TNN online เปิดวิธี "ยื่นภาษี 2564" ออนไลน์ ด้วยตนเอง มีขั้นตอนอย่างไร-ยื่นได้ถึงเมื่อไหร่

TNN ONLINE

Wealth

เปิดวิธี "ยื่นภาษี 2564" ออนไลน์ ด้วยตนเอง มีขั้นตอนอย่างไร-ยื่นได้ถึงเมื่อไหร่

เปิดวิธี ยื่นภาษี 2564 ออนไลน์ ด้วยตนเอง มีขั้นตอนอย่างไร-ยื่นได้ถึงเมื่อไหร่

เปิดวิธี "ยื่นภาษี 2564" ทางออนไลน์ ด้วยตนเอง มีขั้นตอนอย่างไร ยื่นได้ถึงเมื่อไหร่ เช็กรายละเอียดได้ที่นี่

ยื่นภาษี 2564 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่จะขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2564 ที่จะมีกำหนดการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 พร้อมขอคืนเงินภาษี 

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 กรณียื่นด้วยแบบกระดาษ ยื่นแบบออนไลน์ ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2565 

กรณียื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ที่ www.rd.go.th โดยได้เตรียมช่องทางในการคืนเงินภาษีให้ ดังนี้

1) การคืนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

กรมสรรพากรจะทำการโอนเงินภาษีที่ได้อนุมัติคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ สำหรับบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชนกับบัญชีเงินฝากธนาคาร และได้แจ้งความประสงค์ขอรับเงินคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าว ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้ขอคืนภาษีเกินกว่า 90% เลือกใช้บริการในปีภาษีที่ผ่านมา

2) การคืนเงินผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรณีผู้ขอคืนเงินภาษีไม่ประสงค์รับเงินภาษีคืนด้วยการโอนเงินภาษีคืน เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ 

สำหรับ กรณีผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี ที่มีคำสั่งศาล และได้รับหนังสือแจ้งคืน ค.21 ผู้จัดการมรดก ยังคงสามารถมาขอรับเงินคืนได้ที่สาขาธนาคารกรุงไทย ในรูปแบบบัตรเงินสด e-Money ได้ 

3) การคืนเงินสำหรับผู้ขอคืนที่ไม่สามารถลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก กรณี ชาวต่างชาติ ห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคล วิสาหกิจชุมชน และกองมรดก ที่ยังไม่ได้แบ่ง กรมสรรพากรจะออกหนังสือ ค.21 พร้อมเช็ค โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ตามที่อยู่บนแบบแสดงรายการให้ผู้ขอคืน เพื่อนำไปเข้าบัญชีเงินฝากที่สาขาธนาคารเท่านั้น

สำหรับผู้ขอคืนที่ได้รับ ค.21 ก่อน วันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ยังไม่ได้ขอคืนเงินที่สาขาธนาคาร และ ค.21 หมดอายุ ให้ยื่นคำร้องขอออกเช็คคืนภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรมสรรพากรจะออก ค.21 ฉบับใหม่พร้อมเช็คและจัดส่งทางไปรษณีย์ให้ผู้ขอคืนต่อไป

สำหรับขั้นตอนการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต 

เข้าสู่เว็บไซต์กรมสรรพากรที่ www.rd.go.th เลือก ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 64 “ยื่นออนไลน์”

เข้าสู่หน้าจอกองบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ E-FILING เลือก “ยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 ปี ภาษี 2564”

ระบบจะแสดงหน้าจอ Login ให้บันทึกหมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่านที่ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากร เลือก “ตกลง”จะเข้าสู่หน้าจอแบบแสดงรายละเอียดในส่วนของข้อมูลผู้มีเงินได้ ให้ตรวจสอบข้อมูลผู้มีเงินได้ที่ปรากฏว่าถูกต้องและเป็นปัจจุบันสามารถเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล และแก้ไขที่อยู่ได้

เลือก “ทำรายการต่อไป” ระบบจะแสดงหน้าจอข้อความแจ้งเตือนให้ตรวจสอบข้อมูล ชื่อ/ชื่อสกุล/ที่อยู่ ให้ถูกต้อง เนื่องจากหากเลือกทำรายการต่อไปแล้วจะไม่สามารถกลับมาหน้านี้ ได้อีก

เข้าสู่หน้าจอบันทึกข้อมูลการยื่นแบบ ซึ่งมี 6 หน้า ดังนี้

1. หน้าหลัก

2. เลือกเงินได้/ลดหย่อน

3. บันทึกเงินได้

4. บันทึกลดหย่อน

5. คำนวณภาษี

6. ยืนยันการยื่นแบบ

โดยจะต้องบันทึกข้อมูลเรียงตามลำดับแต่ละหน้าไปจนถึงหน้ายืนยันการยื่นแบบ แต่สามารถย้อนกลับเพื่อแก้ไขข้อมูลในหน้าจอที่ผ่านมาแล้วได้

1. หน้าหลักระบบจะแสดงข้อมูล ดังนี้

- ผู้มีเงินได้

- สถานภาพผู้มีเงินได้

- สถานะการยื่นแบบ

- คู่สมรส

- ข้อมูลการมีเงินได้และสถานะการยื่นแบบฯ ของคู่สมรส

2. เลือกเงินได้/ลดหย่อน ระบบจะแสดงข้อมูล ดังนี้

- เลือกรายการเงินได้พึงประเมิน

- เลือกเงินได้ที่ได้รับยกเว้น/ค่าลดหย่อน

3. บันทึกเงินได้

- ระบบจะแสดงข้อมูลประเภทเงินได้พึงประเมินตามที่เลือกไว้ในขั้นตอนที่ 2 ในกรณีที่ไม่เลือกก็จะไม่ปรากฏ สามารถย้อนกลับไป เพิ่ม/ลด ประเภทเงินได้ 

- บันทึกจำนวนเงินได้ในแต่ละประเภทเงินได้ที่เลือกไว้ โดยระบบจะคำนวณอัตราร้อยละที่ใช้หักค่าใช้จ่ายให้อัตโนมัติ แต่สามารถเปลี่ยนเป็นเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงได้

- บันทึกข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่าย (กรณีไม่มี ให้ใส่ 0.00) และบันทึกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้ (กรณีได้รับเงินได้จากผู้จ่ายหลายราย ให้บันทึกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้ที่จ่ายเงินได้จำนวนมากที่สุด)

4. บันทึกลดหย่อน

- ระบบจะแสดงข้อมูลรายการลดหย่อนและยกเว้นตามที่เลือกไว้ในขั้นตอนที่ 2 ในกรณีที่ไม่เลือกก็จะไม่ปรากฏ สามารถย้อนกลับไป เพิ่ม/ลด รายการลดหย่อนและยกเว้น

- สามารถบันทึกจำนวนเงินที่ได้รับการลดหย่อนและยกเว้นภาษีได้ไม่เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ถ้าบันทึกจำนวนเงินเกินเกณฑ์จะขึ้นข้อความแจ้งเตือน

5. คำนวณภาษี ระบบจะสรุปข้อมูลการคำนวณภาษี และเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสามารถบันทึกในส่วนการคำนวณภาษีได้ ดังนี้ (กรณีไม่มี ให้ใส่ 0.00)

- เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/การกีฬา/สถานพยาบาล/อื่นๆ

- เงินบริจาค

- ภาษีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ สามารถเลือกแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองได้ในกรณีที่คำนวณภาษีแล้วมีภาษีต้องชำระ โดยไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระนั้น ทั้งนี้ ไม่เกินห้าร้อยบาท

6. ยืนยันการยื่นแบบ

- ระบบจะแสดงหน้าแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 แล้วแต่กรณีให้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้บันทึกและจำนวนภาษีที่ชำระเพิ่มเติม หรือจำนวนภาษีที่ชำระไว้เกินกรณีไม่มีภาษีชำระเพิ่มเติมและภาษีที่ชำระไว้เกิน ระบบจะแสดงเป็น 0.00 บาท

- เลือก “ยืนยันการยื่นแบบ” จะสิ้นสุดการบันทึกแบบแสดงรายการภาษี

กรณีที่ผู้มีเงินได้มีภาษีชำระไว้เกิน

ในขั้นตอนที่ 5 คำนวณภาษี ระบบจะแสดงส่วนคำร้องขอคืนภาษี เพื่อให้แจ้งความประสงค์ ดังนี้

- มีความประสงค์จะขอคืนเงินภาษี

- ไม่มีความประสงค์จะขอคืนเงินภาษี

หากเลือก “มีความประสงค์จะขอคืนเงินภาษี” ระบบจะแสดงข้อความให้กรมสรรพากรแจ้งผลการคืนเงินภาษีผ่านระบบ SMS โดยให้ระบุเบอร์โทรศัพท์แล้วตกลงระบบจะขึ้นข้อความคำแนะนำเกี่ยวกับการคืนเงินภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ กดปิดและเลือกทำรายการต่อไป ระบบจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 6 ยืนยันการยื่นแบบ ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน เลือก “ยืนยันการยื่นแบบ” 

กรณีที่เป็นแบบขอคืนเงินภาษี และมีความประสงค์จะขอคืนเงินภาษี ระบบจะแสดงข้อความแจ้งเตือนให้เตรียมไฟล์เอกสารที่ต้องการนำส่งเอกสารประกอบการพิจารณาคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และช่องทางการนำส่งเอกสารภายหลัง 

หากเลือกนำส่งเอกสารขอคืนภาษี ระบบจะเชื่อมต่อไปยังระบบบริการข้อมูลเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (EDSS) โดยเลือก Upload เอกสารที่ต้องการนำส่ง เมื่อแนบเอกสารเสร็จเรียบร้อยแล้วให้เลือก “นำส่งเอกสารประกอบการพิจารณาคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”

สามารถเลือก “พิมพ์แบบ” ระบบจะแสดงแบบแสดงรายการ สามารถจัดเก็บเป็นไฟล์ PDF หรือพิมพ์ออกทางเครื่องพิมพ์ได้

กรณีที่ผู้มีเงินได้มีภาษีชำระเพิ่มเติม

ในขั้นตอนที่ 5 คำนวณภาษี หากภาษีที่ต้องชำระมีจำนวน 3,000 บาทขึ้นไป ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอแบ่งชำระภาษีเป็น 3 งวด งวดละเท่าๆ กัน โดยสามารถเลือกในส่วน “ประสงค์ หรือ ไม่ประสงค์”

หากเลือก “ประสงค์” ระบบจะแสดง “ข้อตกลงการขอชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นงวดผ่านระบบการยื่นแบบและชำระภาษีทางอินเทอร์เน็ต” (บ.ช.อ.35) 

โดยแสดงจำนวนเงินการขอแบ่งชำระภาษีของผู้มีเงินได้ ทั้ง 3 งวด พร้อมกับระบุ วัน/เดือน/ปี ที่สิ้นสุดการชำระแต่ละงวด

วิธีการการชำระภาษีงวดที่ 1 งวดที่ 2 และ งวดที่ 3

 - การชำระภาษีงวดที่ 1 ชำระภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือชำระผ่านช่องทางที่ระบุไว้ในชุดชำระเงิน(Pay In Slip) เท่านั้น ไม่สามารถชำระภาษีอากรที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาได้

- การชำระภาษีงวดที่ 2 หรือ 3 ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเข้าสู่ระบบ (Log in) ผ่อนชำระภาษีเป็นงวด (ภ.ง.ด.90/91) และดำเนินการตามขั้นตอนการชำระของช่องทางนั้นๆ

- ในกรณีที่ไม่ได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนด จะถือว่าผิดนัดชำระและหมดสิทธิแบ่งชำระภาษีเป็นงวด และต้องชำระภาษีที่ยังไม่ได้ชำระพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

ข้อควรระวัง : 

หากชำระภาษีผ่านบัตรเครดิตบนอินเทอร์เน็ต, ATM บนอินเทอร์เน็ต และ EPayment การชำระภาษีงวดที่ 2 หรือ 3 จะไม่หักบัญชีโดยอัตโนมัติต้องเข้าสู่ระบบ (Log in) เพื่อชำระภาษีงวดที่ 2 หรือ 3 ภายในกำหนดเวลาของแต่ละงวด 

หากผิดนัดชำระจะหมดสิทธิแบ่งชำระภาษีเป็นงวด และต้องชำระภาษีที่เหลืออยู่ให้ครบถ้วนทั้งจำนวนพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน

เลือก “ยอมรับ” ระบบจะแสดงจำนวนเงินการขอแบ่งชำระภาษีของผู้มีเงินได้ ทั้ง 3 งวด พร้อมกับระบุ วัน/เดือน/ปี ที่สิ้นสุดการชำระแต่ละงวด 

กรณีวันสุดท้ายของการชำระภาษีตรงกับวันหยุดราชการ ให้ชำระได้ในวันทำการถัดไป

ผู้มีเงินได้สามารถเลือกให้กรมสรรพากรแจ้งเตือนการแบ่งชำระภาษีงวดที่ 2 และ 3 ผ่านระบบ SMS โดยเลือก

- ประสงค์ให้แจ้งที่หมายเลขโทรศัพท์

- ไม่ประสงค์

เลือก “ทำรายการต่อไป” ระบบจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 6 ยืนยันการยื่นแบบ จะแสดงจำนวนเงินภาษีที่ชำระเพิ่มเติม และ จำนวนเงินภาษีที่ชำระพร้อมแบบ (งวดที่ 1) เลือก “ยืนยันการยื่นแบบ”  ระบบจะเข้าสู่ขั้นตอนยืนยันการชำระภาษี ช่วงเวลารับชำระภาษีขึ้นอยู่กับการให้บริการของแต่ละช่องทางของหน่วยรับชำระภาษี

กรมสรรพากรให้บริการช่องทางการชำระภาษี ได้แก่

1. ชำระแบบเชื่อมต่อเว็บไซต์ (ระบบชำระเงิน) ของธนาคารโดยตรงThai QR Payment (สแกนผ่าน Mobile Banking ทุกธนาคาร) E-Payment (ตัดเงินแบบ Online Real Time) ATM บนอินเทอร์เน็ต บัตรเครดิตบนอินเทอร์เน็ต

2. ชำระภาษีช่องทางอื่น เป็นการชำระภาษีด้วยชุดชำระเงิน(Pay-in Slip) แสดงข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ชำระภาษี ได้แก่ ชื่อ- ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน รหัสควบคุม จำนวนเงินภาษี มีช่องทางที่เปิดให้บริการ ดังนี้ ตู้ ATM ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ Internet Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ Counter Service (ต้องนำชุดชำระเงินไปชำระ)

- ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ

- 7-Eleven

- เทสโก้ โลตัส

- ที่ทำการไปรษณีย์

Tele Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ

Phone Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ

Mobile Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ

3. เลือกยังไม่ชำระภาษี (กรณีมีภาษีต้องชำระแต่ยังไม่เลือกช่องทางการชำระเงิน)

4. เลือกพิมพ์เมื่อต้องการพิมพ์แบบแสดงรายการ

5. พิมพ์แบบฯ และ ใบเสร็จรับเงิน ภ.ง.ด.90/91 ได้ทันทีกรณีที่ไม่มีภาษีชำระหรือขอคืนภาษี 

ส่วนกรณีมีภาษีชำระเพิ่มเติม พิมพ์แบบฯ และ ใบเสร็จรับเงิน ภ.ง.ด.90/91 ได้หลังจากได้ยื่นแบบฯ และชำระภาษีแล้ว 2 วันทำการ ที่หน้าเมนู พิมพ์แบบฯ-ใบเสร็จ ภ.ง.ด.(90/91)


เปิดวิธี ยื่นภาษี 2564 ออนไลน์ ด้วยตนเอง มีขั้นตอนอย่างไร-ยื่นได้ถึงเมื่อไหร่


ข้อมูลจาก กรมสรรพากร

ภาพจาก AFP / กรมสรรพากร



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง