TNN online สหรัฐฯ เสี่ยงเผชิญศก.ถดถอย เหตุเฟดเดินเกมสกัดเงินเฟ้อ

TNN ONLINE

Wealth

สหรัฐฯ เสี่ยงเผชิญศก.ถดถอย เหตุเฟดเดินเกมสกัดเงินเฟ้อ

สหรัฐฯ เสี่ยงเผชิญศก.ถดถอย เหตุเฟดเดินเกมสกัดเงินเฟ้อ

มีความเห็นจากนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ที่เปิดเผยคาดการณ์ว่ามีโอกาสถึงราวร้อยละ 35 ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า เพราะหากอ้างอิงจากสถิติที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ มักจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอยตามมา


ปัจจัยติดตาม

1.สหรัฐฯ เสี่ยงเผชิญศก.ถดถอย เหตุเฟดเดินเกมสกัดเงินเฟ้อ         

ซึ่งในรายงานล่าสุด นายแจน ฮัทซีอุส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์เปิดเผยด้วยว่าความท้าทายของเฟด คือการลดช่องว่างระหว่างตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน (Job Openings) และจำนวนคนทำงาน และชะลอการเติบโตของอัตราค่าจ้างให้สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 ด้วยการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินที่รุนแรงมากพอ ที่จะทำให้ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานปรับตัวลงโดยไม่ทำให้อัตราว่างงานพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง

          

ทั้งนี้ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานถือเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจอย่างมาก โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั่นเอง


นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ยังกล่าวด้วยว่า ความพยายามของเฟดที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือ Soft Landing นั้น อาจเป็นเรื่องยาก เพราะจากสถิติที่ผ่านมานั้น การลดลงของช่องว่างระหว่างตัวเลขการเปิดรับสมัครและจำนวนคนทำงานจะเกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นสถานการณ์ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเมื่ออุปทานแรงงานและราคาสินค้าคงทน (Durable Goods) กลับคืนสู่ภาวะปกติในยุคหลังโควิด-19 เฟดจะมีท่าทีผ่อนคลายลง 


2."S&P-ฟิทช์" หั่นเครดิตศรีลังกา หลังงดชำระหนี้ต่างประเทศ 

โดย"ฟิทช์ เรทติ้งส์" ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาลงสู่ระดับ C ซึ่งเป็นระดับขยะ ขณะที่ "สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์" (S&P) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาลงสู่ระดับ CC ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดระดับที่ 3  ซึ่งนักวิเคราะห์ของ S&P เตือนว่า S&P อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาลงสู่ระดับ SD หรือ "ผิดนัดชำระหนี้บางส่วน" (Selective Default) หากสถานการณ์ด้านการชำระหนี้ต่างประเทศของศรีลังกาย่ำแย่ลง ทั้งนี้ การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว มีขึ้นหลังจากนายพี นันดาลัล วีระสิงห์ ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกาประกาศเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ว่าศรีลังกาได้ตัดสินใจระงับการชำระหนี้ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ และธนาคารกลางต้องสำรองเงินตราต่างประเทศไว้เพื่อนำเข้าสินค้าที่จำเป็น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้นจนกว่าจะสามารถตกลงกับบรรดาเจ้าหนี้ได้ และจนกว่าจะได้รับการสนับสนุนเงินกู้จาก IMF


ทั้งนี้ ศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง อันเนื่องมาจากภาวะขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ล่าสุด ณ สิ้นเดือนมีนาคม ศรีลังกามีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่เพียง 1,930 ล้านดอลลาร์ และมีกำหนดชำระหนี้ต่างประเทศในปีนี้มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงหนี้พันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกรกฏาคมนี้


3. บีโอเจชี้เงินเยนทรุดตัวเร็ว อาจฉุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว

นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงในการประชุมรัฐสภาญี่ปุ่นวานนี้ ว่าการที่เงินเยนทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาจจะเป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น


นายคุโรดะย้ำว่าตัวเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของ BOJ ที่ว่า เงินเยนที่อ่อนค่า เป็นปัจจัยบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เพียงแต่เขาต้องการเตือนว่า "เงินเยนที่อ่อนค่าลงจากระดับ 115 เยนต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 127 เยนต่อดอลลาร์ในระยะเวลาเพียง 1 เดือนครึ่งนั้น" ถือเป็นการทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจ อีกทั้งสร้างความไม่แน่นอนและส่งผลให้บริษัทเอกชนประสบกับความยกลำบากในการทำแผนธุรกิจของตน


ความกังวลดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นที่กล่าวว่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมากในขณะนี้ ถือเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของบริษัทเอกชนพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ต้นทุนนำเข้าราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการบริการปรับตัวสูงขึ้นด้วย ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินเยนถือเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจด้านการส่งออกของญี่ปุ่น เนื่องจากทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้นเมื่อมีการแปลงค่าเงิน


#สหรัฐอเมริกา #เงินเฟ้อ #ดอกเบี้ย  #TNNWealth #TNNช่อง16 

ติดตามข่าวหุ้นและการลงทุนทางไลน์

• Line @TNNWEALTH : https://lin.ee/TQ14oAe

• Facebook : https://www.facebook.com/TNNWealth

—————————————————————————

ติดตาม TNN Wealth ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 

• Website : https://bit.ly/TNNWealthWebsite

• Youtube : https://bit.ly/TNNWealthYoutube

• TikTok : https://bit.ly/TNNWealthTikTok

หรือดูรายการ Live ได้ทาง

https://www.facebook.com/TNN16LIVE/




ข่าวแนะนำ