TNN รัสเซียประกาศถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติ ไม่พอใจคว่ำบาตรกรณียูเครน

TNN

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

รัสเซียประกาศถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติ ไม่พอใจคว่ำบาตรกรณียูเครน

รัสเซียประกาศถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติ ไม่พอใจคว่ำบาตรกรณียูเครน

รัสเซียตัดสินใจแล้วว่าจะถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS อันเป็นผลมาจากมาตรการคว่ำบาตร

ดมิทรี โรโกซิน ผู้อำนวยการของรอสคอสมอส หรือองค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์รอสซิยา 24 ของรัสเซียว่า ได้มีการกำหนดกรอบเวลาของการถอนตัวออกจากไอเอสเอสแล้ว แต่ทางการรัสเซียยังไม่จำเป็นต้องประกาศต่อสาธารณะ แต่จะมีการแจ้งบรรดาพันธมิตรของไอเอสเอสหนึ่งปีล่วงหน้า


เขากล่าวว่า ขอบเขตของการทำกิจกรรมบนไอเอสเอสนั้นจะกำหนดโดยรัฐบาลและประธานาธิบดี โดยรอสคอสมอสจะมีเวลาในการทำหน้าที่บนไอเอสเอสไปจนถึงปี 2024 ซึ่งสิ่งที่เขาสามารถบอกได้ตอนนี้คือ จากข้อบังคับ รัสเซียจะต้องแจ้งเตือนประเทศพันธมิตรหนึ่งปีล่วงหน้าหากจะยุติการปฏิบัติหน้าที่บนไอเอสเอส


โรโกซินยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงเวลาที่เหลือนี้ รัสเซียจะเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งาน Russian Orbital Service Station หรือ รอสส์ ซึ่งเป็นสถานีอวกาศแห่งใหม่ของรัสเซีย และจะสามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ


◾◾◾

🔴 การเมืองลามสถานีอวกาศนานาชาติ


เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โรโกซินกล่าวโทษมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกว่า เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้รอสคอสมอสดำเนินการตามปกติได้เมื่อต้องทำงานร่วมกับสหรัฐฯและชาติตะวันตกอื่น ๆ บนไอเอสเอส


เขากล่าวว่า รัสเซียต้องยุติภารกิจบนไอเอสเอสตราบใดที่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแคนาดา ไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศของรัสเซีย


ทั้งนี้ รัสเซียควบคุมระบบควบคุมการเคลื่อน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสถานีอวกาศนานาชาติ โดยปกติแล้ว เมื่อไอเอสเอสอยู่ในวงโคจร แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงไอเอสเอสมายังชั้นบรรยากาศ


ดังนั้น ไอเอสเอสจึงต้องใช้โมดูลขับเคลื่อน พยุงให้ไอเอสไอสอยู่ในที่ที่ควรจะเป็น หากไม่มีการควบคุมนี้ของรัสเซีย ไอเอสเอสจะค่อย ๆ ตกไปสู่ชั้นบรรยากาศโลกและจะเผาไหม้ แม้นักบินอวกาศยังมีเวลาในการหนีออกมา และเดินทางกลับโลกได้ แต่หากไม่มีการควบคุม อาจมีชิ้นส่วนหนักจำนวนมาก ตกลงมาที่พื้นผิวโลกได้


◾◾◾

🔴 รัสเซียมีบทบาทสำคัญต่อ ISS


นอกจากนี้ ชาติต่าง ๆ ต้องใช้ยานโซยุซของรัสเซียในการนำนักบินอวกาศทั้งจากสหรัฐฯ ยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น และแขกคนอื่น ๆ ไปยังไอเอสเอส โดยโรโกซินเคยกล่าวว่า ไม่มีอะไรแทนที่ยานโซยุซได้ สหรัฐฯ ก็ไม่มียานเช่นนี้


นอกจากนี้ รัสเซียยังช่วยขับเคลื่อนสถานีไอเอสเอสไม่ให้ชนขยะบนอวกาศและรักษาระดับโคจรที่ถูกต้อง รัสเซียคือผู้อุทิศหลักให้กับไอเอสเอส ดังนั้นการที่ไม่มีรัสเซียในไอเอสเอส ไอเอสเอสก็จะไม่มีอยู่อีกต่อไป


อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองโลกในขณะนี้ ทำให้การทำงานร่วมมือกันบนไอเอสเอสนั้นไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป


◾◾◾

🔴 สถานีอวกาศเพื่อการทหาร?


โรโกซิน เคยกล่าวเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า บรรยากาศภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่เป็นปรปักษ์กัน อาจทำให้รัสเซียเปลี่ยนสถานีอวกาศให้ใช้ทางการทหารได้ และจะไม่มีนักบินอวกาศชาติอื่นบนรอสส์ ยกเว้นนักบินอวกาศรัสเซีย ซึ่งจะเป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์เป้าหมายบนสถานี


ทั้งนี้ ในตอนแรกของการก่อตั้งสถานีอวกาศนานาชาติร่วมกันระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ในช่วงปี 1990 ทั้งสองชาติมีความตั้งใจว่าจะไม่ให้การเมืองมีอิทธิพลต่อไอเอสเอส และความร่วมมือนี้เป็นการเฉลิมฉลองหลักของความร่วมมือระหว่างประเทศ หลังผ่านพ้นสงครามเย็นและการแข่งขันด้านอวกาศในหลายทศวรรษก่อนหน้านี้


นับตั้งแต่นั้นมา ไอเอสเอสได้นำนักบินอวกาศจากทั่วโลกขึ้นไปวิจัยซึ่งอาจทำให้มนุษย์เข้าสู่อวกาศได้มากขึ้น และในขณะนี้ ไอเอสเอสกลายเป็นความร่วมมือของ 15 ชาติแล้วและยังถือว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติด้วย


◾◾◾

🔴 สหรัฐฯ ไม่ต้องพึ่งรัสเซียแล้ว


อย่างไรก็ตาม เวนดี้ วิตแมน คอบบ์ นักวิชาการที่วิทยาลัยศึกษาอวกาศของกองทัพอากาศสหรัฐฯ กล่าวว่า ในระยะหลังไอเอสเอสเริ่มกลายเป็นหมากในการต่อรองระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียมากขึ้น ข่าวดีก็คือ สหรัฐฯไม่ต้องพึ่งพายานโซยุซของรัสเซียในการขนส่งไปยังไอเอสเอสแล้ว เพราะสหรัฐฯ หันมาใช้ยานของสเปซ เอ็กซ์ในการนำนักบินอวกาศนาซาไปยังไอเอสเอสแทน ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา


ส่วนข่าวร้ายก็คือ รัสเซียดูเหมือนจะสนใจในไอเอสเอสน้อยลง และยังขู่ที่จะถอนตัวออกจากไอเอสเอส จากการที่สหรัฐฯคว่ำบาตรรัสเซีย


สถานการณ์ยังแย่ลงในเดือนมีนาคม หลังรอสคอสมอสประกาศว่าจะไม่วิจัยทางวิทยาศาสตร์บนไอเอสเอสร่วมกับเยอรมนีอีกต่อไป และจะหยุดขายเครื่องยนต์จรวดให้กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่นาซาต้องใช้


◾◾◾

🔴 พัฒนาเทคโนโลยีแทนที่รัสเซียไม่ทัน


นามราตา กอสวามี นักวิจัยนโยบายอวกาศ กล่าวช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ว่า ดูเหมือนรัสเซียจะถอนตัวออกจากไอเอสเอสก่อนปี 2025 และหากรัสเซียยุติภารกิจกับไอเอสเอสก่อนหน้านั้นไปอีกเพราะวิกฤตยูเครน ยากที่ไอเอสเอสจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้องใช้แทนที่ของรัสเซียได้ทัน


ทั้งนี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา วางแผนจะใช้งานไอเอสเอสไปจนถึงปี 2030 อยู่แล้ว โดยหลังจากนั้นจะปลดประจำการ และไอเอสเอสจะค่อย ๆ ตกลงไปในพื้นที่ห่างไกลของมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อเปิดทางเคลียร์พื้นที่สำหรับสถานีอวกาศใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้นมา รวมถึงสถานีอวกาศเทียนกงของจีน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในสิ้นปี 2022 ในขณะที่สหรัฐฯยังให้เงินสนับสนุนการสร้างสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ใหม่ๆหลายรายด้วย ส่วนรัสเซียและอินเดียก็มีแผนสร้างสถานีอวกาศของตนเองด้วย


ในตอนนี้ นาซายืนยันว่า ทุกอย่างจะปกติดี และพยายามโพสต์การอัพเดทต่างๆของการทำงานปกติบนไอเอสเอส ในขณะที่เบื้องหลังนั้นสหรัฐฯกำลังเร่งหาทางออกว่าไอเอสไอสที่ไม่มีรัสเซียจะเป็นอย่างไร โดยขณะที่มีบริษัท


Northrop Grumman ที่อาสาสร้างระบบขับเคลื่อนมาแทนที่ของรัสเซีย ส่วนอีลอน มัสค์ จากสเปซ เอ็กซ์ก็เสนอตัวเข้ามาช่วยเช่นกัน ซึ่งอาจพอจะช่วยให้ไอเอสเอสปฏิบัติภารกิจไม่ได้อีกไม่กี่ปี

—————

ติดตามสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียอย่างใกล้ชิด

https://bit.ly/TNNRussiaInvasion

—————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: Reuters



ข่าวที่เกี่ยวข้อง