TNN online อานิสงส์มาตรการอุ้มลูกหนี้กดเอ็นพีแอลแบงก์ต่ำ 2.98%

TNN ONLINE

Wealth

อานิสงส์มาตรการอุ้มลูกหนี้กดเอ็นพีแอลแบงก์ต่ำ 2.98%

อานิสงส์มาตรการอุ้มลูกหนี้กดเอ็นพีแอลแบงก์ต่ำ 2.98%

ธปท.เผยหนี้เสียแบงก์ลดเหลือ 2.98% เท่าก่อนเกิดโควิด หลังมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ช่วยลูกหนี้ได้ผล รายจ่ายสำรองหนี้ลดฮวบ ฟันกำไรปี 64 ทะลุ 1.81 แสนล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนแกร่ง

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ในปี 64 มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลอยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.98% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงจากสิ้นไตรมาส 3 ปี 64 ที่ 3.14% และเป็นระดับเท่าสิ้นปี 62 ก่อนเกิดโควิด ส่วนหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วันรวมกับที่มีความเสี่ยงด้านเครดิต หรือสเตรท2 อยู่ที่ 6.39% ต่อสินเชื่อรวม ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และมาตร การช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังมีต่อเนื่อง โดยจะสิ้นสุดมาตรการในปี 66
สำหรับหนี้เอ็นพีแอลลดลงทั้งหมดทั้งธุรกิจลดลง 3.08% อุปโภคบริโภคลดลง 2.73% ซึ่งลดลงกว่าไตรมาสก่อนทั้งสิ้น หากแยกประเภทหนี้เอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงจาก 3.62% ในไตรมาส 3 เหลือ 3.52% ในไตรมาส 4 , สินเชื่อรถยนต์ลดลง จาก 1.72% เหลือ 1.5% , สินเชื่อบัตรเครดิตลดจาก 3% เหลือ 2.25% และสินเชื่อส่วนบุคคลลดลงจาก 2.43% เหลือ 2.33%
ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุดการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ หรือเจวีเอเอ็มซี ขณะนี้มีธนาคารและบริษัทเอเอ็มซีหลายแห่งเข้ามาหารือกับธปท.แต่ยังไม่ยื่นขอจัดตั้งอย่างเป็นทางการและธนาคารกับเอเอ็มซีอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดจัดตั้งอยู่
ส่วนภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปี 64 ขยายตัว 6.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.1% ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 7.9% และอุปโภคบริโภคขยายตัว 4%โดยกำไรสุทธิธนาคารพาณิชย์ในปี 64 มีสูง 1.81 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23.6% มาจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงจากปี 63 อยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท เหลือ 1.96 แสนล้านบาทในปี 64 และมาจากการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงาน เป็นต้น
ด้านระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือบีไอเอส 19.9% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 8.89 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 162.6% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ หรือแอลซีอาร์ อยู่ที่ 189.2% 

"ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคุณภาพสินเชื่อในภาพรวมค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อน ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด”


ที่มา ธปท.

ภาพประกอบ ธปท.

ข่าวแนะนำ