอีกประเด็นสำคัญที่นักลงทุนใช้ดูประเทศต่างๆ ก่อนจะเลือกเป็นแหล่งลงทุน หรือบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกใช้มองเพื่อให้เครดิตความน่าเชื่อถือประเทศนั้นๆ เพื่อดูความเพียงพอของเงินทุนสำรองฯ ของประเทศต่างๆ ว่าเพียงพอหรือไม่ คือ การมองระดับทุนสำรองฯ เปรียบเทียบกับหนี้ต่างประเทศ  ซึ่งประเทศไทยมีระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นก็จริง เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินมาเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากโควิด โดยข้อมูลจากธปท. ณ เดือนมกราคม 2556 รายงานว่า หนี้ในประเทศของรัฐบาล (รวมพันธบัตรรัฐบาล //ตั๋วเงินคลัง //ตั๋วสัญญาใช้เงิน //และหนี้รัฐบาลอื่นๆ) แล้วอยู่ที่ 8,495,107 ล้านบาท แต่หนี้ต่างประเทศของรัฐบาลมีพียง 131,296 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากสภาพคล่องในประเทศไทยสูงและมีเพียงพอ จึงไม่จำเป็นต้องไปกู้เงินในต่างประเทศ


ที่สำคัญระดับเงินสำรองฯ ของไทยในปัจจุบันยังสูงถึง 3.4 เท่าของหนี้ต่างประเทศในระยะสั้นด้วย เทียบกับในอดีตเมื่อปี 2540 จึงต่างกันหน้ามือเป็นหลังมือ และเมื่อเทียบทุนสำรองฯ ที่ไทยมีกับการนำเข้าของประเทศแล้วก็ยังสามารถรองรับมูลค่าการนำเข้าได้อีกหลายเดือน หากดูจากปริมาณการนำเข้าในแต่ละเดือนที่ประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน แม้ระดับราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงและไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานก็ตาม และถึงปัจจุบันไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดบ้างเล็กน้อยที่ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เนื่องจากไทยขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะขาดรายได้ในการภาคท่องเที่ยวและบริการ แต่ไม่มีประเด็นน่าห่วง เพราะปัจจุบันเงินทุนสำรองฯ ทั้งหมดเทียบกับสัดส่วนหรือ % ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมดแล้ว ทุนสำรองฯ ของไทยยังอยู่ในระดับเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แม้จะดูสูงขึ้นบ้างในช่วงปี 2553 (ปี 2010) (รายละเอียดตามกราฟ) 


แต่ถึงจะเทียบกับระดับทุนสำรองฯ กับหนี้ต่างประเทศทั้งหมดแล้ว หลายคนอาจกังวลไปถึงว่าทุนสำรองฯ ที่มีจะรองรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงได้หรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ ราคาน้ำมันยังสูงต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน (เบนซิน // กลุ่มแก๊สโซฮอล์ //น้ำมันกลุ่มดีเซล //การใช้ LPG  // NGV เป็นต้น) 


ทำให้มีการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ 1,029,709 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.5 แบ่งเป็น การนำเข้าน้ำมันดิบที่ 950,269 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.7 จากปีก่อน สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น //ส่วนมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 83,369 ล้านบาท/เดือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 82.8  //สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 79,440 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 6,433 ล้านบาท/เดือน โดยกรมธุรกิจพลังงานยืนยันว่า จากปริมาณการใช้ในปัจจุบันประเทศไทยสามารถนำเข้าพลังงานมาได้อย่างต่อเนื่อง และเพียงพอไม่ขาดแคลนแน่นอน 


อย่างไรก็ดี จากการพึ่งพาพลังงานนำเข้าทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้น้อยลง ล่าสุดธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ ปรับลด GDP ปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2.6–2.9 จากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 3.9และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย //สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย //สมาคมธนาคารไทย ก็ปรับลดลงเหลือร้อยละ  2.5-4 จากเดิมร้อยละ 2.5-4.5 เช่นกัน พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อขึ้นเป็นร้อยละ 3.5-5.5 จากเดิมร้อยละ 2-3  จากราคาพลังงาน และอาหารเพิ่มขึ้นรวดเร็ว กระทบการบริโภคภาคเอกชนให้ลดลง และทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น  แถมรายไดจากการท่องเที่ยวก็ลดน้อยลงด้วย จึงกดให้เศรษฐกิจโตต่ำลง 

 

 

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ระดับทุนสำรองฯ ไทยในปัจจุบันถือว่ามีความเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจและระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้ โดยทุนสำรองฯ ถือเป็นด่านสุดท้ายที่จะดูแลดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ ซึ่งปัจจุบันดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยติดลบเล็กน้อย เพราะเราไม่มีรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้ามาเหมือนเดิมในช่วงการแพร่ระบาด 


แต่ด้านบัญชีเงินทุนไทยยังมีเงินไหลเข้าสุทธิ ซึ่งปลายปี 2564 ที่ผ่านมาก็มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงพอสมควร สะท้อนความมั่นใจในเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยของต่างชาติ ดังนั้น แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันก็ไม่ได้น่ากังวล เพราะมีทุนสำรองฯ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศรองรับธุรกรรมการค้าและการลงทุนอย่างเพียงพอ  


  

        


ข่าวแนะนำ