TNN online ธปท.เริ่มใช้แบงก์ 20 แบบใหม่ จากวัสดุพอลิเมอร์ แนะวิธีสังเกต สัมผัส ยกส่อง

TNN ONLINE

Wealth

ธปท.เริ่มใช้แบงก์ 20 แบบใหม่ จากวัสดุพอลิเมอร์ แนะวิธีสังเกต สัมผัส ยกส่อง

ธปท.เริ่มใช้แบงก์ 20 แบบใหม่ จากวัสดุพอลิเมอร์ แนะวิธีสังเกต สัมผัส ยกส่อง

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ เริ่มใช้ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท วันแรก โดยเปลี่ยนวัสดุการพิมพ์เป็น "พอลิเมอร์" พร้อมแนะวิธีสังเกต สัมผัส ยกส่อง ประชาชนสามารถเบิกถอนผ่านสาขาธนาคารทุกแห่ง ส่วนแบงก์แบบเก่ายังใช้จ่ายได้ตามปกติ

วันนี้ (24 มี.ค.65) ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ออกใช้ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ที่เปลี่ยนวัสดุการพิมพ์เป็น "พอลิเมอร์" เพื่อพัฒนาคุณภาพให้ประชาชนได้ใช้ธนบัตรที่มีสภาพใหม่ สะอาด และใช้งานได้นานขึ้น เนื่องจากธนบัตรชนิดราคา 20 บาท เป็นธนบัตรที่ประชาชนใช้จ่ายมากที่สุด มีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือบ่อย จึงทำให้ธนบัตรมีสภาพเก่ากว่าธนบัตรชนิดราคาอื่น 

ทั้งนี้ "ธนบัตรพอลิเมอร์" ผลิตจากพลาสติกแบบพิเศษซึ่งไม่ดูดซับความชื้นและสิ่งสกปรก และมีความทนทานในการใช้งานมากกว่าธนบัตรกระดาษ และช่วยลดปริมาณการผลิตธนบัตรใหม่เพื่อทดแทนธนบัตรที่ชำรุด และเอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยสอดคล้องกับธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศที่ได้ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ เช่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นต้น 

ธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท มีภาพและลักษณะโดยรวมเหมือนกับธนบัตรกระดาษชนิดราคา 20 บาท ที่หมุนเวียนในปัจจุบัน โดยมีการใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัยและมีมาตรฐานขั้นสูงเช่นเดียวกับธนบัตรกระดาษ ชนิดราคา 20 บาท รวมถึงมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเพิ่มเติมสำหรับธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท คือช่องใสที่สามารถมองเห็นทะลุได้ทั้งสองด้าน โดยช่องใสด้านล่างที่เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงจะเห็นเป็นสีเหลือบแดง 

ธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท เริ่มออกใช้หมุนเวียนในวันที่ 24 มี.ค.65 นี้ โดยประชาชนสามารถเบิกถอนผ่านสาขาธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง สำหรับธนบัตรกระดาษ ชนิดราคา 20 บาท ที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบัน ยังคงสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติต่อไป



เปิดวิธีเช็กแบงก์ 20 ใหม่ แบบพอลิเมอร์ ของจริงต้องเป็นอย่างไร?

วิธีการสัมผัส

- วัสดุพอลิเมอร์ เป็นพลาสติกชนิดพิเศษ มีการเคลือบผิว และมีความเหนียวแกร่ง

- ภาพพระตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว คำว่า รัฐบาลไทย ตัวอักษรแจ้งชนิดราคา พิมพ์ด้วยเส้นนูนสีเขียวเข้ม จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ

- ตัวเลขแจ้งชนิดราคา พิมพ์ด้วยเส้นนูนสีเขียวเข้ม จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ

- สัญลักษณ์แจ้งชนิดราคารูปดอกไม้ ๒ ดอก พิมพ์ด้วยเส้นนูนสีเขียวเข้มสำหรับผู้บกพร่องทางสายตาใช้สัมผัส แทนตัวเลข “๒” ในอักษรเบรลล์ ซึ่งกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์สำหรับธนบัตรชนิดราคา ๒๐ บาท 

วิธีการยกส่อง

- ช่องใสทรงหยดน้ำ มองเห็นทะลุได้ทั้งสองด้าน และมีตัวเลข “20” ขนาดเล็กดุนนูน

- ช่องใสทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และตัวเลขใส “20” ที่อยู่ด้านล่าง มองเห็นทะลุได้ทั้งสองด้าน มีการพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงจะเห็นเป็นสีเหลือบแดง และมีตัวเลข “20” สีทองอยู่ตรงกลางช่องใสทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ 

- ภาพเงาพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีลักษณะคล้ายลายน้ำ มองเห็นได้ชัดเจนทั้งสองด้าน เมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่าง 

- แถบสีเทาตามแนวตั้ง ภายในแถบมีข้อความ “20 บาท 20 BAHT” ขนาดเล็ก สามารถอ่านได้ทั้งสองด้าน เมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่าง

- รูปพระครุฑพ่าห์บนด้านหน้าและด้านหลังพิมพ์ในตำแหน่งตรงกัน เมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่างจะเห็นซ้อนทับกันสนิท

วิธีการพลิกเอียง

- ตัวเลขแฝง “20” ซ่อนในลายประดิษฐ์สีเขียวเข้มซึ่งอยู่บริเวณตอนกลางด้านล่างของธนบัตร มองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง โดยมองผ่านจากมุมล่างซ้ายของ ลายประดิษฐ์เข้าหามุมบนขวาของธนบัตร

ลักษณะพิเศษภายใต้รังสือเหนือม่วง

- หมวดอักษรและเลขหมายไทยพิมพ์ตามแนวนอน ส่วนหมวดอักษรโรมันและเลขหมายอารบิกพิมพ์ตามแนวตั้ง ซึ่งหมวดอักษรและเลขหมายทั้งสองนี้จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม เรืองแสงภายใต้รังสีเหนือม่วง

ธปท.เริ่มใช้แบงก์ 20 แบบใหม่ จากวัสดุพอลิเมอร์ แนะวิธีสังเกต สัมผัส ยกส่อง

ธปท.เริ่มใช้แบงก์ 20 แบบใหม่ จากวัสดุพอลิเมอร์ แนะวิธีสังเกต สัมผัส ยกส่อง


ข้อมูลและรูปจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง