TNN online เครดิตบูโรแนะตรวจเครดิตการเงินบ่อยๆ ป้องกันภัยไซเบอร์และขบวนการคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพ

TNN ONLINE

Wealth

เครดิตบูโรแนะตรวจเครดิตการเงินบ่อยๆ ป้องกันภัยไซเบอร์และขบวนการคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพ

เครดิตบูโรแนะตรวจเครดิตการเงินบ่อยๆ ป้องกันภัยไซเบอร์และขบวนการคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพ

เครดิตบูโรตระหนักถึงภัยไซเบอร์ทางการเงินและกลลวงขบวนการคอลเซ็นเตอร์ แนะตรวจเครดิตบูโรแบบสรุปฟรี อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภัยไซเบอร์และขบวนการคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพ

วันนี้( 1 ก.พ.65) นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า จากประเด็นข่าวภัยไซเบอร์ทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมดิจิทัลที่อาจจะเป็นช่องโหว่การโจรกรรมออนไลน์ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยและความเสียหายทางการเงินได้ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจึงควรมีสติ ระมัดระวังและมีความรู้เท่าทันกลลวง เพื่อป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น มิจฉาชีพบน Social Media อีเมล ข้อความหลอกลวง หรือขบวนการคอลเซ็นเตอร์ และการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการตระหนักถึงภัยการเงินใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองโดยไม่รู้ตัว การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงินและขบวนการคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้เป็นอย่างดี  ทำให้ทราบประวัติทางการเงินของตนเองในฐานะที่เป็นเจ้าของข้อมูลว่าถูกต้องครบถ้วนทันสมัยหรือไม่


โดยปัจจุบันนี้ เครดิตบูโรมีบริการตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ง่าย ๆ เพียงใช้บัตรประชาชนของตนเองที่ตู้คีออสทุกแห่ง แอป “บูโร โอเค” ที่ทำการไปรษณีย์ทุกสาขา และช่องทางอื่น ๆ รวมทั้งช่องทางการเข้าถึงรายงานข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าของข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และรองรับความต้องการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของประชาชนเข้าถึงรายงานข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่ง


ปัจจุบันการโจรกรรมออนไลน์หรือภัยไซเบอร์ ได้แก่

1) มิจฉาชีพบน Social Media นับเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพเข้าแสวงหาผลประโยชน์โดยใช้ข้อมูลหรือการโพสต์ต่าง ๆ เข้าปลอมแปลงหรือสวมรอยด้วยวิธีการต่าง ๆ ถึงเจ้าของข้อมูลได้ 

2) อีเมล ข้อความหลอกลวง หรือขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ปัจจุบันเป็นที่นิยมของการหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ มักแอบอ้างว่าเป็นบุคคล หน่วยงานที่น่าเชื่อถือ สถาบันการเงิน เพื่อลวงให้ทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น หลอกกู้ออนไลน์ ลงทุนแชร์ลูกโซ่ หลอกจะช่วยการกู้ หรือจ่ายหนี้ให้ หรือได้รับพัสดุสิ่งของแต่ให้โอนค่าธรรมเนียมไปก่อน และลวงว่าท่านไปเกี่ยวพันกับการกระทำผิด โดยขอรหัสผ่านหรือหมายเลขบัตร หรือให้คลิกไฟล์ต่าง ๆ จนเข้าไปเจาะข้อมูลสำคัญจากคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือได้ 

3) การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล ปัจจุบันมักมีข่าวเว็บไซต์และบริการหลายแห่งถูกแฮกข้อมูล หรือข้อมูลรั่วไหลออกมาบ่อยครั้ง เช่น ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน รหัสผ่าน หรือข้อมูลบัตรเครดิต มิจฉาชีพสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเข้าถึงบัญชีผู้ใช้งานหรือกระทำการใดโดยมิชอบในนามของเราได้


ดังนั้น ประชาชนจำเป็นต้องมีสติ ตระหนักและรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ อย่าหลงเชื่อวิธีการจากข้อความผ่านแชท อีเมล เบอร์โทรศัพท์ หรือจากคอลเซ็นเตอร์ เพื่อร้องขอให้กระทำการใด ๆ การโอนเงิน หรือขอข้อมูลส่วนตัว หรือหากได้รับอีเมล ข้อความต้องสงสัยควรตรวจสอบผู้ส่ง เนื้อหาและลิงก์ภายในอีเมลโดยละเอียดทุกครั้ง และไม่ให้ข้อมูลสำคัญกับเว็บไซต์หรือบริการใด ๆ หากไม่จำเป็น  รวมทั้งการอัปเดตอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดเพื่ออุดช่องโหว่งด้านความปลอดภัย ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน


นอกจากนี้ การหมั่นตรวจเครดิตบูโรอย่างสม่ำเสมอ ยังมีข้อดี เช่น  ช่วยเช็กว่าเรามี “หนี้งอก” โดยที่เราไม่ได้ก่อหรือไม่ , เช็กว่าข้อมูลส่วนบุคคลในข้อมูลเครดิตถูกต้องตามความจริงหรือไม่  ,ข้อมูลสินเชื่อของเราถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องสามารถขอแก้ไขได้ , เช็กให้ชัวร์ว่าเรามีประวัติค้างชำระหรือไม่ ,เช็กหลังจากที่จ่ายหนี้หมดแล้ว สถานะข้อมูลเครดิตขึ้นเป็นปิดบัญชี ยอดหนี้เป็นศูนย์ถูกต้องหรือไม่  และช่วยเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ โดยไม่ว่าจะตรวจกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเอง


สำหรับช่องทางตรวจเครดิตบูโร ได้แก่ 

 1) ตรวจข้อมูลเครดิตแบบสรุป (ฟรี) ผ่านแอป “ทางรัฐ” หรือตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) แอป “Bureau OK” หรือตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ทุกแห่ง (สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง หมอชิต ชิดลม (ภายในสถานี) สถานีกลางบางซื่อ ท่าเรือ ท่าวังหลัง และชั้น 4 ศูนย์การค้า ดิ อเวนิว รัชโยธิน กรุงเทพฯ) หรือที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ  

2) โมบายแอป เลือกรับรายงาน รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมล แบบรับรายงานได้ทันที ผ่านแอป “KKP Mobile” (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) แอป “Bureau OK” (ลงทะเบียนใช้บริการได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง) หรือเลือกแบบรับรายงานภายใน 24 ชั่วโมง ผ่านแอป “Krungthai NEXT” (ธนาคารกรุงไทย) แอป “MyMo” (ธนาคารออมสิน) หรือเลือกรับรายงานภายใน 3 วันทำการ ผ่านแอป “ttb touch” (ธนาคารทีทีบี)  

3) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร แบบรอรับรายงานได้ภายใน 15 นาที ใช้บัตรประชาชนของตนเอง ได้ที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (สำนักงานใหญ่) อาคาร 2 ชั้น 2  หรือเครดิตบูโรคาเฟ่  อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 หรือสถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง หมอชิต และชิดลม (ภายในสถานี) ท่าเรือ ท่าวังหลัง และห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 

 4) แบบส่งรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 7 วันทำการ ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร (ทุกสาขา) กรุงไทย กรุงศรี ธอส. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และ  ธ.ก.ส. หรือใช้บัตร ATM กรุงไทย ไทยพาณิชย์  หรือผ่านธนาคารออนไลน์ กรุงไทย กรุงศรี หรือเคาน์เตอร์บริการที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ


ล่าสุด เครดิตบูโรได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงรายงานข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่ง เปิดให้บริการ “Bureau Lab” (บูโร แล็บ) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ท่าวังหลัง ฝั่งธนบุรีแห่งแรกบริการตู้คีออสรอรับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมลได้ทันที บริการรายงานข้อมูลเครดิตแบบสรุป (ฟรี) หรือตรวจแบบรับรายงานเครดิตบูโรรูปแบบเอกสารที่เคาน์เตอร์ที่รอรับรายงานได้อีกด้วย และบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th หรืออีเมล [email protected]


ที่มา : เครดิตบูโร 

ภาพประกอบ : พีอาร เครดิตบูโร



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง